ASTVผู้จัดการรายวัน-- การนำเข้าสินค้าโดยรวมของเวียดนามในไตรมาสแรกของปีนี้ลดลงอย่างมากทั้งในเชิงปริมาณและมูลค่า แต่การนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยกลับไม่ได้ลด และยังมีทีท่าว่าจะขยายตัว ทั้งนี้เนื่องจากชาวเวียดนามให้ความนิยมในสินค้าไทยในฐานะเป็น "สินค้าคุณภาพ" แม้ว่าราคาจะแพงกว่าสินค้าประเภทเดียวกันที่ผลิตจากจีนก็ตาม
ตามตัวเลขของแผนกศุลกากรนครโฮจิมินห์เพียงที่เดียวในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ที่นั่นนำเข้าสินค้าจากไทยรวมเป็นมูลค่า 200 ล้านดอลลาร์ สินค้าหลักรวมทั้งผ้าผืน เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักร อุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ อุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ สินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไปรวมทั้งอาหาร ทั้งนี้เป็นรายงานของสำนักข่าวทางการ
สำนักข่าวเวียดนามเน็ตได้รายงานความเห็นของนักธุรกิจในนครโฮจิมินห์ว่า สินค้าประเภทอาหารจากไทยโดยทั่วไปนำเข้าทางบก ขณะที่สินค้นราคาแพงรายการต่างๆ นำเข้าทางเรือ เนื่องจากสองประเทศอยู่ไม่ไกลกัน การขนส่งสะดวกทุกประการ
ผู้เชี่ยวชาญในเวียดนามกล่าวว่า แนวโน้มที่สินค้าไทยจะไหลเข้าตลาดเวียดนามนั้นมีสูงมาก ในขณะที่การส่งออกไปยังตลาดยุโรปและอเมริกาลดลง อันเนื่องมาจากปัญหาเศรษฐกิจโลก ที่ทำให้ความอุปสงค์ที่ตลาดปลายทางลดต่ำลงในปีนี้
ไทยซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังมองหาตลาดส่งออกในภูมิเดียวกัน และเวียดนามซึ่งมีประชากรกว่า 86 ล้านคนเป็นตลาดที่มีศักยภาพ แต่สินค้าไทยมีคู่แข่งสำคัญคือ สินค้าจีนที่ราคาถูกกว่าแม้คุณภาพจะเทียบกันไม่ได้ก็ตาม
นางห่มง์ญุง (Hong Nhung) ซึ่งเป็นพนักงานของบริษัทต่างประเทศแห่งหนึ่งบอกกับ "เวียดนามเน็ท" ว่า เธอกับเพื่อนๆ จำนวนหนึ่งได้เปลี่ยนไปใช้ผงซักฟอกที่ผลิตในประเทศไทย เพราะว่ากลิ่นหอมกว่า ซักได้สะอาดดีกว่าและราคา "ไม่แพง"
ไม่เพียงเท่านั้นเธอกับเพื่อนๆ เห็นพ้องกันว่า พวกเครื่องสำอางที่ใช้ในชีวิตประจำวันที่ผลิตในประเทศไทย มีคุณภาพดีกว่ายี่ห้อเดียวกันที่ผลิตในเวียดนาม รวมทั้งแชมพูยี่ห้อแพนทีนกับเครื่องสำอางยี่ห้อออยล์ออฟโอเลย์ และสบู่อีกบางยี่ห้อ
นครโฮจิมินห์ที่มีประชากร 8 ล้านคนและเป็นศูนย์กลางการค้ากับการลงทุนทางภาคใต้ของประเทศ ซึ่งประชากรมีรายได้ต่อหัวสูงที่สุด วงการต่างๆ ในนครใหญ่นี้มีทัศนคติที่ดีต่อสินค้าไทยมานานแล้ว เพียงแต่มีราคาสูงกว่าสินค้าคู่แข่ง
แต่นางกวี่งจาง (Quynh Trang) ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ของห้างบิ๊กซีซูเปอร์มาร์ท Big C Supermart) กล่าวว่า แนวโน้มที่ชาวเวียดนามได้หันมาใช้สินค้าผลิตจากไทยเริ่มขึ้นในช่วงเทศการตรุษ (ปลาย ม.ค.-ต้น ก.พ.) ปีนี้ ส่วนห้างบิ๊กซีมีคำถามเกี่ยวกับคุณภาพของสินค้าที่ผลิตจากจีนมานานแล้ว จึงวางจำหน่ายสินค้าจากประเทศนี้น้อยมาก
ตามรายงานของเวียดนามเน็ท ปีนี้มีร้านค้าที่จำหน่ายเฉาะสินค้าไทยเปิดขึ้นอีกหลายแห่ง นางถูบา (Thu Ba) เจ้าของร้านค้าที่ตลาดอันด่ง (An Ding) ในเขตอำเภอที่ห้ากล่าวว่า เครื่องแก้วที่วางโชว์หน้าร้านเป็นสินค้าที่ผลิตจากไทย
เจ้าของร้านค้ารายนี้กล่าวว่า สินค้าไทยราคาสูงกว่าสินค้าที่ผลิตจากจีนราว 20% แต่ลูกค้าให้ความนิยมเนื่องจากคุณภาพดีกว่าอย่างเห็นได้ชัด
ตลาดอันด่งเป็นศูนย์การค้าส่งสินค้าจากจีนขนาดใหญ่ แต่ในขณะนี้ผู้ค้าจำนวนไม่น้อยได้หันมาค้าสินค้าจากไทยแทน เวียดนามเน็ทกล่าว
นางหง็อกแอ๋ง (Ngoc Anh) เจ้าของแผงขายกระเป๋าถือกับรองเท้าที่ตลาดอันด่งกล่าวว่า เนื่องจากแผงของเธอจำหน่ายสินค้าที่ผลิตจากไทยเท่านั้น จึงรักษาคุณภาพสินค้าเป็นอันดับแรก โดยลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นสาวทำงานกับนักศึกษา ตลอดจนวัยรุ่นที่มีกำลังซื้อทั่วไป
กระเป๋าถือจากประเทศไทยจำหน่ายราคา 190,000 ด่ง (อัตราแลกเปลี่ยน 17,700 ด่ง/ดอลลาร์) ต้องถือว่าไม่ถึงกับ "ถูก" เสียเลยทีเดียว แต่ก็ยังเป็นสินค้าขายดี
**สินค้าไทยซื้อง่ายขายคล่อง**
ผู้ค้าหลายรายกล่าวว่าสินค้าจากไทยได้เข้าสู่เวียดนามโดยหลายช่องทาง ทั้งที่ผ่านขบวนการนำเข้าอย่างถูกต้องโดยทางท่าเรือหรือท่าอากาศยาน กับการ "หิ้ว" ข้ามพรมแดนในรูปของนักท่องเที่ยว
"นายเอ็นทีเค" เจ้าของร้านค้าแห่งหนึ่งในโฮจิมินห์บอกกับเวียดนามเน็ทว่า การเดินทางไปประเทศไทยไม่ได้ใช้เงินมากมาย เมื่อไปถึงแล้วก็หาแหล่งซื้อสินค้าไม่ยาก จากนั้นก็หอบหิ้วใส่กระเป๋าเดินทางกลับเวียดนาม
เมื่อไปคราวละหลายๆ คนก็จะได้สินค้ากลับมามากขึ้น ร้านค้าของเขาจึงเต็มไปด้วยสินค้าจากไทยโดยไม่มีสินค้าจากจีนหรือที่ผลิตในท้องถิ่นปะปน
นายเหวียนดี่งนาม (Nguyen Dinh Nam) ผู้อำนวยการบริษัทนำเข้าสินค้าไทยแห่งหนึ่งกล่าวว่า ตอนนี้อะไรๆ ก็มักจะเป็น Made in Thailand ทั้งสิ้น กระทั่งไอศกรีมก็ยังนำเข้าจากไทยและขายดิบขายดี
ในบางท้องที่ไอศกรีมวอลล์ (Wall's) ยี่ห้อของไทย ได้เข้าแทนที่ไอศกรีมกิ๋งโด (Kinh Do) ไปเรียบร้อยแล้ว นี่คือยี่ห้อเก่าแก่และมีชื่อเสียงที่ชาวเวียดนามเคยชื่นชอบมาหลายชั่วคน
ตามตัวเลขของบริษัท MOLซึ่งเป็นบริษัทชิปปิ้งในโฮจิมินห์ ปีนี้สินค้านำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้นรวดเร็วมาก จาก 200 คอนเทนเนอร์ (20 ตันต่อคอนเทนเนอร์) ในเดือน ม.ค.2552 เป็น 400 คอนเทนเนอร์ในเดือน ก.พ. และเชื่อว่าตัวเลขจะเพิ่มขึ้นอีกมากในเดือน มี.ค. นี้ ส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค ผลไม้และเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ
แผนกควบคุมการตลาดของนครโฮจิมินห์กล่าวว่า ก่อนหน้านี้สินค้าจากไทยส่วนใหญ่ทะลักเข้าเวียดนามอย่างผิดกฎหมายผ่านด่านชายแดนในภาคกลางของประเทศโดยผ่านลาว กับอีกส่วนหนึ่งส่งเข้าผ่านด่านทางตะวันตกเฉียงใต้ผ่านแดนกัมพูชา
หน่วยงานนี้ได้เตือนด้วยว่า ภายใต้เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกเช่นนี้ เป็นไปได้สูงที่จะมีการนำเข้าสินค้าคุณภาพต่ำที่ผิดกฎหมายจากทั้งจีนและไทยเข้าเวียดนาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกเครื่องสำอาง ขนมขบเคี้ยว บุหรี่ หรือแม้กระทั่งสินค้าอิเล็คทอนิกส์ที่ลอกเลียนแบบต่างๆ.