ผู้จัดการ 360 ํรายสัปดาห์— เวียดนามกำลังเร่งก่อสร้างยกระดับสนามบินเพิ่มขึ้นอีก 2 แห่งจาก 9 แห่งตามแผนการเมื่อก่อนหน้านี้ เพื่อให้เป็นท่าอากาศยานนานาชาติ ขณะเดียวกันก็เร่งพัฒนาสนามบินนานาชาติที่มีอยู่ให้มีมาตรฐานสูงขึ้น มีขีดความสามารถสูงขึ้นโดยมีเป้าหมายผลักดันให้อุตสาหกรรมการบินของประเทศทะยานขึ้นอันดับต้นๆ ในอนุภูภาคอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ พร้อมรองรับการฟื้นตัวรอบใหม่ของเศรษฐกิจโลก
รัฐบาลได้บรรจุโครงการสร้างสนามบินขนาดใหญ่แห่งใหม่ทางภาคใต้ของประเทศเข้าในแผนพัฒนาครั้งนี้อย่างเป็นทางการอีกด้วย นายกรัฐมนตรีเวียดนามเหวียนเติ๋นยวุ๋ง (Nguyen Tan Dung) ได้อนุมัติเรื่องนี้ในสัปดาห์ปลายเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา
หลายปีมานี้เวียดนามได้ขยายและก่อสร้างท่าอากาศยานเตินเซินเญิต (Tan Son Nhat) นครโฮจิมินห์ ให้เป็นศูนย์การบินที่มีขีดความสามารถสูงขึ้น ในฐานะท่าอากาศยานใหญ่ที่สุดในภาคใต้ ในปัจจุบันได้ข้อสรุปว่า ไม่สามารถขยายต่อไปได้อีกแล้ว เนื่องจากถูกตัวเมืองโอบล้อมทุกทิศทุกทาง
แต่รัฐบาลเห็นว่าท่าอากาศยานโนยบ่าย (Noi Bai) กรุงฮานอย ยังสามารถขยับขยายต่อไปได้อีก จึงไม่มีการกล่าวถึง "สนามบินใหญ่แห่งที่สอง" ในภาคเหนือ ในแผนพัฒนาที่อนุมัติใหม่นี้
ปัจจุบันท่าอากาศยานนานาชาติโฮจิมินห์ รับผู้โดยสารเพียงปีละ 10 ล้านคน แต่กำลังปรับปรุงในเฟสที่สอง ซึ่งมีการขยายลานจอดเครื่องบิน สร้างอาคารอำนวยการอีกหนึ่งหลัง กับหอบังคับการบินใหม่ แต่มากกว่านั้นไม่ได้อีกแล้ว
รัฐบาลได้กำหนดเอาไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจะสร้างสนามบินแห่งใหม่ที่ อ.ลองแถ่ง (Long Thanh) จ.ด่งนาย (Dong Nai) ซึ่งอยู่ห่างจากโฮจิมินห์ไปทางตะวันออกราว 30 กิโลเมตร
เจ้าหน้าที่ของทางการประกาศมานานแล้วว่า สนามบินแห่งใหม่จะมีขนาดใหญ่โตกว่าสนามบินสุวรรณภูมิของไทย และ จะเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางอากาศขนาดใหญ่อีกแห่งหนึ่งในอนุภูมิภาค
ตามแผนการอันทะเยอทะยานนั้น เวียดนามจะต้องลงทุนราว 5,000 ล้านดอลลาร์สร้างสนามบินใหญ่ บนเนื้อที่กว่า 5,000 เฮกตาร์ (กว่า 31,000 ไร่) เพื่อให้รับผู้โดยสารได้ปีละ 100 ล้านคน ส่งสินค้าปีละ 5 ล้านตัน ทั้งนี้เป็นรายงานของหนังสือพิมพ์เวียดนามนิวส์
เมื่อถึงวันนั้นเตินเซินเญิต ที่ตั้งอยู่ในเขตเมืองคล้ายๆ กับท่าอากาศยานดอนเมืองของไทย ก็จะกลายเป็นสนามบินและศูนย์อำนวยการของบรรดาสายการบินต้นทุนต่ำ ที่ปัจจุบันมี 4 บริษัท
ต้นปี 2552 ได้มีการเปิดใช้ท่าอากาศยานนครเกิ่นเทอ (Can Tho) ในเขตที่ราบปากแม่น้ำโขง ที่ปรับปรุงในเฟสแรก ทำให้เครื่องบินโดยสารแอร์บัส A320 ขึ้นลงได้เป็นครั้งแรก
ขณะเดียวกันการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่บนเกาะฟุก๊วก (Phu Quoc) เริ่มขึ้นแล้ว รัฐบาลมีแผนพัฒนาที่นั่นให้เป็นสนามบินนานาชาติ รองรับเครื่องบินโดยสารได้จากทั่วโลกภายในปี 2563 หรืออีกประมาณ 10 ปีข้างหน้า
เรื่องนี้อยู่ในแผนแม่บทพัฒนาเกาะใหญ่ในอ่าวไทย เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและบริการระดับอนุภูมิภาค ที่ประกาศเมื่อปี 2548
ตามแผนการที่มีการเปิดเผยก่อนหน้านี้ ท่าอากาศยานนานาชาติฟุก๊วก จะรับเครื่องบินโดยสารได้พร้อมกัน 20 ลำในชั่วโมงเร่งด่วน และ รับผู้โดยสารได้ปีละ 7 ล้านคน ซึ่งมีขนาดพอเหมาะกับพื้นที่เกาะ
ส่วนในภาคเหนือ ปีที่แล้วสนามบินโนยบ่ายรับผู้โดยสาร 7 ล้านคน ตามแผนการใหม่นี้รัฐบาลอนุมัติให้ปรับปรุงและพัฒนาสนามบินนานาชาติกรุงฮานอยต่อไปอีกจนถึงปี 2568 จนถึงปีนั้นจะมีลานจอดสำหรับเครื่องบิน 44 ลำ อาคารผู้โดยสารรองรับได้ 30 ล้านคนต่อปี
ตามแผนการใหม่นี้กำลังจะมีการก่อสร้าง "ระบบแอร์พอร์ตลิงค์" ซึ่งประกอบด้วยการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำแดงงอีก 2 จุด สร้างรถไฟฟ้าใต้ดินและระบบทางด่วนเชื่อมสนามบินนานาชาติกับเมืองหลวงที่อยู่ห่างออกไปราว 40 กม.
ในระยะยาวจะมีการขยายสนามบินแห่งนี้ต่อออกไปทางทิศใต้ ประกอบด้วยรันเวย์ที่สามารถรองรับแอร์บัส A380 กับโบอิ้ง 787 ได้ มีลานจอดที่รองรับเครื่องบินโดยได้ 88 ลำ และ เมื่อก่อสร้างอาคารผู้โดยสสารหมายเลข 2, 3 และ 4 แล้วเสร็จ โนยบ่ายจะรับผู้โดยสารได้ 50 ล้านคนต่อปี
ช่วง 2-3 ปีมานี้มีการเสนอโครงการก่อสร้างสนามบินขนาดใหญ่แห่งใหม่ใน จ.หายซเวือง (Hai Duong) ทางทิศตะวันออกของกรุงฮานอย อันเป็นเขตการผลิตอุตสาหกรรมอีกแห่งหนึ่งของภาคเหนือ
รัฐบาลอาจจะต้องใช้เงินทุนอีกราว 6,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อ “สนามบินใหญ่แห่งที่สอง” แต่ไม่ได้มีการบรรจุโครงการนี้ไว้ในแผนพัฒนายกระดับสนามบินทั่วประเทศที่เพิ่งได้รับอนุมัติ
สำหรับภาคกลางของประเทศ ปัจจุบันมีท่าอากาศยานนานาชาติอยู่ 2 แห่งในนครด่าหนัง (Danang) กับสนามบินฝูบ่าย (Phu Bai) นครเหว (Hue) ทั้งสองแห่งนี้ จะได้รับการยกระดับให้เป็นสนามบินขนาดใหญ่ เครื่องบินโบอิ้ง 747 หรือ แอร์บัส A330 สามารถวิ่งขึ้นลงได้
ขณะเดียวกันก็กำลังมีการยกระดับสนามบินขนาดเล็กในย่านนี้อีก 2 แห่งที่จูลาย (Chu Lai) ในเขตอุตสาหกรรม จ.กว๋างหงาย (Quang Ngai) กับที่เกิมแร็ง (Cam Ranh) ที่อยู่ใต้ลงไปจากเมืองญาจาง (Nha Trang) จ.แค๊งฮว่า (Khanh Hoa) แหล่งท่องเทียวชายทะเลที่สำคัญในภาคกลางตอนล่าง
เมื่อการพัฒนาแล้วเสร็จเครื่องบินโบอิ้ง 737 หรือ แอร์บัส A320 จะสามารถบินขึ้นลงได้
สื่อของทางการกล่าวว่า ปัจจุบันกำลังมีการเจรจากับรัฐบาลสิงคโปร์ เพื่อเชื่อมเที่ยวบินนานาชาติไปยังท่าอากาศยานนครเหว
ส่วนที่สนามบินเกิมแร็งกำลังมีการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งใหม่ พร้อมกับหอบังคับการบินและระบบไฟสัญญาณในยามกลางคืนเพื่อเปิดใช้เป็นท่าอากาศยานนานาชาติในปี 2552 นี้
และที่สนามบินจูลายก็กำลังมีการปรับปรุงคล้ายกันเพื่อให้เป็นสนามบินนานาชาติ แม้ว่าศักยภาพการท่องเที่ยวของที่นั่นจะเป็นรอง แต่ด้านการบินเพื่อธุรกิจมีอนาคต เนื่องจากเป็นเขตอุตสาหกรรมสำคัญอีกแห่งหนึ่งของประเทศ หนังสือพิมพ์ฉบับเดียวกันกล่าว
เวียดนามมองว่าสนามบินนานาชาติทั้ง 4 แห่งในภาคกลาง จะเป็นขุดเชื่อมสำคัญของการเดินทางท่องเที่ยวและการค้า ระหว่างประเทศอนุภูมิภาคแม่น้ำโขงกับย่านแปซิฟิก พร้อมๆ กับการพัฒนาสนามบิน เวียดนามกำลังพัฒนาท่าเรือขนาดใหญ่หลายแห่ง ซึ่งอยู่ในเส้นทางเดินเรือเชื่อมระหว่างภาคเหนือกับภาคใต้
สื่อของทางการกล่าวว่าปัจจุบันบริษัท Middle Airport Corp (MAC) จากสิงคโปร์กำลังเจรจากับทางการเวียดนาม เพื่อเข้าลงทุนและขยายสนามบินฝูบ่าย โดยเชื่อว่าเมื่อการพัฒนาแล้วเสร็จจะมีเที่ยวบินนานาชาติจากสิงคโปร์ตรงไปที่นั่นเพิ่มขึ้น เนื่องจากเมืองมรดกโลกนครเหวเป็นปลายทางสำคัญด้านการท่องเที่ยว
เพราะฉะนั้นในอนาคตอันใกล้ เวียดนามจะมีท่าอากาศยานนานาชาติจำนวน 10 แห่ง นั่นคือ กำลังจะมีการพัฒนายกระดับอีกจำนวน 6 แห่ง คือ จูลาย เกมแร็ง ฝูบ่าย เกิ่นเทอ ฟุก๊วก และลองแถ่ง ซึ่งแห่งหลังสุดนี้จะเป็นศูนย์กลางของทั้งระบบ สื่อของทางการกล่าว
ปัจจุบันสายการบินเวียดนามมีเครื่องบินใช้งานเพียงประมาณ 50 ลำ แต่ช่วง 2-3 ปีมานี้ได้เซ็นสัญญาซื้ออีกกว่า 40 ลำ รวมทั้งโบอิ้ง 787 จำนวน 16 ลำ แอร์บัส A350XWB800-900 จำนวน 10 ลำ A320 อีก 20 ลำ และ ATR72-500 จำนวน 11 ลำ ในแผนการที่จะทำให้สายการบินแห่งชาติทะยานขึ้นเป็นหนึ่งในสามสายการบินชั้นนำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ตามแผนการดังกล่าว สายการบินเวียดนามจะมีเครื่องบินใช้งานประมาณ 105 ลำ ในปี 2558 เพิ่มขึ้นเป็น 120 ลำใน 2563 และ ประมาณ 150 ลำในปี 2568
สื่อของทางการรายงานก่อนหน้านี้ว่า เวียดนามแอร์ไลน์มีแผนจัดซื้อเครื่องบินโบอิ้ง 787-800, 900 ถึง 28 ลำ ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่สายการบินแห่งชาติกล่าวว่า การจัดซื้อแอร์บัส A380 เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับอนาคต
การทะยานขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งหรือเบอร์สองในอนุภูมิภาค ไม่สามารถจะเป็นไปได้ หากไม่มีท่าอากาศยานนานาชาติที่มีมาตรฐานเพียงพอในการรองรับ.