ผู้จัดการ360รายสัปดาห์ -- ชาวไทยจำนวนมากที่เดินทางไปเที่ยวสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเมื่อปีที่แล้ว อาจจะมีความรู้สึกไม่ค่อยสมประกอบนักหากได้ทราบความจริงว่า ต้องจ่ายแพงขึ้นอีกเยอะแยะเมื่อเทียบกับปีก่อน และในปีนี้จะรู้สึกเป็นทุกข์ยิ่งกว่าเดิม
นับเป็นสิ่งพิเศษและค่อนข้างมหัศจรรย์สำหรับหลายคน ที่เงินกีบเงินสกุลท้องถิ่นของลาวแข็งค่าอย่างต่อเนื่องในเศรษฐกิจที่ยังมีขนาดเล็กและรายได้ต่อหัวประชากรต่อปียังต่ำกว่า 1,000 ดอลลาร์
แต่เรื่องนี้กำลังเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจลาวโดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาผู้นำเข้าสินค้าที่อาจจะรู้สึกหายใจโล่งขึ้น และ ลาวอาจจะมีตัวเลขการค้าเกินดุลเป็นครั้งแรกในปีนี้ หรือปีหน้า เนื่องจากคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของชาวลาวก็คือ ประเทศไทยซึ่งทำให้ลาวขาดดุลมาตลอด
ธนาคารแห่งชาติลาวไม่มีนโยบายที่จะเข้าแทรกแซงเงินกีบที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง
ผู้ที่เดินทางถึงสนามบินหลวงพระบางในต้นปี 2550 เดินตรงเข้าไปยังเค้าน์เตอร์แลกเปลี่ยนเงินของธนาคารลาวพัฒนาที่นั่น ยังสามารถแลกเงินได้ในอัตรา 264 กีบต่อ 1 บาท นั่นเป็นช่วงที่เงินกีบยังเป็นมิตรกับชาวไทยอย่างมาก
อีกหนึ่งปีต่อมานักท่องเที่ยวที่เดินทางไปยังนครเวียงจันทน์ จะพบว่า เคาน์เตอร์แลกเงินที่สนามบินวัดไต ติดประกาศอัตราแลกเปลี่ยนต่างออกไป นักท่องเที่ยวชาวไทยแลกเงินกีบได้น้อยลง คือ เหลือเพียง 246 กีบต่อ 1 บาท หายไปเกือบ 20 กีบ
ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง” ปี 2540 ค่าเงินกีบดิ่งหัวลงก้นเหวจาก 2,000 กีบ เป็นกว่า 10,000 กีบต่อดอลลาร์ เงินเฟ้อพุ่งขึ้นถึงขีดอันตราย สถาบันการเงินระหว่างประเทศต้องเข้าไปช่วยกอบกู้ ก่อนจะค่อยๆ มีเสถียรภาพขึ้นมาตามลำดับ
ปีสองปีมานี้เงินกีบแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปี 2551 แข็งขึ้น 9.52% กับ 4.96% เทียบกับดอลลาร์และเงินบาทไทยตามลำดับ เมื่อเทียบกับปี 2550 ทั้งนี้ เป็นรายงานของธนาคารแห่งชาติ
เมื่อวันที่ 6 ม.ค.2552 อัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารการค้าต่างประเทศลาว (Banque pour le Commerce Lao) อยู่ที่ 242.72 กีบต่อ 1 บาท และ 8,464 กีบต่อดอลลาร์ เงินกีบไม่เป็นมิตรกับเงินบาทอีกต่อไป
ค่าเงินที่แข็งขึ้นอย่างต่อเนื่องนี้ นับเป็นสิ่งดีๆ ที่ชาวลาวแทบจะมองไม่เห็นในปีที่ข้าวยากหมากแพง ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคทุกชนิดพุ่งโลด ชาวบ้านบ่นกันไปทั่ว แต่ถ้าหากไม่มีเงินกีบที่ทรงพลัง ทุกอย่างจะเลวร้ายกว่าที่ผ่านมา
การแข็งค่าของเงินกีบไม่ได้เกิดขึ้นอย่างบังเอิญ ปีที่แล้วธนาคารแห่งชาติได้พยายามเก็บกวาดเงินสกุลต่างชาติออกจากท้องตลาดอย่างรวดเร็ว และ รณรงค์อย่างกว้างให้ชาวลาวใช้เงินสกุลแห่งชาติในการซื้อขายแลกเปลี่ยน แทนบาทกับดอลลาร์ ซึ่งได้ทำให้เกิดความเชื่อมั่นในเงินสกุลท้องถิ่นอย่างได้ผล
แน่นอนเงินที่มีค่าแข็งขึ้นจะทำให้ลาวนำเข้าสินค้าได้มากขึ้น ใช้หนี้ต่างประเทศได้มากขึ้น หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือจ่ายเงินน้อยลงนั่นเอง
การได้ดุลการค้าเป็นสิ่งที่ลาวคาดหวังไว้อย่างสูง แต่ปี 2551 ตัวเลขขาดดุลยังสูงถึง 28.13 ล้านดอลลาร์ โดยมีการส่งออก 973 ล้านดอลลาร์ และนำเข้าราว 1,000 ล้าน
มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น 5.43% ต่ำกว่าเป้า ขณะที่ตัวเลขนำเข้าพุ่งขึ้น 9.78% เทียบกับปี 2550 สูงกว่าคาดการราว 3.92% โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 24% ของทั้งหมดเป็นมูลค่าการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีราคาแพงขึ้นหลายเท่าตัวเมื่อปีที่แล้ว ทั้งนี้ เป็นตัวเลขของกระทรวงการอุตสาหกรรมและการค้าที่เผยแพร่ในสัปดาห์ต้นปี
รัฐมนตรีอุตสาหกรรมฯ นายนาม วิยะเกด กล่าวว่า ยังเป็นการยากที่จะคาดการทิศทางการส่งออกในปี 2552 นี้ ในสถานการณ์เศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก แต่ปีที่แล้วสินค้าส่งออกรายการมีมูลค่าเพิ่มขึ้นหลายตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าการเกษตรคือ ข้าวโพดหวานเพิ่ม 37% และมันสำปะหลัง 42%
ตามรายงานของสำนักข่าวสารปะเทดลาว (ขปล.) ปีที่แล้ว การส่งออกแร่ต่างๆ เพิ่มขึ้น 4.49% กระแสไฟฟ้า 6.5% และที่เป็นพิเศษ คือ มูลค่าส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 62.94% ในนั้นเสื้อผ้าสำเร็จรูปเพิ่มขึ้น 36.27% ผลิตภัณฑ์จากไม้อีก 35%
นอกเหนือจากสินค้าการเกษตรซึ่งรวมทั้งข้าวที่ค่อนข้างจะปลูกได้ผลดีแม้จะเกิดอุทกภัยในช่วงสั้นๆ ก็ตาม สินค้าส่งออกที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมากในปี 2552 นี้ก็คือ กระแสไฟฟ้าที่เขื่อนน้ำเทิน 2 จะเริ่มผลิตและส่งเข้าระบบจำหน่ายให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตของไทยในช่วงปลายปี
เหมืองทองอีกสองแห่งในลาว คือ เหมืองเซโปนในแขวงสะหวันนะเขตของบริษัทล้านช้างมิเนอรัล กับเหมืองภูเบี้ยของกลุ่มแพนออสเตรเลียในแขวงเวียงจันทน์ล้วนมีโครงการเพิ่มการผลิตเพื่อส่งออกมากขึ้น เหมืองทองแห่งที่สามที่ภูคำ แขวงเซียงขวาง จะเริ่มผลิตเพื่อส่งออกปีนี้เช่นกัน
เมื่อรวมพลังกับเงินกีบที่ยังแข็งค่าอย่างต่อเนื่องแล้ว 2552 อาจจะเป็นปีกแรกที่ลาวได้ดุลการค้า.