xs
xsm
sm
md
lg

วธ.ทุ่ม 100 ล.สร้างต้นกล้าอาชีพ เปิด 28 หลักสูตร ดึงคนอบรมแถมค่าตอบแทนเฉียดหมื่น/ด.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายธีระ สลักเพชร รมว.วธ.
วธ.ทุ่ม 100 ล้าน สร้างต้นกล้าอาชีพศิลปวัฒนธรรม หวังสร้างรายได้ให้คนตกงานและต่อยอดสินค้าวัฒนธรรม สถาบันบัณฑิตฯ เปิด 28 หลักสูตร ยก “แต่งหน้า-ร้องเพลง-กราฟฟิก” ดึงดูดผู้เข้าอบรม มิหนำมีค่าตอบแทนให้เดือนละเฉียดหมื่น

วันนี้ (14 พ.ค.) ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ นายธีระ สลักเพชร รมว.วัฒนธรรม (วธ.) กล่าวภายหลังเป็นประธานแถลงข่าว โครงการต้นกล้าอาชีพศิลปวัฒนธรรม ว่า ตามนโยบายต้นกล้าอาชีพของรัฐบาล ที่ต้องการเพิ่มศักยภาพให้แก่ผู้ว่างงานจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำ จนทำให้เกิดปัญหาการเลิกจ้างงาน รวมถึงช่วยเหลือบัณฑิตที่จะจบการศึกษาในปีการศึกษานี้กว่า 1 ล้านคนที่ยังไม่มีงานทำ ทั้งนี้ จากการเปิดรับสมัครเข้ารับการอบรม มีกระแสการตอบรับเป็นอย่างดี มีผู้สนใจเข้าร่วมลงทะเบียนแล้วกว่า 500 คน ผู้เข้าอบรม สามารถนำความรู้และทักษะต่างๆ มาใช้ประกอบอาชีพได้ ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้อย่างต่อเนื่องและเปิดรับสมัครระหว่างวันที่ 18-24 ของทุกเดือน ทั้งนี้ การเปิดโครงการดังกล่าวจะแตกต่างจากหน่วยงานอื่นๆ เนื่องจากสถาบัณฑิตพัฒนศิลป์ มีหน่วยงานกระจายอยู่ทั่วประเทศ จึงสามารถรองรับผู้เข้าอบรมได้จำนวนมาก

นายกมล สุวุฒิโฑ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กล่าวว่า สถาบันได้ของบประมาณดำเนินการจำนวน 100 ล้านบาท โดยจะมีการเปิดอบรมเน้นที่ นักศึกษาจบใหม่ บัณฑิต และประชาชนทั่วไปที่ว่างงาน ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมระยะเวลา 5 เดือน ตั้งแต่เดือน พ.ค.-ก.ย.นี้ มีหลักสูตรการอบรม ทั้งสิ้น 28 หลักสูตร ในด้านนาฏศิลป์ ด้านดนตรีคีตศิลป์ และด้านช่างศิลป์ โดยจะมีการปรับเปลี่ยนการให้การอบรมหมุนเวียนกันไป
 
ทั้งนี้ จะต้องเข้ารับการอบรมอย่างน้อย เดือนละไม่ต่ำกว่า 20 วัน หรือ ไม่ต่ำกว่า 120 ชั่วโมง โดยทางสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์จะจัดสรรค่าเบี้ยเลี้ยงระหว่างการอบรมให้จำนวน 4,800 บาท ต่อคน โดยจะจ่ายให้ผู้เข้าอบรม จำนวน 160 บาท/คน/วัน รวมทั้งจะมีค่าเดินทาง จำนวน 720 บาท/คน/เดือน ค่าพาหนะเดินทางมาที่ฝึกอบรม เหมาจ่าย 1,000 บาท/คน นอกจากนี้ เมื่อผ่านการอบรมแล้ว จะได้รับค่าเดินทางกลับภูมิลำเนา เหมาจ่าย 1,000 บาท/คน และเงินอุดหนุนเพื่อการประกอบอาชีพ จำนวน 4,800 บาท/คน/เดือน เป็นระยะเวลา ไม่เกิน 3 เดือน โดยหลังจากนั้นจะต้องทำโครงการเสนอต่อองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อต่อยอดขยายสายอาชีพในระดับชุมชนต่อไป

อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กล่าวต่อว่า ทางสถาบันจะเริ่มนำร่องอบรมโครงการดังกล่าว ในเดือน พ.ค.มีสถานศึกษาที่เปิดอบรม ดังนี้ คณะศิลปวิจิตร คณะศิลปศึกษา คณะศิลปนาฏดุริยางค์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ วิทยาลัยช่างศิลป (ลาดกระบัง) วิทยาลัยนาฏศิลป(ศาลายา) โดยหลักสูตรที่จะเปิดอบรม ได้แก่ เทคนิคแต่งหน้าผู้แสดง การขับร้องเพลงไทย เพลงสากล การรำนาฏศิลป์ไทย การออกแบบผลิตภัณฑ์ คอมพิวเตอร์กราฟฟิก เครื่องเคลือบดินเผา จากนั้นในเดือน มิ.ย.-ก.ย.จะมีการขยายการอบรมเข้าสู่วิทยาลัยนาฏศิลปในส่วนภูมิภาคทั้ง 11 แห่ง ได้แก่ ภาคกลาง วิทยาลัยช่างศิลปสุพรรณบุรี วิทยาลัยนาฏศิลปอ่างทองและลพบุรี ภาคเหนือ วิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วิทยาลัยนาฏศิลปร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ และ นครราชสีมา ภาคใต้ วิทยาลัยช่างศิลปนครศรีธรรมราช วิทยาลัยนาฏศิลปนครศรีธรรมราช และพัทลุง และภาคตะวันออก วิทยาลัยนาฏศิลปจันทบุรี อย่างไรก็ตาม สามารถเข้าไปศึกษาเพิ่มเติมในเว็บไซต์ www.tonkla-archeep.com
กำลังโหลดความคิดเห็น