xs
xsm
sm
md
lg

เขมรอัดฉีดโรงสีประเดิมส่งออกต้นปี 200,000 ตัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<CENTER><FONT color=#cc00cc> ลืมตาอ้าปาก? -- ภาพแฟ้มรอยเตอร์ถ่ายวันที่ 8 ส.ค.2551 ชาวนาใน จ.ตะแกว (Takeo) ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงพนมเป็นไปทางทิศใต้ราว 80 กม.ติดชายแดนเวียดนามกำลังเร่งไถและปักดำข้าวนาปีให้ทันฤดูกาล ยอดส่งออกไปนี้คาดว่าจะมากกว่าปีที่แล้วกว่าเท่าตัวเป็นกว่า 2 ล้านตัน เอกชนในกัมพูชากำลังเตรียมส่งออกข้าวลอตแรกปีนี้จำนวน 200,000 ตัน. </FONT></CENTER>

ASTVผู้จัดการรายวัน -- ทางการกัมพูชาได้สนับสนุนสมาคมโรงสีของประเทศเป็นเงินกว่าสิบล้านดอลลาร์ เพื่อให้สามารถออกซื้อข้าวจากเกษตรกรชาวนาได้มากขึ้น ซึ่งสมาคมกล่าวว่า ปีนี้โรงสีแห่งต่างๆ จะส่งออกได้มากขึ้นถึง 10 เท่าตัว และจะทำให้ยอดส่งออกข้าวของประเทศเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 2 ล้านตัน หรือกว่า 2 เท่าตัวจากปีที่แล้ว

รัฐมนตรีของกัมพูชา กล่าวว่า โรงสีแห่งต่างๆ ทั่วประเทศ และภาคเอกชนส่วนอื่นๆ กำลังเตรียมการส่งออกข้าวลอตแรกกว่า 200,000 ตันในต้นปีนี้

ต้นเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลได้มอบเงินทุนพิเศษ 15 ล้านดอลลาร์ให้แก่สมาคมโรงสีกัมพูชาผ่านธนาคารพัฒนาชนบท (Rural Development Bank) ของรัฐบาล ในนั้น 12 ล้านเป็นเงินงบประมาณของรัฐ ที่เหลือเป็นเงินสมทบของ RDB เพื่อให้ซื้อข้าวเก็บ ลดการส่งออกที่ไม่เป็นระบบในฤดูเก็บเกี่ยวต้นปี

ตามรายงานของเอเคพี (Agence Kampuchea-Presse) ซึ่งเป็นสำนักข่าวของรัฐบาล นอกจากจะได้รับเงินสนับสนุนแล้ว ปีที่ผ่านมา ยังมีการลงทุนซื้อเครื่องจักรสีข้าวใหม่ๆ จำนวนมาก รวมทั้งลงทุนด้านยุ้งฉางข้าวตามโรงสีขนนาดใหญ่ซึ่งจะทำให้สีข้าวได้มากขึ้น คาดว่าโรงสีต่างๆ จะสามารถส่งออกได้ 200,000 ตัน เพิ่มขึ้นจากประมาณ 20,000 ตันเมื่อปีที่แล้ว

รัฐบาลได้มอบนโยบายให้สมาคมโรงสีฯ เก็บซื้อข้าวเข้าสต๊อกให้ได้ 500,000 ตัน ในปี 2552 นี้ เพิ่มขึ้นจาก 400,000 ตันในปีที่ผ่านมา

ตามรายงานของสื่อในกัมพูชาฤดูกาลผลิตปลายปีที่แล้ว จนถึงปัจจุบันทั่วประเทศผลิตข้าว (สาร) ได้ประมาณ 7 ล้านตัน และรัฐบาลตั้งเป้าจะส่งออกให้ได้ปีละ 3-4 ล้านตันในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ขณะที่กำลังขยายการชลประทานออกไปอย่างกว้างขวาง

“กัมพูชามีขีดความสามารถในการแข่งขัน และกำลังผลักดันให้ชาวนาต้องผลิตข้าวให้ได้มากขึ้น" ขณะที่ไทยกับเวียดนามส่งออกข้าวระหว่าง 5-10 ล้านตันตามลำดับ หนังสือพิมพ์แคมโบเดีย เดลี อ้างคำกล่าวของสมเด็จฯ ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาปลายเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา

นายจัน สะรุน (Chan Sarun) รัฐมนตรีเกษตร ป่าไม้และประมง กล่าวในคราวเดียวกันว่าปี 2551 โรงสีทั่วประเทศซื้อข้าวฤดูนาปีรวมกันได้ 7 ล้านตัน ในนั้น 3 ล้านตันเป็นข้าวเหลือบริโภคสำหรับส่งออก คาดว่ายอดส่งออกจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 8 ล้านตันต่อปีตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นไป

รมว.เกษตรฯ กล่าวอีกว่า ภาคเอกชนของประเทศกำลังเตรียมการส่งออกข้าวช่วงต้นปีกว่า 200,000 ตันไปยังเยอรมนี มาเลเซีย บรูไน กับ ซาอุดีอาระเบีย

ช่วงที่ผ่านมาการส่งออกข้าวต้องพึ่งพาผู้ค้าชาวต่างชาติ ขณะเดียวกัน ก็มีการซื้อขายตรงข้ามแดนกับเวียดนาม ซึ่งยากในการตรวจเช็คปริมาณซื้อขายแท้จริง แต่เชื่อว่าข้าวที่ค้าขายข้ามพรมแดนมีปริมาณนับแสนๆ ตันต่อปี

ยังไม่มีรายละเอียดอื่นใดเกี่ยวกับแผนการส่งออกข้าวของกัมพูชาในปีนี้ หลังจากเมื่อปีที่แล้วรัฐบาลประกาศแผนการอันทะเยอทะยานที่จะก้าวขึ้นเป็นประเทศส่งออกข้าวรายใหญ่ เทียบเคียงกับประเทศเพื่อนบ้านคือ ไทยกับเวียดนาม ซึ่งเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 และ 2 ของโลก

พม่าซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นประเทศส่งออกข้าวมากเป็นอันดับหนึ่ง ก็ได้ประกาศเป้าส่งออกปีละ 3 ล้านตัวในไม่กี่ปีนี้ ในขณะที่ตัวเลขของทางการ ระบุว่า ปีงบประมาณปัจจุบันตั้งแต่ต้นปี 2551 จนถึงสิ้นเดือน มี.ค.นี้ ยอดส่งออกของประเทศจะมีประมาณ 500,000 ตัน ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์ เทียบกับประมาณ 20,000 ตันในปีงบประมาณ 2549-2550

ยังไม่มีรายละเอียดอื่นๆ เกี่ยวกับการส่งออกข้าวของพม่า แต่นายกรัฐมนตรี พล.อ.เต็งเส่ง (Thein Sein) ได้เปิดเผยปลายปีที่แล้วว่า รัฐบาลได้อนุญาตให้บริษัทเอกชนต่างๆ ส่งออกข้าวได้อีกครั้งหนึ่งตั้งแต่เดือน พ.ย.รวมทั้งอนุญาตให้ค้าข้าวข้ามพรมแดนเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีอีกด้วย

สื่อของทางการรายงานก่อนหน้านี้ ว่า ช่วงสองเดือนสุดท้ายของปี 2551 ทั้งประเทศส่งออกข้าวอีกราว 20,000 ตัน ขณะที่ผู้ส่งออกพม่าจำหน่ายข้าวในตลาดโลกเพียง 260 ดอลลาร์ต่อตัน เทียบกับข้าวเวียดนามซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญของข้าวไทย ที่จำหน่ายในราคาเฉลี่ย 350 ดอลลาร์ต่อตัน

พายุจากทะเลเบงกอลลูกหนึ่งที่พัดเข้าทำลายนาข้าวในเขตที่ราบปากแม่น้ำอิรวดีต้นเดือน พ.ค.ปีที่แล้ว ได้ทำให้การส่งออกข้าวของพม่าหยุดชะงักลง หลังส่งจำหน่ายได้ประมาณ 20,000 ตันในช่วงต้นปี

อย่างไรก็ตาม สื่อในพม่า รายงานว่า พายุที่นำฝนตกหนักและอุทกภัยพัดเข้าทำลายเขตที่ราบปากแม่น้ำ กลับทำให้การทำนา ในเขตอู่ข้าวสำคัญแห่งอื่นๆ ของประเทศได้ผลผลิตมากขึ้น รวมทั้งในเขตมัณฑะเลย์ (Mandalay) ทางภาคเหนือ เขตพุกาม (Bagan) ที่อยู่ใกล้กัน กับในแคว้นสะกาย (Sagaing) ทางตะวันตกเฉียงเหนือซึ่งมักจะเกิดภัยแห้งแล้งทุกปี

รัฐบาลทหารอนุญาตให้บริษัทเอกชนราบ 20 แห่ง ค้าขายข้าวข้ามแดนได้ โดยต้องเป็นข้าวที่เหลือบริโภคในเขตอิรวดี เขตย่างกุ้ง กับเขตพะโค (Bago) เท่านั้น ซึ่งอาณาบริเวณดังกล่าวอยู่ใกล้กับชายแดนติดกับไทยมากที่สุด

ลาวเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีแผนการจะเริ่มเก็บข้าวเข้าคลังส่วนกลางตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป เพื่อให้ตรวจสอบปริมาณข้าวทั้งหมดได้ ให้เพียงพอสำหรับบริโภคภายในและส่งออกส่วนที่เหลือ รัฐบาลมีแผนการที่จะเพิ่มการผลิตข้าว เพื่อก้าวขึ้นเป็นประเทศส่งออกข้าวเช่นกัน

ถ้าหากทุกอย่างเป็นไปตามแผนการของประเทศต่างๆ อนุภูมิภาคแม่น้ำโขงก็จะกลายเป็นอู่ข้าวใหญ่ของโลก โดยมีไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 และกัมพูชาที่มีประชากรเพียง 14 ล้านคน อาจจะทะยานขึ้นเป็นอันดันสองแทนเวียดนามที่จะต้องเลี้ยงดูประชากรกว่า 86 ล้าน และ อัตราทารกเกิดใหม่สูงปีละประมาณ 1 ล้านคน

ในเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลกัมพูชาได้รับเงินกู้จากรัฐบาลคูเวตกว่า 500 ล้านดอลลาร์ เพื่อผลิตไฟฟ้าและพัฒนาระบบชลประทาน ซึ่งรวมทั้งการสร้างเขื่อนอเนกประสงค์หนึ่งแห่งในที่ราบใหญ่ภาคกลางของประเทศ

ปัจจุบันกัมพูชากำลังออกเชิญชวนบริษัทก่อสร้างข้ามชาติ เข้าร่วมการประกวดราคาก่อสร้างเขื่อนแห่งใหม่
กำลังโหลดความคิดเห็น