เอเอฟพี/ASTVผู้จัดการรายวัน-- รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ฮิลลารี คลินตัน ประกาศ ระหว่างปราศรัยต่อที่ประชุมใหญ่สหประชาชาติในนครนิวยอร์ก วันพุธ (23 ก.ย.) ที่ผ่านมา เกี่ยวกับ "แนวทางใหม่" ต่อพม่า ซึ่งสหรัฐฯ จะดำเนินการด้านการทูตโดยตรงกับประเทศนี้ โดยพูดคุยมากขึ้น แต่ก็จะยังไม่ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่อรัฐบาลทหาร
"เราเชื่อว่าการคว่ำบาตรยังเป็นส่วนที่สำคัญในนโยบายของเรา แต่ด้วยตัวของมันเองนั้น (การคว่ำบาตร) มันไม่ได้ส่งผลลัพธ์อันเป็นที่คาดหวังที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนพม่า" นางคลินตันให้สัมภาษณ์ในเวลาต่อมา และยังยืนว่าเป้าหมายของสหรัฐฯ ยังเป็นเรื่องเดิมคือให้มีการปฏิรูปประชาธิปไตยในพม่า
นักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญกิจการพม่าหลายคนในย่านเอเชียต่างแสดงความสงสัยต่อนโยบายของสหรัฐฯ ว่า จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในประเทศนั้นได้อย่างไร
ทั้งสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปได้ใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อรัฐบาลทหารพม่า หลังจากไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งปี 2533 ตลอดจนการกักบริเวณนางอองซานซูจี ผู้นำฝ่ายค้านเป็นเวลายาวนานประมาณ 13 ปีในช่วง 19 ปีที่ผ่านมา
"ตั้งแต่นี้ต่อไปเราจะใช้เครื่องมือทั้งสองอย่างนี้ เพื่อให้บรรลุจุดประสงค์ดั้งเดิม และเพื่อให้มีการปฏิรูปประชาธิปไตย เราจะมีปฏิสัมพันธ์โดยตรงกับทางการพม่า" รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าว
นโยบายของรัฐบาลประธานาธิบดีบารัก โอบามา แตกต่างไปจากของอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช ที่ใช้การเผชิญหน้ากับระบอบทหารในพม่าเป็นหลัก
นางคลินตันได้กล่าวถึงการเลือกตั้งที่จะจัดขึ้นในปีหน้าว่า เป็นเพียงการหลอกลวงเพื่อหวังจะให้คณะปกครองทหารอยู่ในอำนาจต่อไปเท่านั้น และ "เป้าหมายพื้นฐาน" ของสหรัฐฯ ในนโยบายต่อพม่านั้นไม่เปลี่ยนแปลง
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีของไทยกล่าวที่สหประชาชาติว่า ตนเองรู้สึกว่าสหภาพยุโรปกับสหรัฐฯ กำลังเปลี่ยนแปลงนโยบายต่อพม่า
แต่นางคลินตันกล่าวว่า สหรัฐฯอยากจะเห็นการเลือกตั้งที่ได้รับความเชื่อถือ อยากเห็นรัฐบาลที่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน และ การปล่อยนักโทษการเมืองรวมทั้งนางอองซานซูจีในทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข
อย่างไรก็ตามนายบันคีมูน เลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติกล่าวต่อที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของหลายประเทศว่า ปี 2553 จะเป็นปีที่ "มีความหมายยิ่งยวด" สำหรับพม่า
ผู้นำสหประชาชาติได้สะท้อนให้เห็นความเรียกร้องต้องการของประชาคมระหว่างประเทศ ที่อยากจะเห็นการปฏิรูปประชาธิปไตยที่เป็นรูปธรรมในประเทศนี้
นายบันได้เดินทางไปพม่าต้นเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ได้พบหารือกับบรรดาผู้นำระดับสูงรวมทั้ง พลเอกอาวุโสตานฉ่วย แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้พบนางซูจี
ช่วงไม่นานมานี้สหรัฐฯ ได้แสดงท่าที่ผ่อนปรนต่อทางการพม่ามากขึ้น รวมทั้งในสัปดาห์นี้ได้อนุญาตให้ พล.จ.เนียนวิน รัฐมนตรีต่างประเทศ ที่ไปร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติในนครนิวยอร์ก สามารถเดินทางไปยังสถานทูตพม่าในกรุงวอชิงตันดีซีได้ เป็นครั้งแรก
และเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปีเช่นกัน ที่นายกรัฐมนตรีพม่า จะมีโอกาสเดินทางเข้าสหรัฐฯ เพื่อร่วมประชุมใหญ่ประจำปีขององค์การสหประชาชาติ.