xs
xsm
sm
md
lg

ส่งออกเสื้อผ้าทรุดฉันทนาเวียด 2 ล้านย่ำแย่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<CENTER><FONT color=#660099> ภาพแฟ้ม Reuters วันที่ 16 ต.ค.2549 คนงานหญิงกำลังทำงานที่โรงงานตัดเย็บแห่งหนึ่งในกรุงฮานอย นั่นคือช่วงปีที่อุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าส่งออกรุ่งเรืองสุดขีดและเวียดนามกำลังจะเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก แต่สัญญาณร้ายเริ่มขึ้นปลายปี 2551 ทั่วประเทศมีคนงานอยู่ในอุตสาหกรรมนี้ราว 2 ล้านคน </FONT></CENTER>

ASTVผู้จัดการรายวัน-- จนถึงเดือน มี.ค.นี้ บริษัทผลิตและส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปนับร้อยแห่งในเวียดนามกำลังอยู่ในสภาพย่ำแย่ เนื่องจากยอดสั่งซื้อลดลงฮวบ ส่งผลให้คนงานกว่า 2 ล้านคนในแขนงอุตสาหกรรมสำคัญนี้เผชิญกับการว่างงาน ถูกลดเวลาทำงาน หรือถูกลดค่าจ้างลง ทั้งหมดเป็นผลกระทบโดยตรงจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก

เมื่อยอดสั่งซื้อใหม่ๆ ลดลง ผู้ผลิต-ผู้ส่งออกเกือบทุกรายต้องหาทางลดต้นทุนลงอีกอย่างน้อย 10% และมีแนวโน้มว่าปีนี้จะเลวร้ายลงยิ่งกว่าเดิม เนื่องจากความต้องการในตลาดปลายทางสำคัญคือ สหรัฐฯ กับสหภาพยุโรปลดลงอย่างมาก ทั้งนี้เป็นรายงานล่าสุดของสมาคมเสื้อผ้าและสิ่งทอเวียดนาม (Vietnam Textile and Apparel Association) ที่เรียกสั้นๆ ว่า VITAS

ถึงแม้รัฐบาลจะใช้แผนกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่าประมาณ 6,000 ล้านดอลลาร์เพื่อรับมือเศรษฐกิจตกต่ำ แต่ก็ยังไม่มีมาตรการใดกระตุ้นแรงซื้อในตลาดต่างแดน ผู้ผลิต-ส่งออกหลายรายกล่าวว่าในช่วงกลางปี-ปลายปี 2552 นี้อุตสาหกรรมแขนงสำคัญของประเทศอาจจะต้องลดการผลิตลง 30-50% ซึ่งหมายถึงว่าจะต้องเลิกจ้างคนงานนับล้าน

การสั่งซื้อจากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกใหญ่ที่สุดสำหรับเสื้อผ้าจากเวียดนามลดวูบลงอย่างน่าใจหายตั้งแต่ปีที่แล้วเมื่อสถาบันการเงินขนาดใหญ่ล้มลง จุดชนวนวิกฤติการการเงินให้แผ่ลามไปทั่วโลก มูลค่าการค้าสองฝ่ายที่เคยพุ่งสูงลิ่วกลับกลายเป็นตัวเลขลบ

การค้าสองทางระหว่างเวียดนามกับสหรัฐฯ ปีที่แล้วมีมูลค่ารวมเกือบ 15,300 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 23.6% จากปี 2550 ทั้งนี้เป็นตัวเลขของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ

ในนั้นเวียดนามส่งออกมูลค่ารวม 12,600 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 19.6% และ นำเข้าจากสหรัฐฯ เพียง 2,670 ล้านดอลลาร์ แต่ขยายตัวเป็นอัตราสูงถึง 46.6%

เสื้อผ้าส่งออกและผลิตภัณฑ์สิ่งทอเป็นสินค้าส่งออกอันดับหนึ่งของเวียดนาม ทำรายได้ในตลาดสหรัฐฯ ถึง 5,270 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 19.97% จากปี 2550 รองลงไปเป็นผลิตภัณฑ์จากไม้ (1,460 ล้านดอลลาร์ เพิ่ม 18.5%) และ ผลิตภัณฑ์รองเท้า (1,210 ล้านดอลลาร์ขยายตัว 17.5%)
<CENTER><FONT color=660099> ในอุตสาหกรรมอื่นก็ไม่ได้ต่างกัน ภาพ AFP วันที่ 25 ก.พ.2552 คนงานจากต่างจังหวัดกำลังปฏิบัติงานที่ไซต์ก่อสร้างชานนครโฮจิมินห์ ภาคก่อสร้างเป็นเครื่องยนต์หลักตัวหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจซึ่งเมื่อปีที่แล้วขยายตัว 6.42%แต่ สถานการณ์ปีนี้ยิ่งเลวร้ายคนงานอาจว่างงานได้ทุกเมื่อ </FONT></CENTER>
ตามรายงานของ VITAS สถานการณ์กำลังเลวร้ายถึงขนาดว่า นักลงทุนชาวเวียดนามที่เป็นเจ้าของโรงงานจัดเย็บเสื้อผ้าส่งออกเกือบทั้งหมด กำลังหาทางขายกิจการให้แก่นักลงทุนต่างชาติที่เป็นเจ้าของกิจการ 100% ในอุตสาหกรรมแขนงนี้ เพื่อลดภาระต่างๆ ลง และคนงานยังคงมีงานทำแม้ว่าจะถูกลดค่าจ้างหรือลดเวลาทำงานลงก็ตาม

สมาคมฯ นี้กล่าวอีกว่า การหาตลาดส่งออกรองเป็นภาระเร่งด่วนที่สุดในปัจจุบัน ตลาดใหม่ๆ ที่มีโอกาสสูง รวมทั้งรัสเซีย ตะวันออกกลางและแอฟริกา และ เดือน ก.ย.ปีนี้ กำลังจะมีการจัดแสดงสินค้าเวียดนามในรัสเซีย หลังจากมูลค่าส่งออกเสื้อผ้าจากเวียดนามในตลาดนี้เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 700 ล้ายดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว

อย่างไรก็ตามเป็นการยากที่จะสกัดกั้นการเลิกจ้างและการลดคนงานของโรงงานต่างๆ ในระยะสั้นนี้ ในขณะที่กระทรวงงานสวัสดิการสังคมและทหารผ่านศึกทุพลภาพ ยอมรับว่าการจะสร้างงานให้ได้ 1.7 ล้านตำแหน่งตามที่ได้รับมอบหมายจากรัฐสภา (National Assembly) นั้น อาจจะเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากเศรษฐกิจในระดับโลกไม่เอื้ออำนวย

ตามรายงานของสำนักข่าวเวียดนามเน็ต รมว.กระทรวงแรงงานฯ นางเหวีนถิกิมเงิน (Nhuyen Thi Kin Ngan) กล่าวถึงเรื่องนี้ในสัปดาห์ต้นเดือน มี.ค. ระบุว่า รัฐสภาได้กำหนดตัวเลขนี้สำหรับปี 2552 ซึ่งเป็นไปได้ยาก ในขณะที่รัฐบาลตั้งเป้าการเติบโตทางเศรษฐกิจเอาไว้เพียง 6.5%
<CENTER><FONT color=#660099>และคนที่โชคร้ายก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  คนงานจากต่างจังหวัดสองคนนี้เดินทางออกจากไซต์ก่อสร้างแห่งหนึ่งในนครโฮ๗มินห์เพื่อกล้บบ้าน พวกเขาไม่มีคุณสมบัติอื่นใดที่จะทำงานในเมืองต่อไปได้ในยุคที่ การก่อสร้างกำลังตกต่ำ ภาพ AFP วันที่ 25 ก.พ.2552  </FONT></CENTER>
“ดิฉันแน่ใจว่าจะไม่สามารถบรรลุเป้าสร้างงานใหม่ให้ได้ 1.7 ล้านตำแหน่งในปีนี้” รมว.กระทรวงแรงงานฯ กล่าว

อย่างไรก็ตามรัฐบาลเวียดนามกำลังให้ความช่วยเหลือแก่โรงงานและสถานประกอบการที่กำลังประสบความยุ่งยากในการจ่ายเงินค่าจ้างพนักงานหรือคนงาน โดยจะให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ นอกจากนั้นกระทรวงฯ ยังได้รับเงินงบประมาณจากรัฐบาลอีกก้อนหนึ่ง สำหรับฝึกอบรมคนงานที่ว่างงานให้ประกอบอาชีพส่วนตัวได้

กระทรวงแรงงานฯ เวียดนาม กำลังเร่งเก็บข้อมูลที่จำเป็นจากระดับจังหวัดและท้องถิ่นต่างๆ เพื่อเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการและคนงาน ตามแผนการของรัฐบาล

ตัวเลขคาดการของบางหน่วยงานระบุว่า ตั้งแต่เศรษฐกิจโลกเริ่มส่งผลกระทบถึงประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคนี้ มีคนงานในเวียดนามว่างงานไปแล้วราว 400,000 คน โดยเป็นคนงานในแขนงตัดเย็บเสื้อผ้าส่งออกมากที่สุด

** ความพยายามของนครโฮจิมินห์**

นครโฮจิมินห์ที่มีประชากรกว่า 8 ล้านคน และเป็นแหล่งการจ้างงานใหญ่ที่สุด กำลังเผชิญปัญหาคนว่างงานอย่างรุนแรง ในปัจจุบันการหางานทำเป็นเรื่องยากที่สุด ทั้งนี้ยังไม่นับรวมกับจังหวัดรายรอบ คือ บิ่งซเวือง (Binh Duong) กับ ด่งนาย (Dong Nai) ซึ่งเป็นเขตการผลิตอุตสาหกรรมใหญ่ที่สุดของประเทศ
<CENTER><FONT color=#660099> คนว่างงานปรากฎหนาตาขึ้นทุกวันๆ ในนครใหญ่ศูนย์กลางเศรษฐกิจของประเทศ คนกลุ่มนี้กำลังดูประกาศที่สำนักงานจัดหางานนครโฮจิมินห์ ที่นี่กำลังหางานชั่วคราวให้กับทุกคน ช่วยลดค่าไฟฟ้า น้ำประปา และค่าเช่าบ้านเเพื่อให้รอดจากพายุใหญ่ที่ไปจากนอกประเทศ ภาพ AFP วันที่ 25 ก.พ.2552  </FONT></CENTER>
ตามรายงานของหนังสือพิมพ์แทงเนียน (Thanh Nien) เฉพาะในเมืองใหญ่ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจทางภาคใต้แห่งนี้ มีโรงงานอุตสาหกรรมแขนงต่างๆ จำนวน 21 แห่งกำลังพิจารณาปิดกิจการ เลิกจ้างหรือลดคนงานราว 20,000 คน

ทางการนครโฮจิมินห์ใช้วิธีการติดต่อตรงกับนายจ้างในแขนงบริการต่างๆ ที่ยังทรงตัวอยู่ได้และต้องการคนงาน รวมทั้งเป็นพนักงานเสิร์ฟในร้านอาหารและภัตตาคาร งานเซลส์กับงานการตลาด งานรับส่งสินค้า จนกระทั่งงานก่อสร้างตามไซต์งานต่างๆ ทั้งหมดเป็นงานชั่วคราวจนกว่าจะได้งานที่มีความเชี่ยวชาญแบบเดียวกับที่เคยทำมา

สหพันธ์แรงงานนครโฮจิมินห์กำลังหาความร่วมมือจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้แก่คนว่างงานกับครอบครัวที่กำลังลำบาก เช่น การช่วยลดค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ช่วยค่าเช่าบ้าน เจ้าหน้าที่กำลังลงพื้นที่สำรวจข้อมูลต่างๆ เพื่อให้การช่วยเหลือได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สหพันธ์แรงงานฯ ซึ่งเป็นองค์กรมหาชนของพรรคคอมมิวนิสต์กล่าวว่า ตั้งแต่ปลายปี 2551 เป็นต้นสามารถช่วยให้คนงานมีงานทำแล้วกว่า 17,000 คน.
กำลังโหลดความคิดเห็น