xs
xsm
sm
md
lg

หม่องก้นร้อนเร่งศาลเตี้ยลงดาบอองซานซูจี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#cc00> นายเนียนวิน (Nyan Win) โฆษกของสันนิบาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ในฐานะสมาชิกทีมกฎหมายของนางอองซานซูจีเดินกลับจากไปร่วมรับฟังการไต่สวนในบริเวณเรือนจำอิงเส่งเมื่อวันอังคาร เจ้าหน้าที่ผู้นี้กล่าวว่าทางการจะสอบพยานทั้งหมด 22 ปาก ในนั้นมีเพียงคนเดียวที่ไม่ได้เป็นตำรวจ

ย่างกุ้ง (เอเอฟพี/ASTVผู้จัดการออนไลน์) -- โฆษกสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy) กล่าวว่า การไต่สวนคดี นางอองซานซูจีวันอังคาร (19 พ.ค.) ที่ผ่านมา มีการสืบพยานถึง 5 ปาก ซึ่งดูเหมือนว่า รัฐบาลทหารกำลังพยายามเร่งรัดการไต่ส่วนคดีนี้ท่ามกลางแรงกดดันมหาศาลจากรอบทิศ

การดำเนินการดังกล่าวมีขึ้นหลังจากกลุ่มสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ได้เข้าร่วมประชาคมระหว่างประเทศ วิจารณ์ระบอบทหารพม่า ทั้งเตือนให้ต้องเคารพสิทธิมนุษยชนและส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย ตามกฎบัตรที่สมาชิก 10 ประเทศ รวมทั้งพม่าได้ร่วมลงนามให้สัตยาบรรณในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา

พยานโจทก์ทั้ง 5 คนซึ่งเป็นตำรวจจำนวน 4 คน ได้เข้าให้การต่อศาลพิเศษที่จัดให้มีขึ้นภายในเรือนจำอิงเส่ง (Insein) กรุงย่างกุ้ง บรรยายถึงเหตุการณ์เข้าไปจับกุมนายจอห์น เยตทอว์ (John William Yetthaw) ชาวอเมริกันวัย 53 ปี ที่ว่ายน้ำข้ามบึงอินยา (Inya) ไปยังบ้านพักของ นางซูจี เมื่อต้นเดือนนี้

การเรียกพยานเข้าให้การจำนวนมากเช่นนั้น “แสดงให้เห็นว่าพวกเขากำลังพยายามจะให้แล้วเสร็จเร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้” นายเนียน วิน (Nyan Win) โฆษกของ NLD กล่าวกับผู้สื่อข่าว

“ถ้าหากเป็นเช่นนี้ต่อไปเราก็เชื่อว่า (การไต่สวน) จะเสร็จในสัปดาห์หน้านี้” โฆษกของพรรคการเมืองฝ่ายค้านใหญ่ที่สุดในพม่ากล่าว ทั้งยังเปิดเผยอีกว่าทางการได้ระบุตัวพยานจำนวน 22 ราย ในนั้นมีเพียงคนเดียวที่ไม่ใช่ตำรวจ

“พยาน (โจทก์) ได้บรรยายเหตุการณ์การจับกุม พวกเขาบอกว่าได้เฝ้าดูตอนที่เขา (นายเยตทอว์) ว่ายน้ำไป ซึ่งในตอนแรกๆ คิดว่าเป็นขโมย” นายเนียนวินกล่าวถึงคำให้การของเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวน 4 คนเมื่อวันอังคาร

“แต่พวกเขากล่าวว่า ได้รู้ว่าเป็นชาวต่างชาติก็ตอนที่ (นายเยตทอว์) ขึ้นฝั่งแล้ว ต่อมาจึงนำตัวไปยังหน่วยพิเศษ” นายวิน ซึ่งร่วมอยู่ในคณะฝ่ายกฎหมายของนางซูจีกล่าว

สมาชิกสันนิบาติฯ ราว 100 คน ไปชุมุนมที่บริเวณหน้าเรือนจำเมื่อวันอังคาร รวมทั้งนายวินทิน (Win Tin) นักหนังสือพิมพ์ที่เคยถูกจำคุกมานานกว่า 20 ปี ก่อนได้รับการปล่อยตัวปลายปีที่แล้ว ท่ามกลางการตำรวจอาวุธครบมือจำนวนมากที่เฝ้าดูเหตุการณ์อยู่ใกล้ๆ

ท่ามกลางแรงกดดันจากรอบทิศ เมื่อวันพุธ (20 พ.ค.) นี้ โฆษกของทางการผู้หนึ่งได้แจ้งให้ทราบว่ากำลังจะอนุญาตให้ผู้แทนสื่อเข้าไปรับฟังและสังเกตการณ์การไต่ส่วนนางอองซานซูจีที่จะเริ่มเป็นวันที่สามติดต่อกันในตอนบ่าย แต่ห้ามการถ่ายภาพและถ่ายวิดีโอทุกชนิด

ในบรรดาผู้ที่ได้รับอนุญาตจะเป็นผู้สื่อข่าวต่างประเทศจำนวน 10 คน รวมทั้งผู้สื่อของของเอเอฟพี 1 คนด้วย อีกส่วนหนึ่งจะเป็นผู้แทนสื่อหนังสือพิมพ์และนิตยสารข่าวในพม่า

นับเป็นครั้งแรกที่ทางการอนุญาตให้สื่อได้เข้าไปรู้เห็นการไต่สวนคดีสำคัญในรอบทศวรรษเกี่ยวกับผู้นำฝ่ายค้านวัย 63 ปีของ หลังจากตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวสารต่างๆ ถูกเผยแพร่ออกไปอย่างระมัดระวังผ่านสื่อของทางการหรือผ่านทนายความของนางซูจี

สื่อของทางการเพิ่งจะมีการออกข่าวเกี่ยวกับการจับกุมและการไต่สวนนางซูจีครั้งแรกเมื่อวันอังคาร ขณะที่เหตุเกิดตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งถ้าหากถูกศาลพิเศษพิพากษาว่ากระทำผิดจริง นางซูจีก็อาจจะถูกจำคุกเป็นเวลาถึง 5 ปี
<br><FONT color=#cc00> ภาพเอเอฟพีวันที่ 20 พ.ค.2552 นักเคลื่อนไหวชาวพม่าจัดชุมนุมอีกครั้งหนึ่ง ที่หน้าสถานทูตถนนสาธรเหนือ เรียกร้องให้ปล่อยตัวนางซูจี ขณะที่ระบอบทหารก็กำลังเร่งการไต่สวนคดีให้แล้วเสร็จโดยเร็ว </FONT></br> </FONT></br>
การยินยอมให้ผู้สื่อข่าวเข้าไปรับฟังการไต่สวนยังมีขึ้นหลังจากมีเสียงประณามดังไปจากหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งกลุ่มอาเซียนที่นิ่งเงียบมานานเกือบตลอดสัปดาห์ ออกคำแถลงในวันอังคารเรียกร้องให้ระบอบทหารในพม่าต้องดำเนินการเรื่องนี้โดย “เคารพต่อสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรี” และดำเนินไปด้วยความน่าเชื่อถือ

คำแถลงของอาเซียนที่ออกในกรุงเทพฯ ระบุในตอนหนึ่งว่า พม่ากำลังถูกจับตาจากทั่วโลก โดยมีชื่อเสียงกับความน่าเชื่อถือของประเทศเป็นเดิมพัน

เมื่อวันจันทร์ทางการได้ห้ามนักการทูตจากยุโรปเข้าร่วมเป็นสักขีพยานการไต่ส่วน ทำให้รัฐมนตรีต่างประเทศสหภาพยุโรปเรียกประชุมในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียมพิจารณาเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรต่อระบอบทหาร

เรื่องนี้เกิดขึ้นหลังจากรัฐบาลประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ ประกาศขยายเวลามาตรการคว่ำบาตรต่อพม่าอีก 1 ปีอย่างเป็นทางการในวันศุกร์

ฝ่ายตรงข้ามกล่าวว่าระบอบทหารได้พยายามโหมกระพือตั้งข้อกล่าวหานางซูจีอย่างเกินเหตุ เพื่อหาทางกักขังไม่ให้มีส่วนร่วมในการเลือกตั้งที่จะจัดขึ้นในปี 2553

เมื่อวันอังคารผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพจำนวน 9 คน ได้ร่วมกันเรียกร้องออกหนังสือฉบับหนึ่งในกรุงซานโฆเซ (San Jose) คอสตาริกา (Costa Rica) ส่งถึงเลขาธิการใหญ่สหประชาชาติและเลขาธิการอาเซียน เรียกร้องให้พม่าปล่อยตัวผู้นำฝ่ายค้าน

เจ้าของรางวัลโนเบลทั้ง 9 คน ระบุในหนังสือว่า การจับกุมและการดำเนินคดีนางอองซานซูจีนั้น เป็น “การหลอกลวง”

นางซูจี เคยได้รับรางวัลโนเบลสาขาเดียวกันเมื่อปี 2543 แต่ไม่สามารถเดินทางออกจากประเทศไปร่วมพิธีมอบที่จัดขึ้นในกรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น