ASTVผู้จัดการรายวัน—การพัฒนาเศรษฐกิจของเวียดนามในช่วงปีใกล้ๆ นี้ประสบความสำเร็จ และแม้ว่าจะเผชิญปัญหาเงินเฟ้ออย่างรุนแรง แต่ปี 2551 ก็เป็นปีแรกที่รายได้ต่อหัวประชากร (per capita income) ของชาวเวียดนามทะลุ 1,000 ดอลลาร์ ซึ่งทำให้พ้นฐานะประเทศยากจนในนิยามขององค์การสหประชาชาติเป็นครั้งแรก
ตามรายงานของสำนักงานใหญ่สถิติเวียดนาม (General Statistics Office) ที่เผยแพร่ในวันสิ้นปี รายได้ต่อหัวประชากร (per capita) ชาวเวียดนามขึ้นถึงระดับ 1,024 ดอลลาร์ โดยคิดจากผลผลิตมวลรวมภายในประเทศที่มีมูลค่า 1,487 ล้านล้านด่ง กับจำนวนประชากร 86,160,000 คน ทำให้รายได้ต่อหัวออกมาเป็น 17 ล้านด่ง
ด้วยอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ย 16,700 ด่งต่อดอลลาร์ในปีเดียวกัน ตัวเลขที่ออกมาได้ทำให้ชาวเวียดนามเข้าสังกัดกลุ่มประเทศที่ประชากรมีรายได้ในระดับปานกลาง
องค์การสหประชาชาติกำหนดให้ประเทศที่รายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากรต่อปีต่ำกว่า 960 ดอลลาร์ เข้าในกลุ่มประเทศยากจน
อย่างไรก็ตามนายบุ่ยบาเกือง (Bui Ba Cuong) ผู้อำนวยการสำนักบัญชี สำนักงานใหญ่สถิติฯ กล่าวว่า ตัวเลข 1,024 ดอลลาร์นั้นไม่ได้มากมาย หากเทียบกับอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 19.89% ในปี 2551 กับค่าดอลลาร์ที่ตกต่ำลงราว 2.35% ในระยะเดียวกัน ซึ่งจะต้องมีการสรุปอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง
ตัวเลขที่ GSO เผยแพร่ในวันที่ 31 ธ.ค. ได้ยืนยันว่าปี 2551 เศรษฐกิจเวียดนามขยายตัวเพียง 6.23% จากปี 2550 การขยายตัวของจีดีพีตกต่ำลงอย่างมากหากเทียบกับที่ทำได้ 8.38% ในปีก่อน และยังต่ำกว่าเป้าหมายตลอดทั้งปีที่ตั้งเอาไว้ 7% ซึ่งลดลงจาก 8.5% ที่ตั้งเอาไว้ปลายปี 2550
ผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจหลายคนได้แสดงความห่วงใยต่อเศรษฐกิจเวียดนามในช่วงปีหน้า โดยระบุว่ารายได้ต่อหัวประชากรต่อปีอาจจะไร้ความหมายหากไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพและอย่างมีคุณภาพได้
"จีเอสพีไม่ใช่แค่ตัวเลขที่แสดงระดับของการพัฒนาและความร่ำรวยของประเทศเท่านั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือเราต้องเติบโตอย่างมีคุณภาพและมาตรฐานความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น ไม่ใช่แค่มีตัวเลขจีดีพีออกมาสวย" ดร.เหวียนมิงฟง (Nguyen Minh Phong) แห่งสถาบันพัฒนาเศรษฐกิจสังคมกรุงฮานอย ให้ความเห็นกับหนังสือพิมพ์เหงือยลาวเด่ง (Nguoi Lao Dong) หรือ "คนงาน"
ศ.ดร.มิงฟงกล่าวว่า จะไม่มีทางสรุปว่าประเทศใดประเทศหนึ่งพ้นจากฐานะประเทศยากจนได้อย่างเด็ดขาด ถ้าหาก 90% ของผลผลิตมวลรวมประชาชาติ (Gross National Product) ตกอยู่ในมือของผู้คนกลุ่มน้อยนิดที่อาจจะคิดเป็นเพียง 10% ของประชากรทั้งหมด
ปัจจุบันยังมีดัชนีอื่นๆ อีกหลายตัวที่ใช้คำนวณความร่ำรวยของประเทศ รวมทั้งดัชนีการพัฒนามนุษย์ หรือ HDI (Human Development Index) ดัชนีความก้าวหน้าที่แท้จริง หรือ GPI (Genuine Progress Index) และ ดัชนีความผาสุกรวมประชากร หรือ GNH (Gross National Happiness) ด้วย ดร.ฟงกล่าว
นักวิชาการผู้นี้ยอมรับว่า ถ้าหากตัวเลขเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 1,000 ดอลลาร์จริงก็นับเป็นความสำเร็จของประเทศ และมีความเป็นไปได้ที่รายได้ต่อหัวประชากรต่อปีของชาวเวียดนามจะเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 1,000 ดอลลาร์ แต่จะต้องดูวิธีการคิดคำนวณด้วย เพราะตัวเลขนี้สามารถได้มาจากหลายวิธีด้วยกัน
นายเหวียนดึ๊กห่า (Nguyen Duc Ha) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวางแผนและการลงทุน และ ผู้อำนวยการ GSO กล่าวว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2551 แม้จะไม่ถึงเป้าแต่ก็ยังนับเป็นความสำเร็จ หากคำนึงถึงอุปสรรคและความท้าทายใหญ่ 2 ประการในรอบปี คือ ปัญหาเงินเฟ้อทั่วภูมิภาคและโลกกับวิกฤติการณ์การเงินทั่วโลก
ขณะที่เวียดนามสามารถควบคุมอัตราเงินเฟ้อได้ หลายฝ่ายกำลังวิตกว่าสิ่งที่กำลังจะติดตามมาคือ ภาวะเงินฝืด ที่มีความเลวร้ายไม่แพ้กัน หลังพบว่าราคาสินค้าหมวดสำคัญต่างๆ เริ่มลดลงอย่างมาก
เจ้าหน้าที่ GSO กล่าวว่าเงินฝืดจะเกิดขึ้นเมื่อราคาสินค้าหล่นวูบลงภายใต้สภาพการณ์ที่เศรษฐกิจมีเสถียรภาพเป็นปกติเท่านั้น
สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในเวียดนามในช่วง 3 เดือนท้ายปี 2551 ก็คือ การลดลงของราคาสินค้าทั่วไป หลังจากเคยพุ่งขึ้นสูงเกินความเป็นจริงตั้งแต่ต้นปี เป็นการปรับตัวของราคาในตลาดให้เข้ารูปเข้ารอย ไม่สามารถมองเป็นสภาวะเงินฝืดได้
ในปลายเดือน พ.ย. เวียดนามได้ประกาศใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นมูลค่าราว 6,000 ล้านดอลลาร์ ในนั้นราว 1,000 ล้านจะใช้ในการกระตุ้นการลงทุน ที่เหลือจะทุ่มเข้าไปในภาคก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่กำลังดำเนินอยู่หรืออยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อเริ่มก่อสร้างในปี 2552 นี้
นอกจากนั้นเงินจำนวนมากจะทุ่มลงไปในแขนงการเกษตร การผลิตในแขนงที่เวียดนามมีจุดแข็ง การพัฒนาเขตอุตสาหกรรม และ อีกจำนวนมากจะใช้ไปในการสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับราษฎรผู้มีรายได้น้อย
นักวิชาการกำลังถกเถียงกันอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับตัวเลขเศรษฐกิจที่ทำได้ในปี 2551 ซึ่งจะใช้เป็นพื้นฐานในการคิดคำนวณตัวเลขต่างๆ ในปี 2552
ดร.เลดั่งแยว็ง (Le Dang Doanh) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส กล่าวว่าตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เวียดนามทำได้ นับเป็นเพียงระดับพื้นๆ หากเทียบกับความสำเร็จในประเทศอื่น เช่น เกาหลี ไต้หวันและสิงคโปร์
นอกจากนั้นรายได้ต่อหัวประชากรต่อปีของชาวเวียดนามก็ยังไกลกันมากกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้
ส่วน ดร.ฟงกล่าวกับ “เหงือยลาวด่ง” ว่า ตัวเลขรายได้ต่อหัวประชากรอาจจะสูงขึ้นเป็น 2,000 ดอลลาร์ได้ไม่ยาก เพียงแต่รัฐบาลกู้ยืมเงินมากๆ สร้างถนนให้มากๆ เข้าไว้ แต่นั่นไม่ใช่การเติบโตอย่างมีคุณภาพ
ตัวเลข GDP หรือ per capita จะไม่มีประโยชน์อะไรตราบเท่าที่ ความสามารถในการแข่งขันของบรรดาธุรกิจต่างๆ ยังอยู่ในระดับต่ำ นักวิชาการคนเดียวกันกล่าว.