xs
xsm
sm
md
lg

กรมส่งออกฯ กระตุ้นสร้างแบรนด์แข่งเวทีโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายราเชนทร์  พจนสุนทร อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก
กรมส่งออกฯ มั่นใจยอดส่งออกปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.5 ชี้การส่งเสริมสินค้าไทยให้สามารถแข่งได้ในตลาดโลกต้องเน้นเพิ่มช่องทางตลาดใหม่ และเพิ่มมูลค่าสินค้าด้วยการออกแบบและสร้างตราสินค้า

นายราเชนทร์ พจนสุนทร อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออกกล่าวในการบรรยายพิเศษ “การส่งเสริมสินค้าไทยให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก” ว่า ภาพรวมของการส่งออก ในปีที่ผ่านมา (2550) การส่งออกของไทยมีมูลค่า 152,095 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และคาดหมายว่าในปี 2551 การส่งออกมีเป้าหมายเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.5 โดยอัตราการขยายตัวของการส่งออกของไทยอยู่ในระดับปานกลางเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชีย

ทั้งนี้ โครงสร้างตลาดส่งออกของไทยมีตลาดหลักคือ ตลาดอาเชียน ในเดือนม.ค.-มิ.ย. 2551 มีมูลค่า 15,044 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือร้อยละ 17.2 อันดับสองคือตลาดยุโรป มีมูลค่า 10,595 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือร้อยละ 12.1 รองลงมาคือ ตลาดญี่ปุ่น มีมูลค่า 9,879 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือร้อยละ 11.3 และตลาดสหรัฐอเมริกา มีมูลค่า 9,871 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือร้อยละ 11.3

สินค้าส่งออกสำคัญของไทยแบ่งเป็นสินค้าใช้วัตถุดิบภายในประเทศสูงมากกว่าร้อยละ 80 ได้แก่ ยางพารา ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และกลุ่มสินค้าอาหาร สินค้าที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศสูงระหว่างร้อยละ 50-80 ได้แก่ เฟอร์นิเจอร์ไม้ ชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์ สิ่งพิมพ์ กระดาษและบรรจุภัณฑ์ เครื่องใช้และเครื่องประดับตกแต่งบ้าน สินค้าที่ใช้แรงงานสูง ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ เสื้อผ้าสำเร็จรูปและของเล่น สินค้าที่ใช้เทคโนโลยีสูง ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมไทยที่มีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ ได้แก่ ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป กุ้งสดแช่แข็งและแปรรูป ผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม เครื่องปรับอากาศ เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารและในครัว เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องนุ่งผ้าผืนและเส้นด้าย

นายราเชนทร์ ระบุว่า การส่งเสริมสินค้าไทยให้สามารถแข่งได้ในตลาดโลกต้องเพิ่มช่องทางตลาดใหม่ อาทิ อินโดจีน แอฟริกา อินเดีย ตะวันออกกลาง จีน และละตินอเมริกา โดยใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ ลดต้นทุนด้าน Trade Logistics และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยการพัฒนาการออกแบบผลิตภัณฑ์นวัตกรรมใหม่ ๆ สร้างระบบ Cluster กลุ่มสินค้าและธุรกิจบริการ รวมถึงส่งเสริมผู้ประกอบการไทยไปดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ (Internationalization)

ทั้งนี้ ในการเพิ่มมูลค่าสินค้าด้วยการออกแบบและสร้างตราสินค้าไทย กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ มีการให้ความรู้และให้คำปรึกษาด้านการออกแบบแก่ผู้ผลิต/ผู้ส่งออก การประกวดออกแบบ การส่งเสริมให้สินค้าและนักออกแบบไทยเป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศ การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการผลิตและส่งออก สร้างตราสินค้าของตนเอง รวมถึงการส่งเสริมการใช้ตราสัญลักษณ์สินค้าไทย หรือ Thailand’s Brand และรางวัลผู้ส่งออกดีเด่น Prime Minister Export Award : PM Award

นอกจากนั้น กรมฯ ยังส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยไปดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ ( Internationalization) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นโอกาสในการสร้างมูลค่าเพิ่มจาก Value Chain แสวงหาแหล่งวัตถุดิบ แรงงาน พลังงานและเทคโนโลยี ใช้ประโยชน์จากการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน ในด้านการผลิตมีประเทศกลุ่มเป้าหมายคือ ประเทศ CLMV จีน อินเดีย และฟิลิปปินส์ ในระยะแรก และระยะต่อไป คือประเทศปากีสถาน บังคลาเทศ ตะวันออกกลาง และแอฟริกา

สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายด้านการผลิตคืออุตสาหกรรมที่สูญเสียความสามารถในการแข่งขันจาการผลิตภายในประเทศ ได้แก่ เกษตรและเกษตรแปรรูป เหมืองแร่ พลังงาน ประมง อัญมณีและเครื่องประดับ ชิ้นส่วนยานยนต์ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อาหาร

ส่วนด้านการค้าและบริการประเทศกลุ่มเป้าหมายคือ ประเทศในกลุ่ม ASEAN ในระยะแรก และระยะต่อไป คือ ประเทศจีน อินเดีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป อุตสาหกรรมเป้าหมายด้านการค้าและบริการ คือสินค้าและบริการที่มีแบรนด์ และมีศักยภาพในการขยายตลาด อาทิ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม สปา การศึกษา ร้านอาหารและอู่ซ่อมรถ เป็นต้น

ในขณะนี้มีผู้ส่งออกเข้าร่วมโครงการ Internationalization จำนวน 309 ราย โดยมีตลาดที่สนใจ 5 อันดับแรก คือ กัมพูชา เวียดนาม จีน สหรัฐอเมริกาและพม่า รูปแบบธุรกิจที่สนใจ คือการเปิดห้างร้าน/สาขา การหาตัวแทนการขาย การจัดตั้งโรงงาน การขายแฟรนไชส์ และการแสวงหาวัตถุดิบ ตัวอย่างโครงการ อาทิ โครงการนำนักธุรกิจกลุ่มสินค้าของเล่นแบรนด์เนมไทยไปประกอบธุรกิจในอินเดีย โครงการจัดคณะผู้แทนการค้ากลุ่มสินค้าแฟชั่นที่มีแบรนด์ของตนเองไปสร้างเครือข่ายธุรกิจไทยในอาเซียน เป็นต้น
กลยุทธ์การส่งเสริมการส่งออกไปยังตลาดใหม่คือการวิเคราะห์ตลาดเชิงลึก การจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการส่งออก ได้แก่ In-store Promotion , Thailand Exhibition/Outlet, Incoming Mission ,Outgoing Mission และ Overseas Trade Fair

นอกจากนี้กรมส่งเสริมการส่งออกยังมีสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศในตลาดใหม่ จำนวน 35 แห่งเพื่อการส่งเสริมผู้ประกอบการไทยและจะมีการขอจัดตั้งใหม่อีก 12 แห่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น