xs
xsm
sm
md
lg

คนเกิดมากเวียดนามผวาประชากรทะลุ 100 ล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<FONT color=#ff0000>ใกล้ 100 ล้านคน-- ภาพแฟ้มเอเอฟพีวันที่ 19 พ.ย.2551 คุณแม่กับลูกเล็กที่หมู่บ้านเถาะห่า (Tho Ha) จ.บั๊กนีง (Bac Ninh) ทางตอนเหนือกรุงฮานอย ไม่ว่าจะเป็นที่ไหนในเวียดนามปัญหาความไม่สมดุลระหว่างทารกเพศหญิงกับเพศชายเริ่มเข้าสู่ขีดอันตราย เช่นเดียวกับอัตราการเกิดที่ยังสูงซึ่งหากไม่มีการแก้ไขในอีกไม่กี่ปีประชากรก็จะทะลุ 100 ล้าน เกิดปัญหาตามมาอย่างรอบด้าน. </font>

ASTV ผู้จัดการรายวัน-- ทางการเวียดนามได้พบว่าจำนวนประชากรในปัจจุบันได้เพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 87 ล้านคน โดยมีเด็กเกิดใหม่ราว 1 ล้านคนเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งถ้าหากอัตราการเกิดของประชากรยังสูงระดับนี้ อีกไม่กี่ปีชาวเวียดนามก็จะมีจำนวนกว่า 100-150 ล้านคนในอีกไม่นาน

หน่วยงานที่รับผิดชอบยอมรับว่าการควบคุมจำนวนประชากรที่ผ่านมาล้มเหลว และปัญหาใหญ่ที่น่าห่วงไม่แพ้ใจก็คือ อัตราเกิดทารกเพศหญิงกับเพศชายที่เหลื่อมล้ำกันสูงมาก ซึ่งถ้าหากแนวโน้มยังเป็นเช่นนี้ต่อไปก็จะทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจสังคมต่างๆ ติดตามมาอย่างมากมาย

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายเหวียนบาถวี (Nguyen Ba Thuy) กล่าวว่า ปี 2551 เป็น "ปียากลำบากที่สุด" สำหรับแขนงงานวางแผนครอบครัวแห่งชาติ ตัวเลขต่างๆ ไม่เป็นไปตามเป้าที่กำหนด

นายถวีซึ่งมีตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมใหญ่ประชากรและวางแผนครอบครัว ยอมรับในความล้มเหลวดังกล่าวในวันที่ 26 ธ.ค.2551 ทีผ่านมาซึ่งเป็น "วันประชากรเวียดนาม" ทั้งนี้เป็นรายงานของหนังสือพิมพ์ฮานอยไทมส์ (Hanoi Times) โดยอ้างเอกสารของทางการ

ตัวเลขสถิติที่ออกใหม่บ่งชี้ว่าในปัจจุบัน จำนวนประชากรสูงวัยได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย ซึ่งจะส่งผลในระยะยาวต่อกำลังแรงงานโดยรวมของประเทศ ซึ่งปัจจุบันประชากรส่วนใหญ่เป็นคนวัยทำงานหนุ่มสาวอายุไม่เกิน 45 ปี ซึ่งทำให้ประเทศเป็นตลาดอุปโภคบริโภคขนาดใหญ่อีกด้วย

ตามตัวเลขของสำนักงานคณะกรรมการแห่งชาติเพื่อประชากรสูงวัย (National Committee for the Elderly) จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น 9.45% ในปี 2550 จาก 7.2% ในปี 2532 และคาดว่าประชากรกลุ่มนี้จะเป็น16.8% ของประชากรในปี 2572 หรืออีก 20 ปีข้างหน้า

ประชากรสูงวัยจำนวน 73% อาศัยอยู่ในเขตชนบท ในนั้นมีเพียง 21% ที่ได้รับเบี้ยบำนาญและการเลี้ยงดูจากรัฐ 70% ไม่มีเงินออมและกว่า 23% ดำรงชีวิตอยู่ในความยากจน

ตามสถิติที่เผยแพร่ในเดือน ก.ย.ปีที่แล้ว การลดอัตราเกิดทำได้เพียง 0.1% เท่านั้น จากเป้าหมาย 0.3% ทำให้มี "ลูกคนที่สาม" ของครอบครัว เกิดใหม่ประมาณ 143,000 คน ขณะที่รัฐบาลรณรงค์ให้ครอบครัวต่างๆ มีลูก 2 คนเท่านั้น

สถิติยังสะท้อนให้เห็นปัญหาส่วนหนึ่งที่เกิดจากการณรงค์ใช้ยาคุมกำเนิด ที่ทำได้ต่ำกว่าเป้าหมายไปประมาณ 20% ฮานอยไทมส์กล่าว

รองประธานาธิบดีเวียดนาม นางเหวียนถิดว่าน (Nguyen Thi Doan) ได้เรียกร้องให้กระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มความพยายามในการรณรงค์วางแผนครอบครัวให้ลงถึงระดับรากหญ้า ขณะที่ปัจจุบันเวียดนามเป็นที่มีประชากรมากอันดับ 13 ของโลก

การเพิ่มจำนวนประชากรในอัตราสูงจะส่งผลถึงปัญหาที่อยู่อาศัย เนื่องจากที่ดินมีเนื้อที่เท่าเดิม และต้องผลิตอาหารเพิ่มมากขึ้นให้เพียงพอสำหรับบริโภค รวมทั้งผลกระทบต่อการจ้างงาน การสาธารณสุขและอื่นๆ อีกจำนวนมาก

ตามสถิติของทางการในปี 2550 อัตราเพิ่มของประชากรลดลงเหลือ 1.21% จาก 1.51% ในปี 2542 และจาก 3.93% ในคริสต์ศตวรรษที่ 1960 ซึ่งยังต่ำไม่พอ
<CENTER><FONT color=#FF0000> ภาพแฟ้มเอเอฟพีวันที่ 16 ธ.ค.2551 ชายสูงวัยชาวฮานอยปักหลักบนทางเท้าริมถนนในย่านเมืองเก่า รอลูกค้าแวะเวียนไปใช้บริการเติมลมยางจักรยานยนต์ ปัจจุบันประชากรสูงวัยราว 40% ยังต้องทำงานหารายได้ 70% ไม่มีเงินออม อีก 20 ปีข้างหน้ากลุ่มสูงวัยและกลุ่มเยาว์วัยจะเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ของประเทศ ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมอย่างมากมาย </FONT></CENTER>
ด้วยอัตราการเกิดในปัจจุบันจะทำให้ประชากรเพิ่มขึ้นเป็น 115-120 ล้านคนในไม่ช้า ซึ่งนายเหวียนก๊วกเจียว (Nguyen Quoc Trieu) รัฐมนตรีสาธารณสุขกล่าวว่า หากไม่มีการปรับปรุงแก้ไขลดอัตราการเกิดอย่างจริงจัง จำนวนอาจจะพุ่งขึ้นเป็น 145-150 คนได้ไม่ยาก

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าการเพิ่มของประชากรจะส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำลงไปอีก มีคำกล่าวกันว่าปัจจุบันเวียดนามกำลังอยู่ใน "ยุคทองด้านประชากร" อันเป็นช่วงที่กลุ่มคนวัยทำงานมีมากกว่ากลุ่มประชากรที่ยังต้องพึ่งพาผู้อื่น คือ เด็กวัยต่ำกว่า 15 ปีและผู้สูงวัยอายุ 64 ปีขึ้นไป

ในแต่ละปีกำลังแรงงานในเวียดนามจะเพิ่มขึ้นประมาณ 1.5-1.6 ล้านคน ซึ่งเป็นสิ่งท้าทายอย่างใหญ่หลวงสำหรับหน่วยงานที่รับผิดชอบการหางานทำและการสร้างงาน ทั้งนี้เป็นรายงานของหนังสือพิมพ์ลาวด่ง (Lao Dong) หรือ "แรงงาน"

ตามสถิติที่มีอยู่เวียดนามจะเข้าสูงสังคมที่มีประชากรสูงอายุจำนวนมากในอีก 15-20 ปีข้างหน้า ซึ่งจะทำให้งานสวัสดิการสังคมมีภาระหนักยิ่งขึ้นขณะเดียวกันก็จะเกิดแรงกดดันต่อประชากรเยาว์วัย ที่ต้องการการดูแลด้านสุขภาพ การศึกษาและการดูแลเอาใจใส่จากพ่อแม่ผู้ปกครองมากยิ่งขึ้น

ปัจจุบันจำนวนครอบครัวที่มีลูกมากกว่า 2 คน นับวันมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้รัฐบาลจะได้รณรงค์ "นโยบายลูกสอง" มากมายเพียงไรก็ตาม

นอกจากนั้นปัญหาความไม่สมดุลระหว่างเพศก็กำลังรุนแรงมากขึ้นทุกปี โดยอัตราการเกิดของทารกเพศชายสูงกว่าทารกเพศหญิง 112 ต่อ 100 คน ในปี 2550 เทียบกับอัตรา 107 ต่อ 100 คนเมื่อปี 2542 ซึ่งความแตกต่างขยายออกไปกว้างมาก

ปัญหานี้มีสาเหตุหลักจากค่านิยมดั้งเดิมที่ครอบครัวต่างๆ ต้องการลูกชายมากกว่าลูกสาว เพื่อให้สืบสกุลและเป็นกำลังแรงงานสำคัญของครอบครัว เป็นที่พึ่งพาของพ่อแม่ผู้ปกครองในวัยชราภาพ ลาวด่งกล่าว

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวเตือนก่อนหน้านี้ว่า การรณรงค์วางแผนครอบครัวล้มเหลวอย่างชัดเจนที่สุดในกรุงฮานอยเมืองหลวงกับนครโฮจิมินห์เมืองใหญ่ที่สุดของประเทศในภาคใต้ ซึ่งปัจจุบันการเพิ่มของประชากรสูงถึงขีดอันตราย อัตราการเกิดของลูกคนที่สามพุ่งขึ้นสูงลิ่ว

ในฮานอยซึ่งมีประชากรเพียง 3.4 ล้านคน มีทารกเกิดใหม่เพียง 48,000 คนเมื่อปีที่แล้ว แต่ในนั้น 6,786 คนเป็นลูกคนที่สามของครอบครัว เพิ่มขึ้น 170 คน เทียบกับปี 2550

ในโฮจิมินห์มีทารกเกิดใหม่ 53,647 คนในช่วง 9 เดือนแรกของปี เพิ่มขึ้น 7,079 คนหรือ 15.53% เทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2550 ซึ่งเป็นอัตราเพิ่มที่สูงมาก ขณะที่การณรงค์นโยบาย “ลูกสองคน” กับการรณรงค์ให้ใช้ยาคุมกำเนิดล้มเหลว

ปัจจุบันนครโฮจิมินห์ยังมีทารกเกิดใหม่ตามโรงพยาบาลต่างๆ 70-100 คนต่อวัน ซึ่งเพิ่มขึ้นสองเท่าตัวจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และในสิ้นปีที่ผ่านมาคาดว่าชาวโฮจิมินห์จะมีจำนวนถึง 6.07 ล้านคน ยังไม่นับรวมแรงงานอพยพจากต่างจังหวัดอีกราว 2 ล้านคน.
กำลังโหลดความคิดเห็น