xs
xsm
sm
md
lg

เอ็นจีโอใหญ่ไล่จิกจี้รัฐบาลผู้ดีระงับวีซ่า “ฮุนเซน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#3366ff>ภาพเอเอฟพี วันอังคาร (14 ก.ค.) ผู้นำกัมพูชาอยู่ในกรุงปารีส พบหารือข้อราชการกับ นายแบร์นาร์ด กูชเนอร์ รมว.ต่างประเทศฝรั่งเศส ประชาคมชาวเขมรที่นั่นเคลื่อนไหวต่อต้านเหมือนกัน  </font><//b>

พนมเปญโพสต์/ASTVผู้จัดการออนไลน์ -- องค์การโกลบอลวิตเนส (Global Witness) ซึ่งเป็นกลุ่มอนุรักษ์สภาพแวดล้อมและตรวจสอบระบบบรรษัทภิบาล ได้เรียกร้องไปยังรัฐบาลอังกฤษ ระงับวีซ่าสมเด็จฯ ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ที่กำลังจะไปเยือนประเทศนั้นอย่างเป็นทางการ รวมทั้งไปร่วมงานรับปริญญาบัตรในโอกาสที่บุตรชายคนหนึ่งสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยที่นั่น

สมเด็จฯ ฮุนเซน เดินทางจากกัมพูชา ตั้งแต่วันที่ 9 ก.ค.ที่ผ่านมา ได้เยือนฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการ ได้พบหารือกับประธานาธิบดี นิโกลาส์ ซาร์โกซี และร่วมงานเฉลิมฉลองครบรอบ 220 ปี การบุกทลายเรือนจำบาสติญ ในปี 1789 ซึ่งเป็นการปฏิวัติใหญ่ในฝรั่งเศส เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบสาธารณรัฐ

แต่ Global Witness ที่มีสำนักงานใหญ่ในประเทศอังกฤษ กล่าวว่า การอนุญาตให้สมเด็จฯ ฮุนเซน ไปเหยียบแผ่นดินอังกฤษ “แสดงให้เห็นความล้มเหลวของรัฐบาลในการปฏิบัติตามเจตนารมณ์ที่จะต่อสู้กับการคอร์รัปชันและส่งเสริมการพัฒนา...”

“ระบอบฮุนเซนเป็นเจ้างานในขบวนการคอร์รัปชันอันยิ่งใหญ่ ซึ่งส่งผลกระทบถึงการแก้ไขปัญหาความยากจนในกัมพูชา แต่ยุโรปกับอังกฤษกลับพากันให้การต้อนรับเขากับการเยือนของเขา” โกลบอลวิตเนส กล่าวในคำแถลงฉบับหนึ่งที่ออกในวันพฤหัสบี (16 ก.ค.)

โกลบอลวิตเนส กล่าวด้วยว่า อังกฤษมีส่วนร่วมในการอุดหนุนค่าใช้จ่ายของระบอบฮุนเซนด้วย ในรูปของเงินช่วยเหลือระหว่างประเทศ

ก่อนหน้านั้น ประชาคมชาวเขมรในฝรั่งเศสเอง ก็ได้เคลื่อนไหวต่อต้านการเยือนของสมเด็จฯ ฮุนเซน กับภริยา โดยเรียกร้องให้ประธานาธิบดีซาร์โกซี “ย้ำเตือน” ผู้ไปเยือนเกี่ยวกับภาระหน้าที่ของกัมพูชาที่จะต้องเคารพพันธะกรณีต่างๆ ต่อฝรั่งเศสและประชาคมระหว่างประเทศ

นายฟายสีฟาน (Phay Siphan) โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกัมพูชากล่าวว่า ความเคลื่อนไหวต่อต้านของกลุ่มต่างๆ เป็นการกระทำที่ “ไม่ศิวิไลซ์” และ “ไม่เป็นประชาธิปไตย”

โกลบอลวิตเนส ได้เฝ้าติดตามการบริหารงานของรัฐบาลสมเด็จฯ ฮุนเซน อย่างใกล้ชิด เมื่อต้นปีนี้ได้ออกรายงานฉบับหนึ่งเปิดโปงขบวนการคอร์รัปชัน การตัดไม้ทำลายป่า และขบวนการกอบโกยเงิน โดยเรียกเก็บจากกลุ่มธุรกิจที่เข้าไปประกอบกิจการเกี่ยวกับการขุดค้นพลังงาน และทรัพยากรธรรมชาติ “ความร่ำรวย” เหล่านั้นไม่ได้นำเข้าสู่คลังหลวง แต่แบ่งปันกันระหว่างกลุ่มปกครอง

ปีที่แล้วกลุ่มประเทศผู้บริจาคได้ให้คำมั่นที่ช่วยเหลือกัมพูชาเป็นเงินเกือบ 1,000 ล้านดอลลาร์มากมายที่สุดเท่าที่เคยมีมา แต่โกลบอลวิตเนสได้เตือนผู้บริจาคเหล่านั้น ว่า ขณะนี้ยังไม่มีระบบที่มีประสิทธิภาพใดที่จะใช้ตรวจสอบความโปร่งใสการใช้จ่ายเงินช่วยเหลือของประชาคมโลกในกัมพูชา
กำลังโหลดความคิดเห็น