ผู้จัดการรายวัน-- นายกรัฐมนตรีของห้าประเทศกลุ่มยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระ-แม่โขง ซึ่งมีไทยร่วมเป็นสมาชิกอยู่ด้วยได้เปิดประชุมในกรุงฮานอยปลายสัปดาห์ที่ผ่าน และ ได้ตกลงจะเพิ่มการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกันและขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนและการท่องเที่ยว ในสภาวะที่เศรษฐกิจทั่วโลกกำลังทรุดตัว
ในบรรดาประเทศสมาชิก ACMECS (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy) ทั้งห้าประเทศนั้น มีสี่ประเทศคือ กัมพูชา ลาว พม่าและเวียดนาม เป็นประเทศมาชิกที่ยังยากจนที่สุดของสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่ากลุ่ม CLMV โดยเรียกตามอักษรย่อตัวแรกของชื่อแต่ละประเทศ
นายเหวียนเติ๋นยวุ๋ง (Nguyen Tan Dung) นายกรัฐมนตรีเวียดนามซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมได้เรียกร้องให้ภาคีสมาชิกสนับสนุนซึ่งกันและกันภายใต้กรอบความร่วมมือต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอาเซียน อาเซียน+3 เอเปก (APEC) และ เอเชีย-ยุโรป (ASEM) เพื่อสร้างเถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินในภูมิภาค
การประชุมผู้นำ ACMECS มีขึ้นในขณะที่ประเทศต่างๆ เริ่มตื่นตัวและรู้สึกล่วงหน้าถึงผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก ซึ่งเป็นผลสะท้านสะเทือนจากสถาบันการเงินขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ ล้มละลาย
สำหรับเวียดนามซึ่งเป็นประเทศที่เศรษฐกิจพัฒนาล้ำหน้าไปกว่าประเทศอื่นๆ ในกลุ่ม CLMV ได้ยอมรับว่า ถึงแม้การเงินการธนาคารจะปลอดภัย แต่ผลกระทบด้านการส่งออกเริ่มเห็นได้ชัด
รัฐสภาเวียดนามที่กำลังเปิดประชุมในสัปดาห์เดียวกัน มีมติตั้งเป้าการเติบโตทางเศรษฐกิจเอาไว้เพียง 6.5% สำหรับปีหน้า
เวียดนามซึ่งเศรษฐกิจขยายตัวเฉลี่ยปีละ 8.3% ในช่วงหลายปี ตั้งเป้าการเติบโตเอาไว้ถึง 8.5% ในปีนี้ แต่ได้ลดลงเหลือ 7% เมื่อต้นปี ขณะที่คาดว่าจะทำได้จริงเพียงประมาณ 6.4-6.5% เท่านั้น
เวียดนามยังเผชิญหน้ากับปัญหาเงินเฟ้ออันร้อนแรง ถึงแม้ว่าอัตราเฟ้อจะลดลงเป็นครั้งแรกในช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค. แต่อัตราปีต่อปีก็ยังสูงเป็นตัวเลขสองหลัก และยังไม่แน่ว่าจะทะยานขึ้นไปอีกหรือไม่ในช่วงปลายปี-ต้นปีซึ่งเป็นช่วงเทศกาลตรุษ (Tet) ที่มีการจับจ่ายใช้สอยสูงที่สุด
อย่างไรก็ตามเมื่อมองในในภาพรวม กลุ่ม CLMV แม้ว่าจะยังเป็นประเทศที่ยากจน แต่ก็มีศักยภาพที่จะเป็นประเทศที่ประชากรมีรายได้ปานกลางได้ภายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งทุกประเทศในกลุ่มนี้ล้วนแต่กำลังก้าวขึ้นเป็นประเทศที่ผลิตพลังงานส่งออกและร่ำรวยด้วยแร่ธาตุล้ำค่า
คาดกันว่ากัมพูชาอาจจะเริ่มนำน้ำมันดิบที่พบในแปลงสำรวจอ่าวไทย ขึ้นมาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 2554 หรือ 2555 นี้ ขณะที่ก๊าซธรรมชาติเป็นแหล่งรายได้หลักของรัฐบาลทหารพม่าในปัจจุบัน
ในลาวกำลังมีการสำรวจน้ำมันดิบและก๊าซอย่างมีความหวัง ขณะที่กำลังมีการก่อสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าราว 10 แห่ง และจำนวนเท่าๆ กันอยู่ระหว่างการสำรวจศึกษาผลกระทบ และที่ผ่านมามีการเซ็นสัญญาจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ไทย เวียดนาม กัมพูชาและจีนไปแล้วนับหมื่นเมกะวัตต์
เวียดนามยังมีฐานะเป็นประเทศส่งออกน้ำมันดิบรายใหญ่อันดับสองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รองจากอินโดนีเซียเท่านั้น ขณะที่โรงกลั่นน้ำมันแห่งแรกมีกำหนดเดินเครื่องต้นปีหน้า ซึ่งจะช่วยลดการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปได้มหาศาล
ที่ผ่านมาทางการเวียดนาม ลาวและกัมพูชา ที่ได้เปิดเสรีด้านการเงินการธนาคารอย่างมีขั้นตอนไปแล้ว ต่างยืนยันว่าสถาบันการเงินและระบบการเงินในประเทศยังมีความปลอดภัยและผลกระทบจากเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกยังเข้าไม่ถึง
อย่างไรก็ตามการส่งออกซึ่งเป็นตัวจักรสำคัญในการขับดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ของกลุ่ม “มุ้งเล็กอาเซียน” กำลังได้รับผลกระทบรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ อุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าส่งออกที่ทุกประเทศมีสหรัฐฯ เป็นตลาดใหญ่ร่วมกัน
อุตสาหกรรมสำคัญนี้ทำให้เกิดการจ้างแรงงานหลายพันคนในลาว ระหว่าง 250,000-300,000 คนในกัมพูชากับอีกหลายแสนคนในเวียดนาม แรงงานกลุ่มนี้กำลังมีอนาคตที่ไม่แน่นอน
ผลกระทบที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การท่องเที่ยวซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญอันดับต้นๆ ของทุกประเทศ
อย่างไรก็ตามในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ ลาว กัมพูชาและเวียดนาม ล้วนรายงานตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกันกับรายได้ของอุตสาหกรรมและบริการที่เกี่ยวข้อง
การท่องเที่ยวปี 2550 ของประเทศเหล่านี้เป็นบวก แต่สำหรับปีหน้าซึ่งเชื่อว่าจะเป็นปีแห่งการ “เผาจริง” ของเศรษฐกิจโลก ผลประกอบการอาจจะเป็นอีกอย่างหนึ่งได้
สำหรับพม่าเป็นอีกกรณีหนึ่ง การท่องเที่ยวของประเทศนี้ทรุดหนักมาตั้งแต่ช่วงหลังการปราบปรามประชาชนที่เดินขบวนอย่างรุนแรงในเดือน ก.ย.2550 และ ถูกไซโคลนนาร์กิส (Nargis) กระหน่ำซ้ำเติมในเดือน พ.ค.ปีนี้
พม่าได้พบตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงอย่างน่าใจหายตั้งแต่ต้นปี และกำลังพยายามทุกวิถีทางเรียกความเชื่อมั่นของนักเดินทางกลับคืนมาในช่วงปีที่ชาวโลกต่างมีความยากลำบากทางเศรษฐกิจ
นายกรัฐมนตรีเวียดนามได้เรียกร้องให้สมาชิก ACMECS ขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจแบบข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคแม่น้ำโขงให้มากยิ่งขึ้น รวมทั้ง "บูรณาการ" การพัฒนาเศรษฐกิจเข้าด้วยกันให้ได้ และให้ความสำคัญในระดับต้นๆ ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
ผู้นำ ACMECS ได้ร่วมกันผ่านคำแถลงร่วมออกมาฉบับหนึ่ง กำหนดขั้นตอน วิธีการที่เป็นรูปธรรม ตลอดจนสร้างกลไกขึ้นมา ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวและการเร่งรัดปรับปรุงขั้นตอนทางด้านศุลกากรกับการตรวจคนเข้าเมืองระหว่างกัน
การประชุมในกรุงฮานอยครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 3 ของผู้นำ ACMECS
ประเทศสมาชิกได้แสดงความพึงพอใจต่อความคืบหน้าในความร่วมมือด้านต่างๆ ตั้งแต่การประชุมสุดยอดครั้งที่สอง ทั้งด้านการค้า การส่งเสริมการลงทุน การขนส่ง การเกษตร อุตสาหกรรมและพลังงาน การสาธารณสุข การท่องเที่ยวและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
คำแถลงร่วมกรุงฮานอยได้แสดงความพึงพอใจที่ตัวเลขมูลค่าการค้าขายกับการลงทุนภายในกลุ่มเพิ่มสูงขึ้น และ มองว่าศักยภาพภายในกลุ่มยังจะทำให้สามารถขยายความร่วมมือด้านต่างๆ ต่อไปได้อีกมาก
ผู้นำ ACMECS มีการประชุมสภาธุรกิจ (ACMECS Business Council) ควบคู่กับการประชุมผู้นำทุกครั้ง เพื่อส่งเสริมบทบาทของภาคเอกชน
ไฮไลท์ที่สำคัญของการประชุม ACMEC ในเวียดนามครั้งนี้ ยังมีความร่วมมือเกี่ยวกับข้าว โดยให้เร่งจัดตั้งกลไกความร่วมมือด้านนี้ขึ้นมา เนื่องจากทุกประเทศล้วนเป็นผู้ส่งออกข้าว โดยมีไทยเป็นอันดับหน่างของโลกและเวียดนามเป็นอันดับสอง
กัมพูชาประกาศจะเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ลาวตั้งเป้าจะเริ่มส่งออกข้าวอย่างจริงจังภายในปี 2553 และ พม่าเริ่มฟื้นจากการทำลายล้างของพายุกลับมาส่งออกได้อีกครั้งหนึ่ง
คำแถลงของผู้นำ ACMECS ยังเห็นพ้องที่จะจัดตั้งกลไกความร่วมมือเพื่อปฏิบัติข้อตกลงต่างๆ อีกหลายด้าน รวมทั้งการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโรคระบาดในสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือไข้หวัดนก
เรื่องที่โดดเด่นอีกเรื่องหนึ่งภายใต้กรอบ ACMECS ก็คือ การเกษตรพันธะสัญญา (Contract Farming) ซึ่งบรรดาผู้นำกล่าวว่าเป็นกลไกสำคัญอย่างหนึ่งในการผลิตอาหารและการสร้างงานแก่ประชาชน
คำแถลงร่วมเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกสนับสนุนสถาบันการเงินให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการรายย่อยในโครงการเกษตรพันธะสัญญาต่างๆ ภายใต้กรอบ ACMECS ส่งเสริมการลงทุนการเกษตรกับอุตสาหกรรมการเกษตรภายในกลุ่ม
คำแถลงร่วม ยังกล่าวถึงความร่วมมือในการผลิตไบโอดีเซล ส่งเสริมการลงทุนผลิตพลังงาน ซึ่งรวมทั้งการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ และการสำรวจน้ำมันดิบและก๊าซ การพัฒนาก่อสร้างระบบสายส่งไฟฟ้าข้ามพรมแดนในกลุ่ม
ผู้นำ ACMECS ได้ส่งเสริมการลงทุนด้านการขนส่งและกระจายสินค้า (Logistics) ตามแนวถนนระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor) แนวเหนือใต้ (North-South Economic Corridor) และ แนวนอนสายใต้ (Southern Economic Corridor)
นอกจากนั้นยังสนับสนุนแผนการจัดตั้ง "เส้นทางการท่องเที่ยว" ขึ้นในอนุภูมิภาค อำนวยความสะดวก ทำให้การตรวจคนเข้าเมืองและการออกวีซ่าง่ายลง เร่งดำเนินการการท่องเที่ยวภายใต้ความคิด "ปลายทางเดียว-ห้าประเทศ" (Five Countries, One Destination)
กลุ่ม ACMECS ยังมีโครงการร่วมสำรวจความเป็นไปได้ในการจัดแพ็คเกจทัวร์ "เส้นทางวัฒนธรรม" เชื่อมแหล่งวัฒนธรรมสำคัญในอนุภูมิภาคเข้าด้วย ซึ่งได้แก่เมืองพุกาม (Bagan) ในพม่า สุโขทัย เสียมราฐ หลวงพระบาง นครเหว (Hue) กับเมืองโฮยอาน (Hoi An) ในเวียดนาม
ผู้นำ ACMECS ยังตกลงกันจะสนับสนุนความร่วมมือในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านการท่องเที่ยว และ จัดทำเว็บไซต์ "การท่องเที่ยว ACMECS" ให้ข้อมูลข่าวสารแก่นักท่องเที่ยวทั่วโลกอีกด้วย.