xs
xsm
sm
md
lg

พ่อค้าเวียดนามเข้าเขมรซื้อข้าวถึงชายแดนไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<CENTER><FONT color=#00cc00> ราคากำลังดี-- ภาพถ่ายวันที่ 29 พ.ย.2551 ชาวนาใน จ.ตะแกว ห่างจากกรุงพนมเปญไปทางใต้ราว 60 กม. กำลังขนข้าวที่เก็บเกี่ยวแล้วกลับเข้าหมู่บ้านไปด้วย ในเดือนเดียวกันพ่อค้าจากเวียดนามได้ออกกว้านซื้อข้าวหอมของกัมพูชาแบบไม่อั้น ไปซื้อถึงกัมปงจามและไกลออกไปจนถึงพระตะบองใกล้กับชายแดนไทย (ภาพ: AFP).</FONT></CENTER>

ASTVผู้จัดการรายวัน-- เจ้าหน้าที่สมาคมโรงสีในกัมพูชากล่าวว่า ปัจจุบันพ่อค้าจากเวียดนามได้เข้าไปซื้อข้าวฤดูใหม่ในท้องถิ่นต่างๆ ที่เป็นเขตอู่ข้าวใหญ่ของประเทศ รวมทั้งในจังหวัดกัมปงจามกับ จ.พระตะบองที่อยู่ใกล้กับชายแดนไทยด้วย

ขณะที่เวียดนามเป็นประเทศส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับสองของโลก ชาวเวียดนามกลับนิยมข้าวหอมจากกัมพูชามากและพ่อค้ากำลังรับซื้ออย่างไม่จำกัด ส่งผลทำให้ชาวนาเขมรขายข้าวได้ราคาดี ในขณะที่โรงสีในท้องถิ่นต่างๆ กำลังขาดเงินทุนและยังขาดระบบการเก็บที่ดี จึงต้องปล่อยโอกาสให้เป็นของพ่อค้าจากเวียดนามไป

เจ้าหน้าที่สมาคมโรงสีของทั้งสองจังหวัดเปิดเผยเรื่องราวเหล่านี้กับหนังสือพิมพ์พนมเปญโพสต์ฉบับวันพุธ (16 ธ.ค.)

นายส่งหง (Song Hong) รองประธานสมาคมโรงสี จ.พระตะบอง กล่าวว่า พ่อค้าจากเวียดนามไปถึงตั้งแต่เดือน พ.ย.ที่ผ่านมา กว้านซื้อข้าวหอมดอกมะลิ (Phkar Malis) กับข้าวดอกลำดวน (Phkar Lamduon) ซึ่งเป็นข้าวคุณภาพดีของกัมพูชา

"เรากับพ่อค้าเวียดนามเสนอซื้อขาวจากชาวนาด้วยราคาเดียวกัน แต่เราซื้อได้ไม่มากเพราะขาดเงินทุนและขาดเทคโนโลยีที่ดีพอ (ในการเก็บ).. เมื่อไม่มีเงินก็ไม่มีการแข่งขัน" นายหงกล่าว

ไม่เพียงเท่านั้น ปัจจุบันพ่อค้าจากเวียดนามกำลังซื้อข้าวทุกชนิด แม้แต่ข้าวเปลือกที่เพิ่งเกี่ยวเสร็จใหม่ๆ ยังไม่ทันแห้ง ขณะที่พ่อค้าในท้องถิ่นซื้อได้เพียงข้าวที่ตากแดดจนเมล็ดแห้งแล้วเท่านั้น เนื่องจากไม่มีเครื่องอบแห้ง ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาในการเก็บ

"ตอนนี้ทุกๆ วันจะมีรถบรรทุกหลายร้อยคันนำข้าวคุณภาพดีของกัมพูชามุ่งไปยังชายแดนเวียดนาม (ที่อยู่ห่างออกไปหลายร้อยกิโลเมตร)" นายหงกล่าว

เจ้าหน้าที่ผู้นี้กล่าวว่าสมาคมโรงสีพระตะบอง มีโรงสีเป็นสมาชิกอยู่เพียงประมาณ 20 แห่ง สีข้าวได้พอป้อนความต้องการของตลาดท้องถิ่นเท่านั้น บางทีพอมีเหลือส่งออกบ้าง ปัจจุบันพระตะบองยังเป็นจังหวัดใหญ่อันดับสองของประเทศ ทั้งในแง่ความกว้างใหญ่ของพื้นที่และจำนวนประชากร

ในกรุงพนมเปญเองก็ยอมรับปัญหาการขาดแคลนโรงสีที่ทันสมัยและเทคโนโลยีในการจัดเก็บข้าวเพื่อจำหน่าย ซึ่งจะทำให้สามารถควบคุมการขึ้นลงของราคาข้าว เพื่อประโยชน์ของชาวนาได้

ตามรายงานของสื่อกัมพูชา การส่งออกข้าวในประเทศนี้ตกอยู่ในมือของพ่อค้าต่างชาติตลอดมา รวมทั้งพ่อค้าจากไทย มาเลเซียและสิงคโปร์ด้วย

เดือนที่แล้ว นายสุ่น จันทร (Sun Chanthon) รัฐมนตรีพาณิชย์เคยเปิดเผยแผนการที่จะจัดสร้างคลังเก็บข้าวขนาดใหญ่เอาไว้ส่วนกลาง เพื่อเก็บข้าวให้แน่ใจว่าจะมีพอสำหรับการบริโภคของประชากรราว 14 ล้านคนในแต่ละปี และสามารถล่วงรู้ปริมาณส่งออกได้ล่วงหน้าแน่ชัด

"เราคงต้องรอดูต่อไปว่าจะสามารถหาตลาดส่งออกข้าวของเราเองได้หรือไม่" นายเหมา ธุรา (Mao Thura) ผู้ช่วยรัฐมนตรีพาณิชย์กล่าว

รัฐมนตรีผู้นี้กล่าวว่าไม่ได้วิตกใดๆ กับการที่มีพ่อค้าจากเวียดนามข้ามแดนเข้าไปกว้านซื้อข้าวจากชาวนาถึงหมู่บ้านในจังหวัดที่ห่างไกล ทั้งนี้เนื่องจากรัฐบาลสามารถสั่งห้ามส่งออกข้าวได้ทุกเมื่อ ที่เห็นว่าอาจจะส่งผลทำให้เกิดการขาดแคลนในประเทศได้

ในเดือน มี.ค.ปีนี้ นายกรัฐมนตรีกัมพูชา สมเด็จฯ ฮุนเซน ได้สั่งห้ามส่งออกข้าวทุกชนิดเป็นเวลา 2 เดือน หลังจากราคาได้พุ่งขึ้นสูงในกรุงพนมเปญ ทำให้ราษฎรทั่วไปแตกตื่นเกรงว่าข้าวจะขาดตลาด จนทางการต้องนำข้าวในคลังออกบรรจุถุงจำหน่ายให้แก่ผู้มีรายได้น้อยในราคาต่ำ

เรื่องนี้เกิดขึ้นในขณะที่ทั่วโลกกำลังตื่นตระหนกว่า จะเกิดภาวะข้าวยากหมากแพง ผู้ส่งออกรายใหญ่รวมทั้งเวียดนามและอินเดียได้หยุดส่งออก หรือส่งออกอย่างจำกัด ทำให้เกิดขาดแคลนในตลาดโลก และราคาข้าวพุ่งขึ้นสูง

สำหรับชาวนาในกัมพูชา ฤดูเก็บเกี่ยวปลายปีนี้ขายข้าวได้ราคาดี และ ในระดับประเทศก็มองว่าเป็นเรื่องดีที่มีพ่อค้าจากเวียดนามเข้าไปซื้อข้าวจนถึงหมู่บ้าน

"เป็นเรื่องดีที่ชาวนาขายข้าวได้ราคาสูง เพราะว่าเราไม่มีสินเชื่อเพียงพอที่จะออกซื้อข้าวจากชาวนาและเราก็ไม่มีตลาดที่จะส่งออกอีกด้วย" นายเทส เอ็ธดา (Tes Ethda) ประธานสมาคมโรงสีแห่งชาติกัมพูชากล่าวกับพนมเปญโพสต์

เจ้าหน้าที่ผู้นี้กล่าวอีกว่า เป็นเรื่องดียิ่งขึ้นไปอีก ที่ความต้องการในตลาดต่างประเทศที่สูงขึ้น ช่วยให้ชาวนาขายข้าวได้ราคาดีและไม่ส่งผลกระทบต่อราคาข้าวที่จำหน่ายเพื่อการบริโภคในประเทศ เนื่องจากพ่อค้าเวียดนามมองหาเฉพาะข้าวหอมคุณภาพดี ขณะที่ท้องถิ่นต่างๆ บริโภคข้าวที่มีคุณภาพหลดหลั่นลงไป

ไม่เพียงแต่ จ.พระตะบองเท่านั้น ในกัมปงจาม (Kampong Cham) อู่ข้าวใหญ่ในเขตที่ราบภาคกลางโรงสีที่นั่นกำลังมีปัญหาเกี่ยวกับการเงิน ชาวนาที่กำลังเก็บเกี่ยวก็กำลังขายข้าวให้กับพ่อค้าจากเวียดนามและได้ราคาดีอีกด้วย

กัมปงจามมีโรงสีรวม 30 แห่ง นายสวร เคียง (Sour Khieng) รองประธานสมาคมโรงสีของจังหวัดกล่าวว่า โรงสีแห่งต่างๆ ไม่มีเงินมากพอ ออกกว้านซื้อข้าวคุณภาพดีไปเก็บเพื่อส่งออกและยังขาดที่เก็บ

"เมื่อฤดูเก็บเกี่ยวผ่านพ้นไป สมาคมของเราเก็บข้าวได้เพียงประมาณห้าหมื่นตัน เท่านั้น" นายเคียงกล่าว และย้ำว่าถ้าหากไม่มีพ่อค้าเวียดนามเข้าไปกว้านซื้อ ตลาดข้าวในประเทศก็อาจจะได้รับผลกระทบอย่างมากมาย

"ชาวเวียดนามชอบกินข้าวจากกัมพูชาเพราะว่าดีกว่า มีประโยชน์ต่อร่างกายมากกว่าข้าวที่เวียดนามปลูกเอง" เจ้าหน้าที่คนเดียวกันกล่าว

ตามรายงานของสื่อเวียดนามก่อนหน้านี้ ทุกๆ วันจะมีการขนข้าวหอมนับหมื่นๆ ตัน จากกัมพูชาข้ามพรมแดนเวียดนาม ตั้งแต่ จ.เตยนีง (Tay Ninh) ลองอาน (Long An) ด่งท๊าป (Dong Thap) จนถึง จ.อานยาง (An Giang) ที่อยู่ใต้ลงไป

ตามรายงานของกระทรวงเกษตรกัมพูชา เมื่อสิ้นฤดูเก็บเกี่ยวปลายปีนี้จะมีข้าวเปลือกเหลือบริโภคในประเทศราว 2.81 ล้านตัน ซึ่งจะสามารถสีเป็นข้าวสารได้ประมาณ 1.8 ล้านตัน .
กำลังโหลดความคิดเห็น