xs
xsm
sm
md
lg

ในพม่าไม่ต่างกันสาวหม่องนับพันๆ กำลังจะว่างงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<CENTER><FONT color=#660099> ภาพรอยเตอร์ถ่ายวันที่ 4 มี.ค.2552 คนงานหญิงเดินเกาะกลุ่มมุ่งสู่โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าแห่งหนึ่งชานกรุงพนมเปญ ชะตากรรมของพวกเธอก็ไม่ต่างไปจากคนงานในพม่า ค่าแรงสูงกว่าเล็กน้อย แต่ยุครุ่งโรจน์กำลังริบหรี่ลงเรื่อยๆ  </FONT></CENTER>

ASTVผู้จัดการรายวัน—ค่าแรงในอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าส่งออกของพม่าเฉลี่ยเดือนละ 30 ดอลลาร์เศษเท่านั้น แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้อุตสาหกรรมนี้รอดพ้นผลกระทบจากวิกฤติการเงินโลก คนงานหลายร้อยคนถูกเลิกจ้าง ถูกลดค่าแรงและอีกนับพันๆ กำลังจะว่างงานติดตามมา ถ้าสถานการณ์ตลาดโลกไม่กระเตื้องขึ้น

ค้าจ้างแรงงานในพม่าที่เพิ่งจะเปิดเผยกันนี้ต่ำที่สุด เมื่อเทียบกับค่าจ้างในอุตสาหกรรมเดียวกันของประเทศเพื่อนบ้านย่านนี้ ไม่ว่าจะเป็นในเวียดนาม หรือแม้กระทั่งในบังกลาเทศที่อยู่ติดกันแต่ไม่ว่าค่าแรงจะต่ำติดดินเพียงไร อุตสาหกรรมนี้ยอมรับว่าการที่ถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจโดยประเทศตะวันตกนั้นทำให้สูญเสียโอกาส

แต่นั่นก็ยังไม่ใช่ทั้งหมดที่เป็นปัญหา

สหรัฐฯ กับสหภาพยุโรปซึ่งซื้อเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์สิ่งทอจากประเทศกำลังพัฒนามากที่สุด จะไม่อนุญาตให้นำเข้าสินค้าชนิดใดจากพม่า เป็นการลงโทษการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลทหารและการไม่ยอมปฏิรูปการเมืองไปสู่ระบอบประชาธิปไตย หลังครองอำนาจในประเทศนี้มาเกือบครึ่งศตวรรษ ตั้งแต่ได้รับเอกราชจากอังกฤษ

อุตสาหกรรมกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าส่งออกของพม่าที่มีขนาดไม่ใหญ่ไม่โต กำลังอยู่ใต้วิกฤติไม่ต่างกับในประเทศเพื่อนบ้าน คำสั่งซื้อจากตลาดเฉพาะ (niche market) ต่างๆ ลดลง ทำให้ผู้ประกอบการต้องลดการผลิต ซึ่งหมายถึงว่าการเลิกจ้างกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

อุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าส่งออกในพม่าเริ่มซบเซาลงมาเป็นอันดับดับตั้งแต่ปี 2547-2548 อันเป็นผลจากการคว่ำบาตรของโลกตะวันตกโดยตรง แต่ก็ยังมีนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศจำนวนหนึ่งได้ใช้ค่าแรงที่ต่ำกว่าเป็นประโยชน์ในการผลิตเสื้อผ้ากับผลิตภัณฑ์อื่นๆ ส่งขายตามคำสั่งซื้อจากตลาดปลายทางซึ่งส่วนใหญ่เป็นตะวันออกกลาง ยุโรปตะวันออก อีกส่วนหนึ่งจากญี่ปุ่นและเกาหลี

ตามรายงานของสมาคมผู้ผลิตเสื้อผ้า (Garment Manufacturers’ Association) ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมนี้ในพม่า ทำทุกอย่างครบวงจรไม่ต่างกับโรงงานในประเทศอื่นๆ ตั้งแต่การตัดผ้าที่นำเข้าหรือกำหนดโดยผู้สั่งซื้อ ตัดตามดีไซน์ เย็บ และบรรจุหีบห่อตามแพ็คเกจที่ผู้สั่งซื้อต้องการ ซึ่งเรียกกันว่า CPM (cutting, manufacturing and packaging) ผู้ประกอบการหลายรายกล่าวกับ นิตยสารข่าวรายสัปดาห์เมียนมาร์ไทมส์
<CENTER><FONT color=#660099> คนงานหญิงในโรงงานตัดเย็บแห่งหนึ่งของกรุงย่างกุ้ง ทุกคนมีชะตากรรมร่วมกับคนงานหญิงในอุตสาหกรรมเดียวกันนี้ในประเทศเพื่อนบ้าน ค่าแรงที่ต่ำกว่าก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้  </FONT></CENTER>
โฆษกของสมาคมนี้กล่าวว่า สถานการณ์โลกในขณะนี้อาจจะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าในพม่า ด้วยเหตุผลสำคัญคือ ค่าแรงที่ถูกกว่าในประเทศอื่นๆ คือเดือนละ 35 ดอลลาร์เท่านั้นเทียบกับค่าจ้างเฉลี่ยของคนงานในประเทศจีน 100 ดอลลาร์ต่อเดือน ในเวียดนาม 80 ดอลลาร์ และ 45 ดอลลาร์ในบังกลาเทศ

โรงงานส่วนใหญ่จะอยู่ในกรุงย่างกุ้งซึ่งส่งออกผ่านท่าเรือที่นั่น หรือ จะส่งออกทางอากาศผ่านท่าอากาศยานก็สะดวก

"ถ้าหากสถานการณ์ทั้งหลายทั้งปวงดีขึ้น รวมทั้งการคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ ด้วย หรือสถานการณ์โลกเริ่มคืนสู่สภาพปกติ ก็จะมีโอกาสสูงที่นักลงทุนต่างชาติจะพิจารณาทุ่มเงินทุนเข้าสู่อุตสาหกรรมของพวกเรา ซึ่งในปัจจุบันเรามีแรงงานราคาถูกที่สุดและแรงงานที่ฝีมือดีที่สุดไว้รอรับ" โฆษกสมาคมฯ ผู้หนึ่งกล่าว

อย่างไรก็ตามในปัจจุบันโรงงานต่างๆ เริ่มลดการผลิตลง ผู้ประกอบการหลายต่อหลายรายได้บอกกับนิตยสารข่าวฉบับนี้ว่า โรงงานแห่งต่างๆ กำลังหันไปมองตลาดในประเทศเพื่อชดเชยกับคำสั่งซื้อที่ลดลง หลังจากที่พึ่งพาตลาดส่งออกในต่างแดนมาจนถึงสิ้นปี 2551 และแนวโน้มต่างๆ เริ่มเปลี่ยนไปตั้งแต่ปีใหม่

นายเต็งวิน (U Thein Win) กรรมการผู้จัดการบริษัทกอนโดการ์เมนท์ (Kyondoe Garment Manufacturing) บอกกับเมียนมาร์ไทมส์ว่า โรงงานของบริษัทฯ ผลิตและส่งออกไปตะวันออกกลางกับยุโรปตะวันออกเช่นเดียวกัน แต่ที่ผ่านมาต้องลดการผลิตลงราว 30%

"เรากำลังไปได้ดีที่เดียวในช่วงเดือน ต.ค. (2551) ลูกค้าในโพ้นทะเลยอมรับในผลิตภัณฑ์ของเราที่สาสามารถทำได้ถึงมาตรฐานที่กำหนด หลายรายได้เพิ่มยอดสั่งซื้อ จนกระทั่งเราต้องคิดถึงแผนการขยายการผลิตในเดือน ก.พ.ปีนี้ แต่สถานการณ์ได้เปลี่ยนไป ลูกค้าต่างประเทศลดการสั่งซื้อลง บางรายสั่งงดคำสั่งซื้อไปอย่างทันทีทันใด ยอดขายหล่นวูบลง 30% ดังนั้นเราก็จะต้องเปลี่ยนนโยบายและยุทธศาสตร์เพื่อให้อยู่ได้ เพื่อให้มีหลักประกันว่าเราจะอยู่ได้ในระยะยาว" นายวินกล่าว

"แม้ว่าเราจะไม่ได้ทำผิดอะไร แต่ก็ต้องยอมรับ ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย ได้ส่งผลถึงพวกเรา" ผู้ประกอบการรายเดียวกันกล่าว

บริษัทกอนโดการ์เมนท์เคยจ้างคนงานที่มีฝีมือกว่า 300 คน ปัจจุบันเหลืออยู่เพียง 220 คน ก่อนหน้านี้ผลิตสินค้าพวกชุดกีฬา เช่น กางเกงสำหรับนักกระโดด และ สำหรับกีฬาประเภทลู่อื่นๆเดือนละ 40,000-50,000 ชิ้น ปัจจุบันต้องลดลงเหลือเพียง 30,000 ชิ้นต่อเดือน

บริษัทเดียวกันนี้เคยผลิตเสื้อกันฝนเดือนละกว่า 12,000 ชิ้นปัจจุบันลดลงเหลือแค่ 6,000 ชิ้นเท่านั้น รายการหลังนี้ลดลงครึ่งต่อครึ่ง

โฆษกสมาคมฯ ผู้หนึ่งกล่าวว่าโรงงานทุกแห่งตกอยู่ใต้สถานการณ์เดียวกัน แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีแห่งใดปิดตัวลง แต่ผู้ประกอบการอีกรายหนึ่งกล่าวว่า โรงงานต้องลดเวลาการทำงานของคนงานลงเหลือเพียงวันละ 8 ชั่วโมง ซึ่งเท่ากับจำนวนชั่วโมงที่นิคมอุตสาหกรรมในกรุงย่างกุ้งสามารถให้บริการกระแสไฟฟ้าได้

"โดยปกติแล้วทางการสามารถให้บริการกระแสไฟฟ้าแก่นิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ได้เพียงวันละ 8 ชั่วโมง ถ้าเราจะต้องผลิตนานกว่านั้นก็จะต้องซื้อน้ำมันดีเซลเองและเดินเครื่องปั่นไฟ แต่ตอนนี้ยอดสั่งซื้อลดลงเราไม่สามารถจะแบกรับต้นทุนจากน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นได้ เราจึงต้องเปิดการผลิตเฉพาะในช่วงที่มีไฟฟ้าใช้เท่านั้น" เจ้าของโรงงานคนเดิมกล่าว

ผู้ประกอบการหลายรายกล่าวทำนองเดียวกันว่า เฉพาะหน้านี้ทำได้เพียงอย่างเดียวคือ ลดการผลิตลงเพื่อให้อยู่ได้ ขณะเดียวกันก็พยายามรักษาแรงงานที่ฝีมือดีเอาไว้ รอวันที่เศรษฐกิจโลกจะฟื้นกลับคืนสู่ภาวะปกติ.
กำลังโหลดความคิดเห็น