ASTVผู้จัดการออนไลน์ -- เจ้าหน้าที่ทางการลาวสามารถช่วยชีวิตตัว "ขะหยุ” หรือ “ข่าหนู” สัตว์ป่าหายาก ที่ครั้งหนึ่งเคยเชื่อว่าสูญพันธุ์ไปตั้งแต่ 11 ล้านปีมาแล้ว ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ยังมีการลักลอบจับสัตว์ชนิดนี้ออกขายกันตามท้องตลาด
เจ้าหน้าที่ป่าไม้แขวงคำม่วน ได้ออกลาดตระเวนและช่วยชีวิตขะหยุได้รวม 19 ตัว ในตลาดชุมชนหมู่บ้านแห่งหนึ่งของแขวงคำม่วน (ติดชายแดน จ.นครพนม) กะรอกอีก 9 ตัว ไก่ป่า ตัวหอน กับตัวเม่น อีกจำนวนหนึ่ง ทั้งหมดกำลังถูกขนส่งจะนำไปจำหน่ายในประเทศเพื่อนบ้าน
ตามรายงานของสำนักข่าวสารปะเทดลาว เจ้าหน้าที่ป่าไม้ยังช่วยชีวิตสัตว์เลื้อยคลานอื่นๆ ได้อีกจำนวนมาก รวมทั้งงูสิงรวมน้ำหนัก 48 กิโลกรัม งูเหลือม 11 กก.และ งูเห่าเกือบ 2 กก. อีเห็น กับปลากระเบน อีกจำนวนหนึ่ง
เจ้าหน้าที่ได้อบรมผู้ลักลอบค้าก่อนจะปล่อยตัวไป และนำสัตว์ที่จับยึดได้ทั้งหมดไปปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติอีกครั้งหนึ่ง
ขปล.กล่าวว่า วันที่ 16 ม.ค.ที่ผ่านมา แขวงคำม่วนได้ประชุมหาทางเข้มงวดหาทางป้องกันการลักลอบจับสัตว์ป่า เพื่อมิให้สัตว์หายากเหล่านั้นสูญพันธุ์ไป
.
แขวงคำม่วนเป็นที่ตั้งของเขื่อนผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ 2 แห่ง คือ เขื่อนเทินหินบูน กับ เขื่อนน้ำเทิน 2 นอกจากนั้น ยังมีเขื่อนขนาดกลางกับขนาดเล็กอีก 3-4 โครงการ
เขื่อนน้ำเทิน 2 ซึ่งทำให้เกิดน้ำท่วมครอบคลุมพื้นที่ 450 ตารางกิโลเมตร ได้สร้างความวิตกกังวลให้แก่องค์การอนุรักษ์สัตว์ป่าและธรรมชาติทั่วโลก ขณะที่กรรมการที่ปรึกษาชุดหนึ่งของโครงการได้เคยเรียกร้องให้รัฐบาลลาว เร่งดำเนินการจดทะเบียนเขตป่าสงวนนากาย-น้ำเทิน ให้เป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ
เขตป่าสงวนมีอาณาบริเวณกว้างใหญ่ไปจรดชายแดนเวียดนาม ได้รับการยอมรับว่าเป็นเขตหนึ่งที่มีชีวะนานาพันธุ์สมบูรณ์มากที่สุด
ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่โครงการน้ำเทิน 2 ได้ค้นพบสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์หลายชนิด รวมทั้งกวางซาวลา (Sao La) กระต่ายอันนัมลายแถบ (Striped Annum Rabbit) ควายป่า เสือโคร่งสายพันธุ์อินโดจีน เก้งยักษ์ ที่นั่นยังเป็นเขตอาศัยของช้างป่าโขลงใหญ่ที่สุดอีกโขลงหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เขื่อนน้ำเทิน 2 ได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจากธนาคารโลก มีกำหนดจะเริ่มปั่นไฟในปลายปีนี้ ไฟฟ้าที่ผลิตได้เกือบทั้งหมดจะส่งจำหน่ายให้แก่ประเทศไทย
เมื่อหลายปกีอ่นตัวขะหยุได้สร้างความประหลาดใจให้กับนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก หลังจากมีผู้ไปพบตัวที่ตายแล้ววางขายที่ตลาดสดแห่งหนึ่งในแขวงคำม่วน
.
เวลาต่อมานักวิทยาศาสตร์จากสหรัฐฯ และนักวิทยาศาสตร์ของไทย ได้ร่วมกันเข้าไปศึกษาชีวิตของสัตว์ล้านปีชนิดนี้ในเขตภูเขาหินปูน แขวงคำม่วน และในปี 2548 มีการเผยแพร่ภาพถ่ายและคลิปวิดีโอไปทั่วโลก แต่ยังไม่เคยมีการเปิดเผยใดๆ เกี่ยวกับชีวิตในธรรมชาติ รวมทั้งจำนวนประชากรของพวกมัน
การศึกษาจากซากฟอสซิลที่พบในมณฑลส่านตง (Shan Dong) ทางตอนใต้ของจีนเมื่อหลายปีก่อน ทำให้นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ญาติใกล้ชิดที่สุดตัวสุดท้ายของขะหยุ ได้ตายไปเมื่อ 11 ล้านปีมาแล้ว และเชื่อว่า สัตว์ชนิดนี้ได้สูญไปจากโลกแต่ครั้งกระโน้น
ตัวขะหยุ ข่าหนู หรือ หนูหิน หรือ Rock Rat หรือ Rock Rodent ตามที่ฝรั่งเรียกขานกันง่ายๆ มีหน้าตาคล้ายหนู แต่หางเป็นพวงเหมือนกะรอก และ เท้าเป็นพังผืดคล้ายอุ้งเท้าของเป็ด เดินอุ้ยอ้ายเชื่องช้า ป้องกันตัวเองไม่ได้ จึงออกหากินในเวลากลางคืน ในปัจจุบันพบในเขตภูเขาหินปูนแขวงคำม่วนเพียงแห่งเดียวเท่านั้น
ยังไม่มีผู้ใดทราบวิวัฒนาการของสัตว์ชนิดนี้ว่าเป็นเพราะเหตุใดธรรมชาติจึงให้สิ่งที่ตรงกันข้ามกับสภาพแวดล้อมที่พวกมันอาศัยอยู่ ซึ่งเป็นภูเขาหินปูน