ASTV ผู้จัดการรายวัน-- สายการบินเวียดนามเริ่มผ่องถ่ายเครื่องบินรุ่นเก่าที่ใช้งานมานานและนำเครื่องรุ่นใหม่เข้างานแทน ตามแผนการยกเครื่องสายการบินแห่งชาติขนานใหญ่ เพื่อพัฒนายกระดับขึ้นเป็นสายการบินชั้นนำอันดับต้นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
วันเสาร์ (22 ส.ค.) ที่ผ่านมา สายการบินเวียดนามได้เซ็นข้อตกลงขายคืนเครื่องบินแบบ ATR72-200 จำนวน 7 ลำ ให้แก่บริษัท ATR (Avions de Transport Regional หรือ Aerei da Trasporto Regionale) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนฝรั่งเศส-อิตาลี ทั้งหมดใช้งานมาตั้งแต่ปี 2535 ทั้งนี้เป็นรายงานของหนังสือพิมพ์เตื๋อยแจ๋ (Tuoi Tre)
เครื่องบินรุ่นเก่า นี้กำลังจะถูกแทนที่โดยเครื่องรุ่นใหม่ ATR72-500 จำนวน 11 ลำ ซึ่งทั้งหมดสั่งซื้อจาก ATR ในเดือน ธ.ค.2550 กับเดือน ธ.ค.2551 โดยมีกำหนดตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไปสื่อของทางการกล่าว
ส่วนหนังสือพิมพ์ไซ่ง่อนหยายฟง (Saigon Giai Phong) รายงานในฉบับวันอาทิตย์ว่า การเปลี่ยนเครื่องบินดังกล่าวจะดำเนินไปจนถึงสิ้นปี 2553 เมื่อถึงเวลานั้นเวียดนามแอร์ไลน์จะมีเครื่องบินแบบ ATR72-500 ใช้งานทั้งหมดจำนวน 14 ลำ
ทั้งหมดจะนำไปเพื่อใช้บินเส้นทางสั้นๆ ระหว่างกรุงฮานอยกับจังหวัดทางภาคเหนือ และ ระหว่างนครโฮจิมินห์กับจังหวัดทางภาคใต้ ในเขตที่ราบปากแม่น้ำโขง เช่นเดียวกับเส้นทางบินไปกัมพูชาและลาว
เครื่องบิน ATR72 พัฒนาต่อเนื่องจาก ATR42 ขยายลำตัวให้มีที่นั่งโดยสารได้มากขึ้น เพิ่มใบพัดเทอร์โบพร็อพรุ่นใหม่เป็นแบบ 6 แฉกแทนของเดิมที่มี 4 แฉก ทั้งนี้เพื่อให้บินได้นุ่มนวลและเงียบยิ่งขึ้น
ในปี 2558 หรืออีก 5 ปีคาดว่า สายการบินเวียดนามจะมีเครื่องบินใช้งานจำนวน 104 ลำ และจะเพิ่มขึ้นเป็น 150 ลำในปี 2563 หรืออีก 10 ปีข้างหน้า
ปัจจุบันมีเครื่องบินใช้งานอยู่เพียง 54 ลำ รวมทั้งเครื่องบินรุ่นกำลังปลดประจำการทั้ง 7 ลำด้วย แต่ในช่วงไม่กี่ปีมานี้เวียดนามแอร์ไลน์กับบริษัทลูกได้เซ็นสัญญาซื้อเครื่องบินรวมกันถึง 61 ลำ คือโบอิ้ง 787 จำนวน 12 ลำ แอร์บัส A350-900XWB อีก 12 ลำ และ A321 จำนวน 26 ลำ กับ ATR72-500 จำนวน 11 ลำ เป็นมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์
เวียดนามแอร์ไลน์กำลังรอการส่งมอบโบอิ้ง 787 จำนวน 4 ลำแรก ซึ่งผู้ผลิตในสหรัฐฯ คือ บริษัทโบอิ้งได้เลื่อนมาหลายครั้ง ซึ่งตามกำหนดเดิมจะต้องส่งลำแรกตั้งแต่เดือนที่แล้ว
โบอิ้งแถลงคราวล่าสุดว่า จะนำ "7E7" ดรีมลายเนอร์ (Dreamliner) ขึ้นทดลองบินในเดือน ก.พ.ปีหน้า และทยอยส่งมอบให้แก่ลูกค้าหลังจากนั้น
ปลายเดือน ก.ค.ที่ผ่ามาเวียดนามแอร์ไลน์ได้เซ็นความตกลงกับบริษัทเอกชนในกัมพูชาแห่งหนึ่งเพื่อก่อตั้งสายการบินแห่งชาติขึ้นมา หลังจากประเทศนี้ไม่มีสายการบินของตัวเองมานานนับสิบปี
เวียดนามแอร์ไลน์สถือหุ้น 49% ในสายการบินแคมโบเดียอังกอร์ (Cambodia Angkor) ที่จัดตั้งขึ้นใหม่ ซึ่งยังไม่มีเครื่องบินโดยสารเป็นของตนเอง และจะต้องมีการจัดซื้อ
สายการบินเวียดนามเข้ากัมพูชาพร้อมกับธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่งกับบริษัทประกันภัยใหญ่ที่สุดของประเทศ ซึ่งทั้งหมดเป็นพันธมิตรในการก่อตั้งบริษัทเช่าอากาศยานเวียดนามหรือ VALC (Vietnam Aircraft Leasing Co) ขึ้นมาจัดซื้อและจัดหาเครื่องบินให้กับสายการบินแห่งชาติ.