xs
xsm
sm
md
lg

พม่าสร้างทางรถไฟเชื่อมเมืองท่าเบงกอล-จีน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<CENTER><FONT color=6600099> แผนที่แสดงเส้นทางรถไฟพม่าในปัจจุบันโดยสังเขป เมื่อสร้างส่วนหนึ่งความราว 400 กม.เศษ ไปเชื่อมเมืองสิตต่วย และจีนช่วยสร้างอีกช่วงหนึ่งจากลาเฉียว (Lashio) ไปจรดชายแดน ก็จะเกิดทางรถไฟออกสู่ทะเลตะวันตกจากมณฑลหยุนหนัน  </FONT></CENTER>

ASTV ผู้จัดการรายวัน-- รัฐบาลทหารพม่าได้ประกาศโครงการก่อสร้างทางรถไฟระยะทาง 480 กิโลเมตรเชื่อเมืองท่าสิตต่วย (Sittwe) ริมทะเลเบงกอลในรัฐยะไข่ (Rakhine) ไปต่อเข้ากับทางรถไฟหลักของประเทศทางฝั่งตะวันตกแม่น้ำอิรวดี ใกล้กับเมืองพุกาม (Bagan) ซึ่งนับเป็นครั้งแรก

เมืองท่าดังกล่าวเป็นต้นทางระบบท่อส่งก๊าซและน้ำมันดิบของจีน ที่จะเริ่มการก่อสร้างปลายปีนี้

เมื่อสร้างแล้วเสร็จจากเมืองท่าริมทะเลเบงกอล ก็จะสามารถเดินทางเชื่อมต่อไปตามทางรถไฟสายปัจจุบันจนถึงเมืองลาเฉียว (Lashio) ในรัฐชานตะวันออก ซึ่งอยู่ห่างจากชายแดนจีนเพียงประมาณ 100 กม.

รายงานก่อนหน้านี้ระบุว่าจีนได้ตกลงจะช่วยพม่าสร้างทางรถไฟส่วนที่เหลือไปยังชายแดนมณฑลหยุนหนัน และทางรถไฟจะมีบทบาทสำคัญในการขนส่งสินค้า

ถ้าหากทุกอย่างเป็นตามแผนการในระยะ 10 ปีข้างหน้าทางรถไฟสายนี้ก็จะมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ เป็นครั้งแรกที่จีนจะสามารถออกสู่ทะเลตะวันตกอันหมายถึงมหาสมุทรอินเดียได้ด้วยการขนส่งระบบราง

หนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมาร์รายงานก่อนหน้านี้ ว่ารัฐมนตรีกระทรวงที่เกี่ยวข้องได้เดินทางไปยังเมืองสิตต่วยในเดือนม.ค.ที่ผ่านมา และได้เปิดเผยโครงการก่อสร้างทางรถไฟดังกล่าว ซึ่งกำลังจะเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้แก่ระบบการขนส่งในอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง

ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ "ย่างกุ้งไทมส์" (Yangon Times) ฉบับภาษาพม่า "เมื่อการก่อสร้างโครงการเสร็จสมบูรณ์การขนส่งเชื่อมต่อรัฐยะไข่ที่มีประชากรกว่า 3 ล้านคนจะช่วยพัฒนาการขนส่งสินค้าได้อย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเชื่อต่อกับประเทศเพื่อนบ้านคือบังกลาเทศกับอินเดีย"

ทางรถไฟจะพาดผ่าน 6 ตัวเมืองสำคัญในรัฐดังกล่าว รวมทั้งมร๊อคอู (Mrauk U) เมืองเก่าอายุนับพันปีซึ่งเป็นปลายทางท่องเที่ยวสำคัญในปัจจุบัน หนังสือพิมพ์ฉบับเดียวกันกล่าว

ปัจจุบันสามารถเดินทางไปยังเมืองสิตต่วยได้ทั้งทางบก ทางเรือและทางเครื่องบิน ในปี 2539 รัฐบาลได้สร้างทางหลวงเชื่อเมืองสิตต่วยเข้ากับระบบทางหลวงไปยังกรุงย่างกุ้ง หลังจากนั้นก็ได้สร้างทางหลวงอีกสายหนึ่งเชื่อมต่อรัฐยะไข่กับเขตอิรวดี แต่ยังไม่เคยมีทางรถไฟไปถึงที่นั่น

ตามสถิติของทางการปัจจุบันทั่วประเทศพม่ามีทางรถไฟความยาวรวมกัน 6,549 กม. เพิ่มขึ้น 46% จากเมื่อ 21 ปีก่อน เทียบกับปี 2531 (ที่รัฐบาลทหารชุดปัจจุบันขึ้นครองอำนาจ) ที่มีอยู่ 4,470 กม.
<CENTER><FONT color=#660099> หัวรถจักรแปดคันแรกไปถึงท่าเรือต้าเหลียน (Dalian) มณฑลส่านตง (Shandong) เตรียมนำลงเรือส่งมอบให้การรถไฟพม่า เป็นลอตที่แรกจากจำนวนยี่สิบคันที่สั่งซื้อใหม่เมื่อปี 2549 อีก 8 คันในลอตที่สองส่งถึงท่าเรือย่างกุ้งในเดือน ม.ค.ปีนี้  </FONT></CENTER>
ปัจจุบันการรถไฟพม่ามีขบวนโดยสารเพิ่มขึ้นจาก 229 เป็น 379 ขบวนกับรถสินค้าจาก 18 เป็น 17 ขบวน มีสถานีรถไฟ 805 แห่งทั่วประเทศ เพิ่มขึ้นจากเพียง 318 แห่งเมื่อปี 2531 แต่ละวันมีผู้โดยสารใช้บริการรถไฟกว่า 100,000 คน หนังสือพิมพ์ฉบับเดียวกันระบุ

แผนการก่อสร้างทางรถไฟสายใหม่ของรัฐบาลทหารพม่า ยังมีขึ้นพร้อมๆ กับที่รัฐบาลบังกลาเทศประกาศสร้างทางรถไฟจากเมืองค๊อกซ์บาซาร์ (Cox Basaar) ไปเชื่อมชายแดนพม่าในรัฐยะไข่ เพื่อเปิดเส้นทางขนส่งสู่ประเทศนี้ และสามารถต่อเชื่อมไปจนถึงจีนได้ในอนาคต

รัฐบาลอินเดียประกาศก่อนหน้านี้หลายปีเกี่ยวกับแผนการสร้างทางรถไฟจากมิโซรัม (Mizorum) ไปเชื่อมชายแดนพม่าในรัฐยะไข่ เพื่อเปิดการขนส่งระบบรางในชมพูทวีปเข้ากับจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในทศวรรษข้างหน้า

รัฐมนตรีกระทรวงขนส่งบังกลาเทศได้เดินทางเยือนจีนในสัปดาห์ต้นเดือน ก.พ. และได้หารือเรื่องนี้กับฝ่ายจีน เพื่อจัดตั้ง "โครงการทางรถไฟมิตรภาพจีน-พม่า-บังกลาเทศ" ขึ้นมา และบังกลาเทศได้เสนอแผนการนี้ต่อรัฐบาลพม่าแล้ว

สำหรับรัฐบาลจีนทางรถไฟที่จะเกิดขึ้นใหม่นี้มีความหมายสำคัญทางยุทศาสตร์อย่างยิ่ง สอดคล้องกับความปรารถนายิ่งยวดในการหาทางออกสู่มหาสมุทรอินเดียจากมณฑลหยุนหนัน

เคยมีรายงานก่อนหน้านี้ส่ารัฐบาลจีนได้เสนอโครงการตัดถนนกับสร้างทางรถไฟให้พม่า เพื่อออกสู่ทะเลเบงกอลผ่านพม่าแต่หลังจากนั้นก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ อีก

ปีที่แล้วบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของจีนกับรัฐบาลทหารพม่าได้เซ็นสัญญาซื้อขายก๊าซที่ผลิตจากแปลง A1 กับ A3 ในเขตนอกชายฝั่งเมืองสิตต่วย ต่อมาก็ได้เซ็นสัญญาอีกฉบับหนึ่งเพื่อสร้างท่อขนส่งก๊าซพร้อมกับท่อขนส่งน้ำมันดิบ ที่จีนจะนำเข้าจากตะวันออกกลาง

ระบบท่อดังกล่าวยิ่งทำให้ระบบทางหลวงกับการขนส่งระบบรางจากจีนผ่านพม่ามีความสำคัญมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพื่อลดความเสี่ยงไม่ต้อขนน้ำมันดิบและสินค้าทางเรือโดยแล่นผ่านช่องแคบมะละกาอีกต่อไป

จีนอยู่ใกล้ชิดกับการพัฒนาขนส่งระบบรางในพม่าตลอดหลายปีมานี้ รวมทั้งเป็นผู้สนับสนุนจัดหาจัดจ้าง จำหน่ายหัวรถจักรดีเซลให้แก่การรถไฟพม่าในราคามิตรภาพ
<CENTER><FONT color=#660099>  สำหรับพม่า จีนทำตัวเป็นเจ้าบุญทุ่มมาตลอด เป็นผู้สนับสนุนหลักการพัฒนาระบบรางในพม่า ผลประโยชน์ก็คือ ขุมก๊าซธรรมชาติมหาศาลในอ่าวเบงกอล กับทางรถไฟ-รถยนต์ออกสู่มหาสมุทรอินเดีย </FONT></CENTER>
ในเดือน พ.ย.ปีที่แล้วว่า หัวรถจักรลอตใหม่จำนวน 8 คันจากจีน ได้ไปถึงท่าเรือย่างกุ้ง และนำเข้าใช้การแล้ว และในเดือน ม.ค.ปีนี้ฝ่ายจีนก็ได้ส่งมอบหัวรถจักรให้พม่าอีก 8 คันเป็นลอตที่สอง ทั้งนี้เป็นรายงานของนิวไลท์ออฟเมียนมาร์ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ของรัฐบาล

หัวรถจักรทั้งหมดส่งตรงไปจากโรงงานเมืองต้าเหลียน (Dalian) ในมณฑลส้านตง (Shandong) ซึ่งเป็นของบริษัท Yunnan Machinery & Equipment Co (Import and Export) แห่งมณฑลหยุนหนัน
รัฐบาลพม่าได้สั่งซื้อหัวรถจักรรุ่นใหม่ ติดเครื่องยนต์แคตเตอร์พิลลาร์ขนาด 2,000 แรงม้าจากจีนรวม 20 คัน

ตามรายงานของนิตยสารข่าวเมียนมาร์ไทมส์ ในปีงบประมาณ 2550-2551 ที่สิ้นสุดลงในเดือน มี.ค.2551 มูลค่าการค้าระหว่างพม่ากับจีนขยายตัวถึง 60% เป็น 2,400 ล้านดอลลาร์ เทียบกับ 1,500 ล้านดอลลาร์ในปีงบประมาณก่อนหน้านั้น ทำให้จีนเป็นคู่ค้าใหญ่อันดับสองรองจากไทย

ตามตัวเลขของกระทรวงการค้า พม่าเป็นฝ่ายขาดดุลการจีนมาตลอด และมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 500 ล้านดอลลาร์ในปีงบประมาณที่ผ่านมา เนื่องจากการหลั่งไหลของสินค้าอุปโภคบริโภค

พม่าส่งออกสินค้าการเกษตร ปลา ไม้ซุง อัญมณี และแร่ธาตุต่างๆ ขณะเดียวกันก็นำเข้าเครื่องจักรเครื่องกล อุปกรณ์ไฟฟ้า อาหารสำเร็จรูป กับสินค้าอุปโภคบริโภคทั้งหลาย.
กำลังโหลดความคิดเห็น