ผู้จัดการ360องศารายสัปดาห์-- ทางการลาวเริ่มหันมาสนับสนุนการลงทุนสร้างเขื่อนไฟฟ้าขนาดเล็กลง หลังจากโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ผ่านเข้าสู่มือของกลุ่มทุนใหญ่ไปจนเกือบจะหมด ในแผนการทำให้ลาวเป็นแบตเตอรีแห่งเอเชียภายในปี 2563 พร้อมๆ กับตั้งเป้ากำจัดความยากจนให้หมดจากประเทศในอีก 5 ปีข้างหน้า
ปี 2552 จึงเป็นปีแห่งเขื่อนขนาดเล็กขนาดกลาง ซึ่งได้รับความสนใจจากนักลงทุนจีน ไทย นักลงทุนลาวเอง รวมทั้งจากรัสเซีย และในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ มีการเซ็นบันทึกเพื่อสำรวจและศึกษาโครงการก่อสร้างเขื่อนขนาดต่างๆ อีกนับสิบโครงการ
กรณีล่าสุด ต้นเดือน ส.ค.กลุ่มซิโนไฮโดรคอร์ป (Sinohydro Corporation) ได้เซ็นสัญญากับรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (Electricite du Laos) เพื่อสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้า 2 เขื่อนในแขวงหลวงพระบาง คือ โครงการน้ำคำ 2 (130 เมกะวัตต์) และ 3 (47 เมกะวัตต์) พร้อมสร้างระบบสายส่งไฟฟ้าที่จะต้องใช้เงินทุนรวมประมาณ 559 ล้านดอลลาร์ อาจจะเป็นโครงการผลิตไฟฟ้าที่มีมูลค่าการลงทุนสูงที่สุดในปีนี้
สถานการณ์เปลี่ยนไปจากปีที่แล้วอย่างมาก ก่อนหน้านี้นักลงทุนจะให้ความสนใจก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่มากเป็นพิเศษ ซึ่งรวมทั้งเขื่อนกั้นลำน้ำโขงในลาวกับช่วงที่เป็นพรมแดนธรรมชาติระหว่างลาวกับไทย รวม 8 แห่ง ทางการลาวได้เซ็นบันทึกสำรวจศึกษาผลกระทบต่างๆ กับกลุ่มทุนไทย จีนและเวียดนาม ไปจนหมดแล้ว
ลาวอุดมไปด้วยต้นน้ำลำธาร มีศักยภาพที่จะผลิตไฟฟ้าได้ 26,000-30,000 เมกะวัตต์ ตัวเลขของทางการระบุว่า ปัจจุบันเพิ่งทำได้เพียงประมาณ 5% ของขีดความสามารถที่มีอยู่เท่านั้น
ในระยะ 10-20 ปีข้างหน้านี้ลาวจะต้องผลิตไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตของไทยราว 7,000 เมกะวัตต์ หรือมากกว่านั้น ส่งให้แก่เวียดนามอีก 5,000 เมกะวัตต์ จำหน่ายให้แก่จีนอีกเท่าๆ กัน กัมพูชาก็ได้เซ็นบันทึกแสดงเจตนาขอซื้อไฟฟ้าจากลาวไปแล้วราว 1,000 เมกะวัตต์
ไม่เพียงแต่ผลิตไฟฟ้าเพื่อส่งออกเท่านั้น ประชาชนลาวเองก็ยังต้องการไฟฟ้า สื่อของทางการกล่าวว่ารัฐบาลมีเป้าหมายจะให้ 60% ของประชากร 5.8 ล้านคนมีไฟฟ้าใช้ภายในสิ้นปี 2552 นี้ จำนวนจะเพิ่มขึ้นเป็น 70% ในปี 2553 และ 90% ในอีก 10 ปีถัดไป
ลาวผลิตไฟฟ้าได้มหาศาลส่งจำหน่ายให้แก่ไทย แต่ในขณะเดียวกันก็ยังต้องซื้อไฟฟ้าส่วนหนึ่งจากประเทศไทย เนื่องจากติดขัดเรื่องงบประมาณสร้างข่ายสายส่งแรงสูง
เพราะฉะนั้นการลงทุนสร้างเขื่อนขนาดเล็กขนาดกลางตั้งแต่ 10-100 เมกะวัตต์ ในท้องถิ่นต่างๆ ที่มีศักยภาพ จะช่วยให้สามารถบรรลุเป้าหมายได้ ทางการลาวประกาศแผนส่งเสริมการลงทุนเรื่องนี้ในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา
ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ไชน่าเดลี โครงการลงทุนล่าสุดของซิโนไฮโดรคอร์ป ยังรวมทั้งการสร้างข่ายสายส่งขนาด 230 กิโลโวลต์ จากเมืองหลวงพระบางไปเชื่อมต่อเข้ากับข่ายสายส่งในแขวงเชียงขวาง ภายในปี 2563 ซึ่งจะต้องลงทุนเกือบ 130 ล้านดอลลาร์
ก่อนหน้านั้นในปลายเดือน ก.ค.บริษัทโนรินโคอินเตอร์เนชั่นแนลโคโอเปอเรชั่น (NORINCO International Cooperation Ltd) ซึ่งเป็นกลุ่มทุนอุตสาหกรรมจากภาคเหนือของจีน ได้เซ็นบันทึกกับทางการลาวเพื่อศึกษาโครงการเขื่อนน้ำผาย ที่คาดว่าจะมีกำลังปั่นไฟ 70-90 เมกะวัตต์ และเงินทุนประมาณ 100 ล้านดอลลาร์
โนรินโคเป็นเจ้าของโครงการเขื่อนเซเสด 2 ในแขวงสาละวัน ซึ่งมีกำหนดการจะแล้วเสร็จภายในเดือน ส.ค.นี้
ในเดือน ก.ค.เช่นเดียวกัน บริษัทนวรัตน์พัฒนาการจำกัด ซึ่งสื่อของทางการลาวกล่าวว่าเป็นของ "ครอบครัวกรรณสูต" จากประเทศไทย ได้เซ็นบันทึกกับ EDL เพื่อศึกษาโครงการสร้างเขื่อนน้ำสะนาขนาด 15 เมกะวัตต์ในแขวงเวียงจันทน์
ไฟฟ้าที่ผลิตได้ทั้งหมดจะจำหน่ายให้แก่ฝ่ายลาว เพื่อใช้ในเขตเมืองกาสี แขวงเวียงจันทน์ และเมืองภูคูนกับเมืองแมด ในแขวงเซียงขวาง
สื่อของลาวกล่าวว่า อุตสาหกรรมเหมืองแร่ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วและกว้างขวางในช่วงไม่กี่ปีมานี้ กำลังต้องการไฟฟ้าเป็นอย่างสูงเช่นเดียวกัน โครงการเขื่อนไฟฟ้าขนาดเล็กขนาดกลาง จะสนองในเรื่องนี้ได้
การสร้างเขื่อนขนาดเล็กยังได้รับความสนใจจากกลุ่มทุนภายในประเทศอีกด้วย
ในต้นเดือน พ.ค. เอสวีกรู๊ป (SV Group) ของนักลงทุนชาวลาว ได้เซ็นบันทึก เพื่อสำรวจโครงการเขื่อนห้วยจำปีขนาด 4 เมกะวัตต์ ในเขตเมืองบาเจียงละเลินสุก แขวงจำปาสัก ด้วยเงินทุนประมาณ 10 ล้านดอลลาร์ ไฟฟ้าที่ผลิตได้ทั้งหมดจะจำหน่ายให้แก่ EDL ด้วยสัญญาสัมปทาน 30 ปี
ปีนี้ยังเป็นปีของนักลงทุนจากรัสเซีย ซึ่งเมื่อต้นปีกลุ่มรีเจียนออยล์ ได้เซ็นบันทึกสำรวจโครงการเขื่อนขนาดกลาง 1 แห่ง ขนาดเล็กอีก 1 แห่งในภาคใต้ของลาว และ ก่อนหน้านั้นบริษัทรัสเซียได้ศึกษาโครงการเขื่อนขนาดใหญ่จำนวน 3 แห่งจนแล้วเสร็จ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างและเตรียมการก่อสร้าง
ลาวมีศักยภาพที่จะสร้างเขื่อนใหญ่น้อยระหว่าง 70-100 แห่ง การศึกษาได้พบว่าหากทำได้เพียงครึ่งเดียวก็จะทำให้ประเทศมีรายได้จากการจำหน่ายไฟปีละ 4,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจะทำให้รายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากรต่อปีเพิ่มขึ้นเป็น 840 ดอลลาร์ในทันที โดยยังไม่ได้นับรวมรายได้ส่วนอื่น
ในเดือน ธ.ค.นี้เขื่อนน้ำเทิน 2 ขนาด 1,090 เมกะวัตต์ จะส่งไฟฟ้าให้แก่ กฟผ.ของไทยอย่างเป็นทางการ หลังจากในเดือน มิ.ย.ได้ทดลองปั่นไฟเข้าสู่ระบบอย่างสำเร็จผล และสัปดาห์ต้นเดือน ส.ค.นี้ น้ำเทิน 2 ได้ทดลองปั่นไฟอีกส่วนหนึ่งให้แก่ EDL ซึ่งก็ประสบความสำเร็จเช่นเดียวกัน
ลำพังเขื่อนใหญ่นี้เพียงแห่งเดียว กำลังจะทำให้ลาวมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกราว 2,000 ล้านดอลลาร์ตลอดอายุสัมปทานที่เหลืออยู่อีก 25 ปีข้างหน้า.