ASTVผู้จัดการรายวัน-- บริษัทอาร์โกนอทรีสอร์สเซสจำกัด (Argonaut Resources Ltd) เปิดเผยว่า การสำรวจแหล่งห้วยควาย ในเขตรอยต่อแขวงเวียงจันทน์กับนครเวียงจันทน์ได้พบแร่ทองคำเกรดดีปริมาณมาก บริษัทกำลังจะเริ่มสำรวจขุดค้นในฤดูแล้งนี้หลังจากฤดูฝนซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญได้ผ่านพ้นไปแล้ว
บริษัทออสเตรเลียเจ้าของสัมปทานแห่งนี้ออกแถลงดังกล่าวในรายงานประจำไตรมาสฉบับล่าสุด โดยระบุว่าจะเริ่มเจาะสำรวจชั้นแหล่งแร่ในแหล่งห้วยควายตั้งแต่เดือน ก.พ.2552 เป็นต้นไป โดยปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างการออกแบบเพื่อปฏิบัติงาน
ก่อนหน้านี้อาร์โกนอทฯ ได้ประกาศผลการสำรวจทางธรณีศาสตร์ในแปลงสัมปทานแขวงเซกองทางตอนใต้สุดของลาว และได้พบสายแร่ใต้ผืนดินปริมาณมหาศาลเช่นเดียวกัน
ฝนที่ตกหนักในภาคตะวันตกของลาวได้เป็นอุปสรรคสำคัญในการขนย้ายเครื่องกลหนักเข้าไปยังแหล่งสำรวจ ทำให้การทำงานล่าช้าออกไปประมาณ 6 สัปดาห์ และในที่สุดอาจจะต้องตัดสินใจสร้างสะพานข้ามลำน้ำซาง ที่อยู่ใกล้เคียงเพื่อการขนส่ง
การประกาศของอาร์โกนอทฯ ยังมีขึ้นขณะที่สื่อของทางการรายงานรายงานความคืบหน้าของเหมืองทองภูเบี้ยโดยบริษัทแพนออสเตรเลียรีสอร์สเซสจำกัด ซึ่งเริ่มส่งออกและคาดว่าจะส่งรายได้เข้ารัฐได้เป็นครั้งแรกในปีนี้
ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ "ประชาชน" ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์รายวันของพรรคประชาชนปฏิวัติลาว ตั้งแต่เริ่มการผลิตในเดือน พ.ค.จนถึงเดือน พ.ย.นี้บริษัทภูเบี้ยไมนิ่งจำกัด (Phu Bia Mining Co) ผลิต "แร่ทองเข้มข้น" ซึ่งมีทองแดง ทองคำและแร่เงินผสมกันได้กว่า 92 ตัน ส่งออกแล้วกว่า 81 ตัน ทำรายได้กว่า 89 ล้านดอลลาร์ คาดว่ายอดส่งออกจะเพิ่มขึ้นอีกเมื่อสิ้นปี เช่นเดียวกันกับเงินรายได้
ปัจจุบันเหมืองแห่งนี้ผลิตทองคำเฉลี่ยเพียง 100 กิโลกรัมต่อเดือนและมีแผนจะผลิตผลิตทองแดงเพียง 200,000 ตันในปีแรก แต่คาดว่าจะผลิตทองแดง ทองคำและเงินรวมกันได้หลายแสนตัน ตลอดเวลาสัมปทานที่เหลืออยู่ 12 ปีข้างหน้า
ตัวเลขต่างๆ ได้รับการเปิดเผยในสัปดาห์ต้นเดือน ธ.ค. เมื่อนายไซสมพอน พมวิหาน รองประธานสภาแห่งชาตินำสมาชิกฯ จำนวนหนึ่งเดินทางไปเยี่ยมชมกิจการของเหมือง ในเขตเมืองไซสมบูน แขวงเวียงจันทน์
รัฐบาลลาวกำลังจะได้รับส่วนแบ่งเป็นค่าภาคหลวง 36% ของรายได้ นั่นคือประมาณ 15.26 ล้านดอลลาร์ ภาษีกำไร 25% ประมาณ 20.24 ล้านดอลลาร์ และภาษีเงินได้ของพนักงานเหมืองแห่งนี้อีกราว 15.26 ล้านต่อปี คาดว่าปีนี้ ส่วนแบ่งที่ลาวได้รับจะสูงกว่า 60 ล้านดอลลาร์ (กว่า 2,100 ล้านบาท) หนังสือพิมพ์ของพรรคกล่าว
เหมืองภูเบี้ยกำลังจ้างแรงงานประเภทต่างๆ กว่า 1,700 คน 90% เป็นคนลาว และ 30% เป็นคนในท้องถิ่น และ 30% เป็นแรงงานสตรี "ประชาชน" กล่าว
บริษัทภูเบี้ยไมนิ่ง ยังจะต้องจ่ายให้โครงการพัฒนาต่างๆ ในท้องถิ่น 50,000 ดอลลาร์ในปี 2548 เพิ่มขึ้นเป็น 100,000 ดอลลาร์ในปี 2546 เป็น 200,000 ดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว และเป็น 300,000 ดอลลาร์ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป
เหมืองภูเบี้ยเป็นเหมืองทองคำ-ทองแดงแห่งที่สองของลาวที่ทำการผลิตและส่งออกแล้ว แห่งแรกคือเหมืองเซโปนในแขวงสะหวันนะเขต ซึ่งเริ่มจ่ายค่าตอบแทนแก่รัฐบาลมาตั้งแต่ปี 2549.