ผู้จัดการ360องศารายสัปดาห์-- การซื้อเครื่องบินนับร้อยลำเป็นเรื่องไม่ง่าย เพราะจะต้องใช้เงินมหาศาล นอกจากนั้นการหาสถาบันเพื่อกู้หลายพันล้านดอลลาร์ในยามที่เศรษฐกิจโลกทรุดหนักล้วนเป็นเรื่องยาก แต่เวียดนามกำลังพบว่า บางทีการหา "คนขับ" อาจเป็นเรื่องยากยิ่งกว่าซื้อเครื่องบินหลายเท่า
ตั้งแต่เดือน ส.ค.เป็นต้นมาเวียดนามแอร์ไลน์ส ได้เริ่มประกาศรับสมัครงานไปทั่วโลก ในนั้นมีทั้งนักบิน ผู้ช่วยฯ “ต้นหน” และ ลูกเรือแผนกอื่นๆ
สายการบินแห่งชาติเวียดนามกำลังใช้วิกฤติเป็นโอกาส ในยามที่นักบินและบุคคลากรด้านนี้จำนวนไม่น้อยว่างงานลง หลังจากสายการบินหลายแห่งทั่วโลกลดเที่ยวบินและลดพนักงาน แต่ก็ยังมีคำถามเช่นกันว่า เวียดนามจะได้คนที่ต้องการทันใช้งานหรือไม่ ขณะที่เวลาส่งมอบเครื่องบินรุ่นต่างๆ ที่สั่งซื้อไปในช่วง 2-3 ปีมานี้กำลังงวดเข้ามาทุกที
สายการบินเวียดนามลงประกาศในเว็บไซต์ Flitejobs.com ซึ่งเป็นรู้จักกันดีในอุตสาหกรรมนี้ โฆษณาชิ้นงานเดียวกันนี้ยังไปปรากฏทางเว็บไซต์อีกหลายแห่ง รวมทั้ง Fllightglobal.com ที่รู้จักกันดีอีกแห่งหนึ่งในแวดวง
เวียดนามแอร์ไลนส์กำลังรับสมัครงานตำแหน่งเจ้าที่ระดับหัวหน้างาน บนเครื่องบินแอร์บัส A330 ซึ่งในปัจจุบันมีใช้ในฝูงเพียง 4 ลำ อีกจำนวนหนึ่งสำหรับโบอิ้ง 777-200ER ขณะที่สายการบินนี้เพิ่มเที่ยวบินไปญี่ปุ่นกับปลายทางในยุโรปอีกจำนวนหนึ่ง
ทั้งมดนี้เกิดขึ้นในช่วงที่สายการบินต่างๆ กำลังฝ่ามรสุม หลายแห่งเสี่ยงต่อการอยู่หรือไป
อย่างไรก็ตามโฆษณาแจ้งความที่น่าสนใจที่สุดในขณะนี้ก็คือ การประกาศรับสมัครนักบินสำหรับ ATR72-500 ที่สั่งซื้อใหม่เมื่อเร็วๆ นี้ด้วย การส่งมอบซึ่งที่เลื่อนมาจากต้นปี กำลังจะเริ่มตั้งแต่ปลายปีนี้ไปจนถึงกลางปีหน้า การควานหานักบินมีผลยาวไปจนถึงเดือน พ.ค.2556
เครื่องบิน ATR-72-500 ที่ผลิตโดยบริษัทร่วมทุนฝรั่งเศส-อิตาลี เป็นอีกแบบหนึ่งที่สายการบินทั่วโลกนิยมใช้บินระยะสั้น-ระยะปานกลาง เนื่องจากขนาดที่เล็กกว่าโบอิ้ง 737 หรือ แอร์บัส A321 น้ำหนักเบากว่า จึงมีความคล่องตัวสูง ใช้ทางวิ่งขึ้นลงสั้นกว่า ใช้เครื่องยนต์กึ่งไอพ่นกึ่งใบพัด (Turboprop) ประหยัดเชื้อเพลิงได้ดีกว่า
ปัจจุบันจึงมีนักบินที่มีประสบการณ์กับเครื่องบินรุ่นนี้ ทำงานกับสายการบินต่างๆ ทั่วโลกจำนวนหลายร้อยคน นั่นคือกำลังจะเกิดการช่วงชิงบุคคลากรกันอย่างหนักในปีข้างหน้า
สายการบินแห่งชาติเวียดนามกำหนดคุณสมบัติของนักบินที่ต้องการเอาไว้สูง คือต้องมีประสบการณ์การบินไม่ต่ำกว่า 3,000 ชั่วโมง ในนั้นอย่างน้อย 500 ชั่วโมงในการบิน ATR72 โดยเฉพาะ
แม้จะไม่ได้เสนอค่าตอบแทนบนเว็บ แต่ก็เสนอเงื่อนไขการทำงาน 6 สัปดาห์และหยุดพัก 2 สัปดาห์ อันเป็นมาตรฐานปฏิบัติของสายการบินชั้นนำทั่วโลก
ในสัปดาห์ต้นเดือน ธ.ค. 2550 ก่อนเซ็นสัญญาซื้อแอร์บัสลอตใหญ่ไม่กี่วัน สายการบินเวียดนามได้เซ็นสัญญากับบริษัท Avion de Transport Regional ซื้อ ATR72-500 ลอตแรกจำนวน 5 ลำ ต่อมาในเดือน ม.ค.2551 หรือชั่วเวลาข้ามเดือน ขณะที่การท่องเที่ยวทั่วโลกเริ่มมีสัญญาณลบชัดเจน ก็ได้เซ็นซื้ออีก 6 ลำ รวมเป็น 11
เวียดนามเพิ่งจะเซ็นซื้อ ATR72-500 อีก 2 ลำระหว่างงาน แสดงอากาศยานในกรุงปารีส หรือ ปารีสแอร์โชว์ 2009 ในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ทำให้จำนวนสั่งซื้อใหม่เพิ่มขึ้นเป็นทั้งหมด 13 ลำ
หากคิดจากฐานตัวเลขต่ำสุด สมมุตว่ากำลังจะมีการใช้ ATR72-500 ฝูงใหม่บินอย่างกระเม็ดกระแหม่ที่สุด เวียดนามแอร์ไลน์สก็จะต้องมีนักบินกับลูกเรืออย่างน้อย 2 ชุดต่อ 1 ลำ นั่นคือ จะต้องมีนักบินอย่างน้อย 26 คน และ นักบินผู้ช่วยอีกจำนวนเท่าๆ กัน รวมเป็น 52 คน ไม่น้อยไปกว่านี้
ในทางปฏิบัติทุกสายการบินจะต้องมีนักบินสำรองอีกจำนวนหนึ่ง
สัปดาห์ปลายเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา เวียดนามแอร์ไลน์สได้เซ็นสัญญากับบริษัทผู้ผลิต เพื่อขายคืนเครื่องบิน ATR72-200 จำนวน 7 ลำที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2535 ทั้งหมดจะถูกแทนที่ด้วย ATR ที่สั่งซื้อใหม่ตั้งแต่ปลายปีนี้เป็นต้นไป จนครบทุกลำในสิ้นปี 2553
ตามรายงานของสื่อทางการก่อนหน้านี้ ในปัจจุบันเวียดนามแอร์ไลน์สยังมีเครื่องบิน ATR72-500 รุ่นเก่าอยู่อีก 3 ลำ เมื่อได้รับฝูงที่ซื้อใหม่ครบจำนวน ก็จะทำให้ทั้งฝูงมีจำนวน 16 ลำ การหานักบินจึงต้องเตรียมตั้งแต่บัดนี้
แต่ปัญหาไม่ได้จบอยู่แค่ ATR72-500
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้เวียดนามแอร์ไลน์สได้เซ็นสัญญาซื้อเครื่องบินอื่นๆ อีกจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งแอร์บัส A321 ที่สั่งซื้อ 10 ลำในเดือน ธ.ค.2550 กับอีก 16 ลำในงานปารีสแอร์โชว์ปีนี้ รวมเป็นทั้งหมด 26 ลำ เป็นอันว่าจะต้องเตรียมหานักบินสำหรับเครื่องบินรุ่นนี้อีกไม่น้อยกว่า 52 คน นักบินผู้ช่วยอีกเท่าๆ กัน
แต่การท้าทายที่ยิ่งใหญ่กว่ากำลังรออยู่ในปีข้างหน้า เมื่อค่ายผู้ผลิตในสหรัฐฯ เริ่มทยอยส่งมอบโบอิ้ง 787-900 นี่คือเครื่องบินโดยสารเทคโนโลยีล้ำหน้าใหม่ถอดด้าม ที่สายการบินต่างๆ ตั้งตารอคอยมาหลายปี และ นักบินคนแรกมีกำหนดจะขึ้นบินในเดือน ก.พ.2553
ในเดือน มิ.ย.2549 เวียดนามเซ็นสัญญาซื้อโบอิ้ง 787 "ดรีมลายเนอร์" (Dreamliner) ลอตแรกจำนวน 4 ลำ จากผู้ผลิตค่ายสหรัฐฯ และ ซื้ออีก 8 ลำในเดือน พ.ย.2550 ในจำนวนนี้ 4 ลำ ซื้อโดยบริษัทเช่าอากาศยานเวียดนามหรือ VALC (Vietnam Aircraft Leasing Corp) ซึ่งเป็นบริษัทลูก ซื้อเพื่อให้บริษัทแม่เช่า
บริษัท VALC เซ็นซื้อแอร์บัส A321 จำนวน 16 ลำ ในงานปารีสแอร์โชว์ก็ด้วยจุดประสงค์เดียวกัน
นอกจากนั้นในเดือน ธ.ค.2550 เวียดนามแอร์ไลน์สยังเซ็นสัญญาซื้อ A350-900XWB จากค่ายยุโรปอีก 10 ลำ และเซ็นเอ็มโอยูจองอีก 2 ลำ ในงานปารีสแอร์โชว์ 2009 ทำให้จำนวนเพิ่มขึ้นเป็นทั้งหมด 12 ลำ เท่ากับ “ดรีมลายเนอร์”
ในสัปดาห์กลางเดือน ส.ค. รัฐบาลได้อนุมัติให้สายการบินแห่งชาติทยอยวางเงินมัดจำ A350XWB ลำละ 200,000 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนเวลาที่ตกลงกับบริษัทแอร์บัส เพื่อให้มีการส่งมอบลำแรกในปี 2559 หรืออีก 6 ปีข้างหน้า ทั้งนี้เป็นรายงานของหนังสือพิมพ์ต่วยแจ๋ (Tuoi Tre)
ปัจจุบันเวียดนามแอร์ไลน์สมีเครื่องบินใช้งาน 52 ลำ แต่สื่อรายงานก่อนหน้านี้ว่า ที่ใช้ได้เต็มกำลังจริงมีอยู่ 46 ลำเท่านั้น
เวียดนามแอร์ไลน์สกำลังดำเนินการเพื่อให้มีเครื่องบินใช้งาน 104 ลำในปี 2558 และ 150 ลำในปี 2563 หรืออีก 10 ปีข้างหน้า ในแผนการพัฒนายกระดับขึ้นเป็นสายการบินใหญ่ลำดับต้นๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ในอนาคตอันไม่ไกลนี้เวียดนามจะต้องประกาศหานักบินจำนวนหลายร้อยคน อีกหลายสิบคนสำหรับโบอิ้ง 787 กับแอร์บัส A350-900XWB ซึ่งจะต้องเข้ารับการอบรมเรียนรู้และฝึกฝนกับบริษัทผู้ผลิตโดยตรง
การลงทุนก่อตั้งโรงเรียนฝึกนักบินที่ได้มาตรฐานโลกสักแห่งหนึ่งขึ้นมาในเวียดนาม อาจจะเป็นโครงการที่น่าสนใจอย่างยิ่งตลอดหลายปีข้างหน้านี้.