ASTVผู้จัดการรายวัน -- รัฐบาลลาวได้เปิดใช้เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำเซเสด 2 อย่างเป็นทางการในวันพุธ (9 ก.ย.) หลังการก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์ในเดือน ส.ค.เป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าหนึ่งในสองแห่งที่มีกำหนดเปิดใช้ในปีนี้ เพื่อผลิตไฟเข้าสู่ระบบจำหน่ายให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตของไทย
ตามรายงานของสื่อทางการลาว นายบัวสอน บุปผาวัน นายกรัฐมนตรีลาวได้ ได้เป็นประธานในพิธีเปิด ณ ที่ตั้งเขื่อนในเขตเมือง (อำเภอ) เหล่างาม แขวงสาละวัน ในภาคใต้ของประเทศ เข้าร่วมพิธียังประกอบด้วย นายสุลิวง ดาลาวง รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ นายคำปุ่น ด้วงปันยา เจ้าแขวงสาละวัน ผู้แทนจากสถานทูตจีน และเจ้าหน้าที่รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว และจากบริษัทก่อสร้าง รวมทั้งเจ้าหน้าที่อื่นๆ เข้าร่วมจำนวนมาก
เขื่อนเซเสด 2 มูลค่า 135.5 ล้านดอลลาร์ เริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่เดือน ส.ค.2548 จากการลงทุนทั้งหมดโดยวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (Electricite Du Laos) ในนั้น 80% คือ 108.4 ล้านดอลลาร์ เป็นเงินกู้จากธนาคารนำส่งออกและนำเข้าจีน ส่วนที่เหลือ 20% หรือ 27.1 ล้านดอลลาร์ เป็นเงินทุนสมทบของ EDL โดยบริษัทอุตสาหกรรมภาคเหนือ หรือ NORINCO จากจีนเป็นผู้สร้าง
เขื่อนเซดเสด 2 สร้างขึ้นกั้นตอนบนของลำน้ำเซเสด อยู่เหนือเขื่อนเซเสด 1 เป็นแบบฝายน้ำล้น สูง 24 เมตร ยาว 594 เมตร ทำให้เกิดอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนเป็นพื้นที่ 392 ตารางกิโลเมตร กำลังปั่นไฟ 76 เมกะวัตต์ ก่อสร้างพร้อมระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูงขนาด 115 กิโลโวลต์ สนองไฟฟ้าให้แก่ 4 แขวงภาคใต้คือ สาละวัน จำปาสัก เซกอง และ อัตตะปือ มีส่วนร่วมสำคัญในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในประเทศ ทั้งนี้เป็นรายงาของสำนักข่าวสารปะเทดลาว
ไฟฟ้าจากเขื่อนเซเสด 2 รวมอยู่ในไฟฟ้า 5,000 เมกะวัตต์แรกที่มีการเซ็นสัญญาซื้อขายให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตของไทยเมื่อหลายปีก่อน
โรงไฟฟ้าของเขื่อนแห่งนี้ผลิตไฟฟ้าได้ 309 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี ไม่เพียงแต่จะสร้างรายได้ให้แก่รัฐมากขึ้นเท่านั้น หากยังช่วยลดผ่อนการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ (ไทย) ได้มากอีกด้วย ขปล.กล่าว
เซเสด 2 เป็นแห่งแรก เขื่อนน้ำเทิน 2 ในแขวงคำม่วน ซึ่งอยู่ถัดขึ้นในในภาคกลาง ซึ่งในปัจจุบันเป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าใหญ่ที่สุดในลาว มีกำหนดเปิดใช้อย่างเป็นทางการในเดือน ธ.ค.ศกนี้ และยังมีอีกอย่างน้อย 2 แห่ง มีกำหนดเปิดใช้ในปี 2553 อีกอย่างน้อย 1 แห่งมีกำหนดปั่นไฟในปี 2554 หลายแห่งมีกำหนดก่อสร้างในช่วงเดียวกันนี้ ทั้งหมดเป็นไปตามแผนการพัฒนาให้ประเทศนี้เป็นเสมือนแบตเตอรี่แห่งเอเชียในอีก 5-6 ปีข้างหน้า
รายได้จากการจำหน่ายกระแสไฟฟ้ามีส่วนสำคัญที่จะทำให้ลาวพ้นจากสภาพประเทศยากจนที่สุดในโลก สื่อของทางการกล่าว
ปลายเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ได้มีการทดลองเดินเครื่องปั่นไฟหนึ่งหน่วยของเขื่อนน้ำเทิน 2 ส่งกระแสไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตของไทยเป็นครั้ง และ เดือน ส.ค.ที่ผ่านมานี้ก็มีการทดลองเดินเครื่องปั่นไฟเข้าสู่ระบบสำหรับรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาวอีกทางหนึ่ง และประสบความสำเร็จ สื่อของทางการกล่าว
น้ำเทิน 2 มีกำลังผลิต 1,070 เมกะวัตต์ มูลค่าก่อสร้าง 1,200 ล้านดอลลาร์ เป็นโครงการที่ภาคเอกชนของสามประเทศร่วมกันถือหุ้นใหญ่ และ เป็นโครงการขนาดใหญ่ของภาคเอกชนแห่งแรกที่ได้รับการค้ำประกันเงินกู้จากธนาคารโลก ในช่วงหลังวิกฤตการณ์การเงินโลกปี 2540.