ASTVผู้จัดการออนไลน์ -- สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโชฮุนเซน (Samdach Akka Moha Sena Pdei Techo Hun Sen) ได้รับการสนับสนุนอีกครั้งหนึ่งให้เป็นตัวแทนพรรคประชาชนกัมพูชา เข้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งที่จะจัดขึ้นอีก 4 ปีข้างหน้า มีการประกาศการตัดสินใจนี้ระหว่างการประชุมคณะกรรมการกลางพรรครัฐบาล ที่จัดขึ้นในกรุงพนมเปญสัปดาห์ที่แล้ว
จนถึงวันนี้ สมเด็จฯ ฮุนเซน อยู่ในตำแหน่งผู้นำประเทศติดต่อกันมาเป็นปีที่ 24 ได้รับเลือกครั้งล่าสุดในเดือน ก.ย.ปีที่แล้ว หลังการเลือกตั้งทั่วไปในเดือน ก.ค.- ส.ค.ซึ่งพรรคประชาชนกัมพูชา หรือ CPP (Cambodian People's Party) มีชัยชนะท่วมท้น ท่ามกลางการกล่าวหาว่า มีการโกงเลือกตั้งอย่างกว้างขวาง
ตามระบบของกัมพูชา สถาบันต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ รวมทั้งผู้นำรัฐบาล และคณะรัฐมนตรีจะมีวาระ 5 ปี หลังการแต่งตั้งปีที่แล้ว สมเด็จฯ ฮุนเซน จะอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนถึงปี 2556 ซึ่งจะมีการเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง และเมื่อถึงวันนั้น นายกฯ หนึ่งเดียวคนนี้ก็จะครองอำนาจครบ 28 ปี
ถ้าหากสามารถนำพรรค CPP ชนะเลือกตั้งครั้งต่อไปได้อีก สมเด็จฯ ฮุนเซน ก็จะอยู่ในตำแหน่งต่อไปอีก 5 ปี รวมเป็น 33 ปี ซึ่งยังไม่เคยมีผู้นำรัฐบาลคนใดในโลกยุคใหม่ที่สามารถอยู่ในตำแหน่งได้ยาวสนานขนาดนั้น
สมเด็จฯ ฮุนเซน เป็นรองประธานพรรค CPP แต่เป็นผู้มีอำนาจมากที่สุด ขณะที่ สมเด็จฯ เจียซิม เป็นประธานพรรคเพียงในพิธีการ และรับผิดชอบการบริหารจัดการภายในพรรค ซึ่งในทางปฏิบัติ ถ้าหากจะมีการเปลี่ยนแปลงใดก็จะต้องได้รับความเห็นชอบจาก “บุรุษหมายเลข 2”
ในท่ามกลางความวิตกที่จะเกิดจากการผูกขาดอำนาจ ฝ่ายค้านได้เคยเรียกร้องให้ผู้นำพิจาณาตัวเองด้วยการลาออกจากตำแหน่ง เพื่อเปิดทางให้คนรุ่นใหม่ได้ขึ้นบริหารประเทศ สมเด็จฯ ฮุนเซน ประกาศก้องเมื่อปี 2550 จะเป็นผู้นำต่อไป “จนกระทั่งอายุ 99 ปี” หรือ “จนกว่าชาวประชาชนจะไม่เลือก”
พรรคประชาชนกัมพูชา เติบโตกลายพันธุ์มาจาก “พรรคประชาชนปฏิวัติกัมพูชา” (Kampuchean People's Revolutionary Party) ซึ่งเป็นพรรคคอมมิวนิสต์สายโซเวียต ที่เวียดนามจัดตั้งขึ้นในกรุงพนมเปญเมื่อปี 2522 หลังจากส่งทหารนับแสนๆ คนบุกข้ามพรมแดนโค่นล้มระบอบเขมรแดง ยึดเมืองหลวงได้ในวันที่ 7 ม.ค.
“ฮุนเซน” ปรากฏตัวต่อชาวโลกตอนขณะที่มีอายุเพียง 33 ปี ในฐานะรัฐมนตรีต่างประเทศของระบอบใหม่ ก่อนจะไต่เต้าขึ้นควบตำแหน่งรองนายกฯ และ นายกรัฐมนตรี ในที่สุด
ตามประวัติสั้นๆ อย่างเป็นทางการ สมเด็จฯ ฮุนเซน เกิดใน จ.กัมปงจาม เรียนชั้นประถมและมัธยมศึกษาในกรุงพนมเปญโดยอาศัยที่วัดแห่งหนึ่ง เจ้าอาวาสวัดที่ให้การอุปถัมภ์หนูน้อยฮุนเซนมาตลอด ก็คือ ออกญามงฤทธี (Oknha Mong Rethy) ในปัจจุบัน ที่เป็นคหบดี และนักธุรกิจใหญ่เจ้าของท่าเรือในสีหนุวิลล์ เจ้าของธุรกิจและอุตสาหกรรมการเกษตรในจังหวัดเกาะกง โดยร่วมกับนักลงทุนใหญ่จากประเทศไทย
ในอดีต สมเด็จฯฮุนเซน เป็นนายทหารระดับผู้บัญชาการกองพันในกองทัพกัมพูชาประชาธิปไตย (Democratic Kampuchea) หรือ ระบอบเขมรแดง โดยประจำการในภาคตะวันออกของประเทศ
ทั้ง สมเด็จฯฮุนเซน สมเด็จฯเจียซิม ซึ่งเป็นประธานวุฒิสภาพ และ สมเด็จฯเฮงซัมริน (Heng Samrin) ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำคนอื่นๆ ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น นายโสกอาน (Sok An) นายฮอร์นัมฮอง (Hor Nam Hong) หรือ นายเกียตชน (Keat Chhon) ล้วนเป็นเจ้าหน้าที่ในระบอบเขมรแดง และเกือบทั้งหมดอยู่ในอำนาจมานานกว่า 30 ปี
ไม่เฉพาะทางด้านการเมืองเท่านั้น หลายปีมานี้กลุ่มผู้นำในพนมเปญมีความผูกพันฉันท์เครือญาติกันมากขึ้นผ่านการสมรสของบุตรหลาน รวมทั้งบุตรชายคนหนึ่งของสมเด็จฯ ฮุนเซน ที่สมรสกับบุตรีของ นายโสกอาน ลูกหลานของผู้นำเหล่านี้ได้กลายเป็นเกลียวพันอันแน่นหนา สืบผลประโยชน์บรรดาครอบครัวชั้นนำของประเทศ
นักวิเคราะห์กล่าวว่า “พรรคคอมมิวนิสต์สายพันธุ์ใหม่” ในกัมพูชา เติบใหญ่มาด้วยการสร้างฐานอำนาจอันแข็งแกร่งขึ้นในเขตชนบทของประเทศที่ยังล้าหลัง โดยทุ่มงบประมาณลงสู่ประชาชนระดับรากหญ้า สร้างถนนหนทางและนำระบบชลประทานเข้าสู่ท้องไร่ท้องนา
ขณะเดียวกัน กลุ่มผู้นำได้ขยายอำนาจอิทธิพล เปิดทางให้วงศาคณาญาติ ตลอดจนบริษัทธุรกิจที่ใกล้ชิด เข้าควบคุมภาคเศรษฐกิจและธุรกิจขนาดใหญ่ของประเทศทั้งหมด สร้างรายได้มหาศาลเพื่อเป็นฐานทางการเมืองสืบต่อไป
พรรคประชาชนกัมพูชา จัดตั้งมวลชนพื้นฐานอย่างแน่นหนาในจังหวัดต่างๆ ทำให้สามารถเอาชนะการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นได้ทุกครั้งในหลายปีมานี้ จนถึงการเลือกตั้งระดับชาติปีที่แล้ว ซึ่ง CPP สามารถเอาชนะได้อย่างถล่มทลาย ขณะที่พรรคฝ่ายค้าน 3-4 พรรค ทั้งแตกแยกและอ่อนแอ
กัมพูชากำลังจะจัดเลือกตั้งสภาบริหารระดับท้องถิ่นในวันที่ 17 พ.ค.ศกนี้ ซึ่งเป็นคณะบริหารในระดับหมู่บ้านและนิคม อันเป็นรากฐานของสังคม ซึ่งเชื่อว่าคนของ CPP จะได้รับชัยชนะในเกือบทุกพื้นที่ของประเทศ
พรรคประชาชนกัมพูชาเปิดประชุมเต็มคณะ (Plenum) ขึ้นปีละ 2 ครั้ง แบบเดียวกันกับพรรคคอมมิวนิสต์ทั่วไป คือในช่วงต้นปีกับปลายปี เพื่อพิจารณาวาระสำคัญต่างๆ กำหนดนโยบายและติดตามการบริหารนโยบายของรัฐบาล การประชุมเต็มคณะสัปดาห์ที่แล้วเป็นครั้งที่ 34
การประชุมครั้งนี้บรรดาผู้นำยังลงมติเลือกบุคคลสำคัญจำนวนหนึ่งเข้าเป็น “สมาชิกถาวร” คณะกรรมการกลางพรรค ซึ่งเป็นการเสริมฐานอำนาจให้แน่นหนายิ่งขึ้น
“สมาชิกถาวร” หน้าใหม่ ยังรวมทั้งนายเกียตชน รองนายกฯ และรัฐมนตรีเศรษฐกิจและการเงิน นายยิมชายลี (Yim Chhay Ly) รองนายกฯ อีกคนหนึ่ง พล.อ.กุนกิม (Kun Kim) รองผู้บัญชาการกองทัพกัมพูชา พล.อ.มาศสุภา (Meas Sophea) รองผู้บัญชาการกองทัพและผู้บัญชาการทหารบก กับ พล.อ.เนตร สะเวือน (Neth Savoeun) ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่ได้ห้ามข้าราชการระดับสูงเป็นสมาชิก หรือผู้บริหารของพรรคการเมือง