xs
xsm
sm
md
lg

กัมพูชาเชิญชวนชิงเค้ก $350 ล้าน “เขื่อนคูเวต”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<CENTER><FONT color=#3366FF> ภาพถ่ายวันที่ 4 ส.ค.2551 สมเด็จฯ ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาพบสนทนากับชี้คนัสเซอร์ อัล-จาเบอร์ อัล-ซาบาร์ แฟ้ม นายกรัฐมนตรีที่ไปเยือนอย่างเป็นทางการ ซึ่งฝ่ายคูเวตได้ตกลงให้กัมพูชากู้กว่า 500 ล้านดอลลาร์ เพื่อสร้างถนน สร้างเขื่อนและระบบชลประทาน ใน จ.กัมปงธม กับ จ.พระตะบอง </FONT></CENTER>

ASTVผู้จัดการรายวัน -- ทางการกัมพูชาได้ออกเชิญชวนผู้รับเหมาก่อสร้างข้ามชาติเข้าร่วมการประกวดราคาสร้างเขื่อนใหญ่ที่สุดอีกแห่งหนึ่งของประเทศ ที่จะสร้างกั้นลำน้ำแสน (Stung Sen) ใน จ.กัมปงธม (Kampong Thom) ตามแผนพัฒนาการเกษตรและผลิตไฟฟ้าโดยใช้เงินกู้จากคูเวต

กัมพูชามีแผนการจะก่อสร้างเขื่อนมูลค่า 350 ล้านดอลลาร์ ในปี 2554 โดยจะใช้เวลาก่อสร้างราว 5 ปี เขื่อนสะตึงแสน (Stung Sen) หรือ แม่น้ำแสนมีกำลังปั่นไฟ 40 เมกะวัตต์ แจกจ่ายน้ำเพื่อการเกษตรเข้าสู่ระบบชลประทาน เพื่อให้บริการพื้นที่นาและปลูกพืชชนิดต่างๆ รวม 130,000 เฮกตาร์ หรือ 812,500 ไร่ โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นไป

เขื่อนได้รับการออกแบบให้แบ่งไฟฟ้าราว 9 เมกะวัตต์ ไปใช้ในโครงการการเกษตรในพื้นที่เหล่านี้ และ ยังจะต้องผันน้ำอีกส่วนหนึ่งไปใช้ในโครงการอื่นๆ ในท้องที่ จ.กัมปงธมกับ จ.พระวิหาร ที่อยู่ติดกัน หนังสือพิมพ์พนมเปญโพสต์อ้างการเปิดเผยของนายจัน ยุทธะ (Chan Yutha) เจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรกัมพูชา

อย่างไรก็ตาม นาย ฮอร์ นัมฮง (Hor Nam Hong) รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชา กล่าวเมื่อวันที่ 16 ม.ค.หลังจากการเซ็นสัญญาเงินกู้จากคูเวตเรียบร้อย ระบุว่า เป้าหมายหลักของเขื่อนสะตึงแสน คือ เพื่อการชลประทาน ใน จ.กัมปงธม ซึ่งเป็นอู่ข้าวใหญ่ในเขตที่ราบภาคกลาง เพื่อให้สามารถทำนาได้ปีละ 2 ครั้ง

ตามรายงานของสื่อต่างๆ ปัจจุบันชาวนากัมพูชาส่วนใหญ่ทำนาได้ปีละครั้งเท่านั้น เคยมีความพยายามที่จะปลูกข้าวปีละ 2 ครั้งในยุคเขมรแดงครองอำนาจแต่ก็ไม่สำรวจ การชลประทานจะช่วยทำให้ความพยายามบรรลุผล

เจ้าหน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรม เหมืองแร่และพลังงานกัมพูชา กล่าวว่า เขื่อนเป็นสิ่งจำเป็นยิ่งสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจในชนบท และ เขื่อนสะตึงแสนกำลังจะเป็นเขื่อนแรกในประเทศที่ให้ประโยชน์แบบอเนกประสงค์ทั้งเพื่อการเกษตรและการผลิตไฟฟ้า

ในปี 2555 เป็นต้นไป เขื่อนอีก 2 แห่งที่กั้นลำน้ำอะไต (Atay) กับลำน้ำตาไต (Ta Tai) ใน จ.เกาะกง (Koh Kong) กับ จ.โพธิสัตว์ (Pursat) ก็จะเริ่มปั่นไฟฟ้าเข้าสู่ระบบและให้น้ำเพื่อการเกษตรในสองจังหวัดดังกล่าว

ตามข้อมูลของทางการในปัจจุบันทั่วกัมพูชามีพื้นที่สำหรับการเกษตรประมาณ 3 ล้านเฮกตาร์ (18 ล้านไร่เศษ) แต่มีเพียง 44% ที่มีน้ำเพียงพอเพื่อการเพาะปลูก

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่รัฐบาลกัมพูชาพยายามผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอ และการจัดหาน้ำเพื่อการเพาะปลูก ก็เกิดคำถามเกี่ยวกับความคุ้มค่าของโครงการขึ้นมาควบคู่กัน หลายฝ่ายชี้ไปยังความสูญเสียจากผลกระทบการสร้างเขื่อนต่างๆ

ปีที่แล้วองค์การพัฒนาเอกชนที่ไม่สังกัดรัฐบาลได้ออกคัดค้านโครงการก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่โดยนักลงทุนจากจีน ซึ่งจะทำให้เกิดน้ำท่วมเขตป่าสงวนกินบริเวณกว้างใน จ.กัมโป้ท (Kampot) ทางภาคใต้ของประเทศ

เขื่อนทั้งสองแห่งที่เกาะกงกับโพธิสัตว์ก็ไม่ต่างกัน นักอนุรักษ์ กล่าวว่า กำลังจะทำให้เกิดน้ำท่วมเขตป่าพนมกะวัญ (Phnom Kavanh) และถิ่นที่อยู่ของสัตว์ป่า ในดินแดนที่ความหลากหลายทางชีวะนานาพันธุ์ยังสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เขื่อนสะตึงแสนจะเป็นโครงการเขื่อนใหญ่ที่สุดอีกแห่งหนึ่งของกัมพูชาในปัจจุบัน นักวิชาการกล่าวว่าราคาแพงเกินไปหากเทียบกับน้ำที่จะผันไปสู่การเกษตร ซึ่งสามารถทำโครงการให้เล็กลงได้เพื่อประหยัดงบประมาณ
กำลังโหลดความคิดเห็น