เวียดนามเน็ต – ผู้ผลิตชาวเวียดนามต่างจับตามองประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา ในฐานะตลาดที่มีศักยภาพในการค้าด้านเสื้อผ้าสิ่งทอ หลังจากรายได้เฉลี่ยของชาวกัมพูชาเพิ่มสูงขึ้น
บริษัทสิ่งทอเหวียดเตี๊ยน (Viet Tien Garment) ได้เปิดร้านขายสินค้าจากโรงงาน หรือ เอ้าต์เล็ต ในกรุงพนมเปญเมื่อวันที่ 26 ต.ค. ที่ผ่านมา โดยนายฟานวันเกี๊ยต (Phan Van Kiet) รองผู้อำนวยการใหญ่บริษัทมองว่า ความต้องการบริโภคสินค้าที่มีคุณภาพกำลังเพิ่มขึ้น
บริษัทนี้ได้วางแผนที่จะส่งสินค้าประเภทเสื้อผ้าหลากหลายคุณภาพเข้าจำหน่ายในกัมพูชา ทั้งสินค้าราคาถูก สินค้าคุณภาพระดับปานกลาง และ สินค้าราคาสูง หลากหลายยี่ห้ออออกวางจำหน่ายในร้านที่เปิดใหม่
ส่วนบริษัทเหวียดแฟชั่น (Viet Fashion) ที่เคยเปิดร้านในกัมพูชาไปเมื่อ 2 ปีก่อนแต่ได้ปิดตัวลงเมื่อต้นปีนี้เนื่องจากปัญหาการจัดการ ได้ตัดสินใจจะเปิดร้านอีกครั้ง เพื่อร่วมแบ่งส่วนทางการตลาดประเภทเสื้อผ้าเช่นกัน โดยนายเหวียนหือว์ฟุง (Nguyen Huu Phung) ประธานบริษัทกล่าวว่า จะเปิดกิจการครั้งช่วงต้นปี 2553
นายเย็น สุวรรณี (Yen Sovanny) ผู้อำนวยการใหญ่บริษัทแคมโบเดียกะชาทอป (Cambodian Caja Top) กล่าวว่า สินค้าที่ผลิตจากเวียดนามกำลังเป็นที่ชื่นชอบในหมู่ชาวเขมร โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าที่มีตราสัญลักษณ์ "V" ที่หมายถึงสินค้าคุณภาพสูงจากเวียดนาม ที่ได้ความสนใจและขายดีที่สุด มีราคาระหว่าง 10-20 ดอลลาร์
ขณะนี้นายสุวรรณีเป็นตัวแทนจำหน่ายให้บริษัทเหวียดเตี๊ยน ซึ่งตั้งใจจะขยายเครือข่ายการจำหน่ายไปในจังหวัดอื่นๆ ของกัมพูชาภายในสิ้นปี 2552 นี้ ทั้งที่ จ.เสียมราฐ พระตะบอง และสีหนุวิลล์
ปัจจุบันเสื้อผ้าที่ผลิตจากเวียดนามได้วางขายอยู่ในตลาดของกัมพูชาแล้ว ตั้งแต่พื้นที่ชายแดนไปจนถึงตลาดขนาดใหญ่ ทั้งใน จ.สวายเรียง กันดาล และที่ตลาดโอลิมปิกซึ่งเป็นตลาดค้าเสื้อผ้าที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ในกรุงพนมเปญ
พ่อค้าแม่ค้าในตลาดกล่าวว่า ซื้อเสื้อผ้าไปจากชาวเวียดนาม นำไปขายที่นั่นอีกทอด
ศูนย์ส่งเสริมการลงทุนและการค้านครโฮจิมินห์ (ITPC) ระบุว่า ชาวกัมพูชากว่า 14.5 ล้านคนมีรายได้เฉลี่ย 2,000 ดอลลาร์ต่อปี ในขณะที่การจับจ่ายซื้อสินค้าในตลาดกัมพูชามีมูลค่าประมาณ 27,940 ล้านดอลลาร์ต่อปี
“นายลิม” ชาวเวียดนามที่อาศัยอยู่ในกัมพูชาตั้งแต่ปี 2536 กล่าวว่ามาตรฐานความเป็นอยู่ของชาวเขมรพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ในขณะเดียวกันร้านจำหน่ายสินค้าคุณภาพสูงยังมีน้อย ชาวเขมรที่มีรายได้สูงนิยมเดินทางไปนครโฮจิมินห์ กรุงเทพฯ สิงคโปร์ หรือมาเลเซีย เพื่อซื้อหาสินค้าราคาแพง.