xs
xsm
sm
md
lg

"ฮุนเซน" เคาะกะลาทะเลาะไทยหาเหตุถอยขับไล่ J10?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<CENTER><FONT color=#3366FF> ข้อมูลจากหลายแหล่งระบุว่าเฉิงตู J10 (Chengdu J10) เครื่องบินขับไล่โจมตียุคใหม่ของจีน หน้าตาคล้ายๆ กับเอฟ16 แต่มีสมรรถนะเหนือกว่าเอฟ16 ที่มีใช้ในกองทัพไทย และอาจจะเป็นเป้าหมายของสมเด็จฯ ฮุนเซนซึ่งกำลังจะไปเยือนจีนปลายเดือน ต.ค.นี้ </FONT></CENTER>

ผู้จัดออนไลน์-- อาจจะมีหลายเหตุการณ์ ที่สามารถเชื่อมโยงเข้ากันได้และมีหลายเหตุผลที่สามารถใช้อธิบายการกล้าท้าทายอำนาจกองทัพไทยของผู้นำที่ทรงพลังแห่งกัมพูชาคือ สมเด็จฯ ฮุนซน ในวันจันทร์ (13 ต.ค.) ที่ผ่านมา

แต่ไม่มีผู้ใดที่เชื่อว่า ความกล้าหาญยื่น “คำขาด" ให้ไทยถอนทหารออกจากเขตแดนที่ทั้งสองฝ่ายต่างกล่าวอ้างสิทธิ์นั้น จะไม่มีวาระซ่อนเร้นต่างๆ อยู่เบื้องหลัง

และเรื่องหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ ผู้นำของกัมพูชากำลังใช้การเผชิญหน้ากับการปะทะด้วยอาวุธตามแนวชายแดนกับไทย อ้างความชอบธรรมในการสร้างเสริมความแข็งแกร่งของกองทัพ

เป้าหมายการเสริมเขี้ยวเล็บของกัมพูชา ยังอาจจะรวมถึงเครื่องบินขับไล่โจมตีแบบเฉิงตู J10 สักฝูงหนึ่งด้วย

ตามตัวเลขปี 2544 กองทัพราชอาณาจักรกัมพูชาที่มีกำลังพลประจำการประมาณ 190,000 คน และยังคงพยายามลดลงเรื่อยเพื่อประหยัดงบประมาณรายจ่าย เทียบไม่ได้กับกองทัพไทยที่แข็งแกร่งมีกำลังพล 300,000 มีเครื่องบินรบทันสมัยเอฟ16

กองทัพบกของไทยยังมีฝูงบินเฮลิคอปเตอร์จู่โจม มียานลำเลียงพลหุ้มเกราะทันสมัยที่ผลิตในสหรัฐฯ มีกองทัพรถถังทั้งที่ผลิตในจีนและจากโลกตะวันตก มีปืนใหญ่ขนาด 155 ม.ม. และราชนาวีไทยยังมีกองเรือรบใหญ่โตคุ้มกันน่านน้ำ

ทั้งหมดนี้สำหรับผู้นำกัมพูชายังเป็นเพียงแค่ความฝัน

ปัจจุบันกองทัพกัมพูชามีอาวุธปืนประจำกายหรืออาวุธเบาต่างๆ อย่างเหลือเฟือ แต่เกือบทั้งหมดเป็นของตกค้างจากยุคสงคราม 20-30 ปีก่อน และ อยู่ในสภาพขาดแคลนอย่างหนักอาวุธที่สามารถยิงทำลายหรือยิงสนับสนุนระยะปานกลางและระยะไหล

เขี้ยวเล็บน่าเกรงขามของกองทัพกัมพูชาที่เหลืออยู่จึงมีเพียงขีปนาวุธต่อสู้อากาศยานแบบ SAM7 แบบเล็งประทับบ่ายิงที่ผลิตในรัสเซียและยังไม่เคยได้ใช้การเลยในช่วง 30 ปีมานี้
<CENTER><FONT color=#3366FF>เขี้ยวเล็บผุๆ --- ภาพถ่ายวันที่ 17 ธ.ค.2550 เครื่องบินรบซึ่งเจ้าหน้าที่กัมพูชาบอกว่าเป็น มิก 21 จำนวนกว่า 10 ลำ จอดเรียงรายกันกลางแจ้งที่สนามบินทหาร ที่อยู่อีกฟากหนึ่งของท่าอากาศยานโปเจินตง นักการทูตกล่าวว่ากองทัพกัมพูชากำลังแสวงหาเครื่องบินรบรุ่นใหม่และอาวุธทันสมัยยุคใหม่เข้าใช้แทนอาวุธที่ส่วนใหญ่ตกค้างมากจากยุคสงครามเย็น <FONT></CENTER>
เชื่อว่าในกองทัพกัมพูชายังมีประจำการอยู่นับร้อยชุดแม้ว่าจะมีการทำลายไปแล้วกว่า 200 ชุดตั้งแต่ปี 2547 โดยการสนับสนุนของสหรัฐฯ ที่เกรงว่าอาวุธร้ายแรงนี้จะตกถึงมือกลุ่มก่อการร้าย และเป็นภัยข่มขู่ต่อการบินพลเรือน

อาวุธทุกชนิดรวมทั้งอาวุธหนักเช่นปืนใหญ่ 120, 122 ม.ม. รถถังขนาดต่างๆ ที่ผลิตในรัสเซียล้วนเป็นของตกรุ่น เก่าแก่ ส่วนใหญ่อยู่ในสภาพขึ้นสนิมเขรอะ

เมื่อเกิดการเผชิญหน้าทางทหารกับไทยในเขตเขาพระวิหารในเดือน ก.ค.ปีนี้ ทั่วโลกได้เห็นภาพทหารกัมพูชานั่งขัดปืนอาก้า ซึ่งเป็นอาวุธประจำที่ถูกสนิมกัดกร่อนจนชิ้นส่วนต่างๆ กลายเป็นสีแดง ทหารอีกกลุ่มหนึ่งถอดปืนกลกับปืนไร้แรงสะท้อนออกเป็นชิ้นๆ เอาน้ำมันชโลม

ทหารเหล่านั้นขัดถูสนิมและชโลมน้ำมันอย่างเร่งรีบ เพื่อให้ทันเวลาใช้งาน ขณะที่พลพรรคกว่า 1,000 คน กำลังเผชิญหน้ากับทหารไทยอีกราว 500 นายอย่างใกล้ชิดในเขตวัดแห่งหนึ่งใกล้กับปราสาทพระวิหาร

แต่สภาพเช่นนี้กำลังค่อยๆ เปลี่ยนไป

การออกทายท้าพลังอำนาจกองทัพไทยของสมเด็จฯ ฮุนเซน ยังมีขึ้นขณะที่ความสัมพันธ์กับจีนและสหรัฐฯ กำลังกระชับแนบแน่น ซึ่งรวมทั้งความร่วมมือด้านกลาโหมด้วย แม้สหรัฐฯ จะยังยืนว่าสองฝ่ายไม่มีการร่วมมือใดๆ อันเกี่ยวกับอาวุธก็ตาม

ในวันที่สมเด็จฯ ฮุนเซน ยื่นคำขาดทหารไทยถอนไปจากดินแดนที่กล่าวอ้างว่าเป็นของกัมพูชานั้น เรือพิฆาตมัสติน (Mustin) ของกองทัพเรือแปซิฟิกสหรัฐฯ กำลังจอดทอดสมออยู่ที่ในทะเลนอกฐานทัพเรือเรียม (Ream) เมืองสีหนุวิลล์
<CENTER><FONT color=#3366FF> ภาพจากปี 2536 เครื่องบินขับไล่โจมตีแบบมิก (Mikoyan) ที่ผลิตในอดีตสหภาพโซเวียต เคยเป็นเขี้ยวเล็บสำคัญของกองทัพกัมพูชา ปัจจุบันสนิมเขรอะและไม่ได้ขึ้นบินมานับสิบปีแล้ว สมเด็จฯ ฮุนเซนกำลังตีเกราะเคาะไม้พยายามสร้างความชอบธรรมเพื่อหาของเล่นใหม่ในสนามรบ  </FONT></CENTER>
ในเดือน ก.ค. ปีนี้ สหรัฐฯ ได้มอบรถบรรทุกทหารยีเอ็มซีที่ปลดประจำการแล้วกว่า 60 ลำให้แก่กัมพูชา

ปีที่แล้วจีนได้มอบเรือลาดตระเวนชายฝั่งติดอาวุธให้กัมพูชาจำนวน 9 ลำจากทั้งหมด 19 ลำที่ซื้อในราคามิตรภาพ ก่อนหน้านั้นในปี 2549 เวียดนามได้มอบเรือตรวจการณ์ชายฝั่งที่ใหญ่กว่าจำนวน 2 ลำ โดยกล่าวว่าจะนำไปใช้ในภารกิจต่อต้านโจรสลัดและการก่อการร้ายข้ามชาติ

อย่างไรก็ตามในช่วง 2-3 ปีมานี้ไม่เคยมีรายงานเกี่ยวกับปฏิบัติการของโจรสลัด หรือการสกัดกั้นการลักลอบขนอาวุธของกลุ่มก่อการร้ายในเขตน่านน้ำกัมพูชาแม้แต่ครั้งเดียว

**จำเป็นต้องมีอาวุธทันสมัย**

กัมพูชามีบทเรียนในอดีตในปี 2522 ที่กองทัพเวียดนามยาตราข้ามพรมแดน และสามารถเข้ายึดกรุงพนมเปญได้ในเวลาเพียงแต่ 7 วัน ในยุคนั้นฝ่ายเขมรมีแต่ความยะโสโอหัง แต่ไม่มีอาวุธที่ดีพอในการรบ ต้องใช้ปืนอาก้า (AK47) ยิงเครื่องบินรบเวียดนาม

สงครามเย็นได้ผ่านพ้นไป สถานการณ์รอบบ้านก็เปลี่ยนไปมาก กัมพูชาที่ไร้หลังพิงกำลังเผชิญหน้ากับกองทัพที่ใหญ่โตกว่าทางด้านตะวันตก ขณะเดียวกันก็เผชิญกับกองทัพเวียดนามที่กำลังพัฒนาให้ทันสมัยควบคู่ไปกับการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ

ในสายตาของนักยุทธศาสตร์แล้ว กัมพูชาไม่ได้มีความสำคัญกับสหรัฐฯ มากมายนักในแง่การทหาร สหรัฐฯ กำลังเร่งเสริมสร้างสัมพันธ์กับเวียดนาม ให้ประเทศนี้แข็งแกร่ง สามารถต่อรองกับจีนที่พยายามคืบคลาน แผ่อิทธิพลเข้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้

แต่เมื่อบริษัทเชฟรอน (Chevron Corp) จากสหรัฐฯ ประกาศการค้นพบน้ำมันดิบในแปลงสำรวจนอกชายฝั่งในต้นปี 2549 กัมพูชาได้ปรากฏตัวโดดเด่นขึ้นมาทันทีบนแผนที่โลก
<CENTER><FONT color=#3366FF> ภาพจำลองขีปนาวุธต่อสู้อากาศยาน SAM7 ที่ทำลายไปกว่า 200 ชุดเมื่อปี 2547 ปัจจุบัน เชื่อว่าในกองทัพกัมพูชายังมีขีปนาวุธแบบเดียวกันนี้เหลือประจำการอีกนับร้อยชุด</FONT></CENTER>
นักวิเคราะห์กล่าวก่อนหน้านี้ว่า รัฐบาลกัมพูชาตัดสินใจอย่างชาญฉลาดในการเลือกบริษัทน้ำมันจากสหรัฐฯ เป็นรายแรกในการเข้าสำรวจขุดเจาะในเขตน่านน้ำอ่าวไทย ในขณะที่กรณีพิพาทเรื่องน่านน้ำและดินแดนกับไทยยังไม่ได้รับการแก้ไข

อย่างไรก็ตามมหาอำนาจชาติใหม่ที่เริ่มเข้ามีอิทธิพลอย่างสูงในกัมพูชาในช่วงปีใกล้ๆ นี้กลับเป็นคอมมิวนิสต์จีน

ประเทศนี้กำลังให้การสนับสนุนทุกๆ อย่างที่รัฐบาลกัมพูชาร้องขอ ขณะที่บริษัทจีนกำลังสำรวจน้ำมันดิบในเขตนอกฝั่งสีหนุวิลล์ และบริษัทผลิตไฟฟ้าจากจีนอีกหลายบริษัทกำลังสำรวจและก่อสร้างเขื่อน 3-4 แห่งในกัมพูชาขณะนี้

บริษัทเหมืองแร่จากจีนกำลังเพ่งไปที่แหล่งแร่บอกไซต์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของกัมพูชา บริษัทลงทุนอีกแหลายแห่งได้เข้าครอบครองพื้นที่ ลงทุนก่อสร้างเขตอุตสาหกรรมในสีหนุวิลล์

ในวันเดียวกับที่ยื่นคำขาดให้ไทยถอนทหาร สมเด็จฯ ฮุนเซนได้ประกาศแผนการไปเยือนจีนในปลายเดือนนี้ ซึ่งจะได้เข้าพบหารือข้อราชการกับผู้นำของจีนหลายคน และกำลังจะขอความช่วยเหลือประมาณ 300 ล้านดอลลาร์ สำหรับ "โครงการพัฒนา" ที่ไม่เปิดเผย

อย่างไรก็ตามในช่วงวันสองวันหลังการปะทะกับไทยที่ชายแดนด้านภูมะเขือ ช่างภาพของสำนักข่าวต่างประเทศได้บันทึกภาพทหารกัมพูชาถือเครื่องยิงระเบิดอาร์พีจี “เบ41” (B41) ไม่ต่างกับปืนแรงสะท้อน 105 ม.ม.ในสภาพใหม่เอี่ยม ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอาวุธเหล่านี้ถูกนำเข้าประจำการในยุคหลังสงครามกลางเมือง

นักการทูตในกรุงพนมเปญเคยบอกกับ "ผู้จัดการรายวัน" ในเดือน ธ.ค.ปีที่แล้วว่า กัมพูชากำลังแสวงหา "อาวุธยุคใหม่" ซึ่งอาจจะรวมทั้งปืนกลสำหรับกำลังพล อาวุธยิงสนับสนุนระยะปานกลาง-ระยะไกล และอาจจะรวมถึงเครื่องบินขับไล่โจมตี J10 ซึ่งเป็นเครื่องบินรบรุ่นใหม่ที่กองทัพประชาชนจีนภาคภูมิใจด้วย

**กองทัพยุคใหม่ต้องทันสมัย **

นอกจากนั้นนักการทูตได้พูดถึงเสียงซุบซิบกันในหมู่ทูตทหารในกรุงพนมเปญที่ว่า กำลังจะมีอาวุธใหม่ทันสมัยจะไปถึงมือสมเด็จฯ ฮุนเซนในปีสองปีนี้ อาจจะรวมทั้ง"อากาศยาน" ที่ไม่มีการเปิดเผยเกี่ยวกับประเภทจากฝรั่งเศส และอาวุธรุ่นใหม่ๆ จากรัสเซียด้วย

บางคนกล่าวว่าไม่ใช่เรื่องน่าแปลกถ้าหากรัฐบาลสมเด็จฯ ฮุนเซน ได้ไปเซ็นความตกลงลับๆ ซื้อเฮลิคอปเตอร์จากฝรั่งเศสกับรัสเซีย โดยแลกเปลี่ยนกับผลประโยชน์ด้านการสำรวจขุดเจาะน้ำมันในประเทศ

กัมพูชามีเฮลิคอปเตอร์ 2-3 รุ่นที่ผลิตในสหภาพโซเวียตในอดีต แต่ก็มีไม่กี่ลำที่ยังพอขึ้นบินได้ นอกจากนั้นยังมีเฮลิคอปเตอร์ที่ผลิตในฝรั่งเศสอีกจำนวนหนึ่งที่ใช้งานมาตั้งแต่ยุคองค์การสหประชาชาติเข้าบริหารจัดการประเทศนี้ ก่อนจะมีการเลือกตั้งในปี 2536

เฮลิคอปเตอร์เหล่านั้นสงวนเอาไว้ใช้งานสำหรับการเดินทางของผู้นำหรือบุคคลสำคัญเท่านั้น

กองทัพกัมพูชามีเครื่องบินมิก 17 มิก 19 กับมิก 21ที่ผลิตในสหภาพโซเวียตหายสิบลำ ปัจจุบันมีกว่า 10 ลำจอดตายที่สนามบินทหาร ซึ่งอยู่อีกฟากหนึ่งของท่าอากาศยานโปเจินตง (Pochentong) เมื่อลงจากเครื่องบินที่สนามบินแห่งนี้ก็จะมองเห็นได้จากระยะไกล

เชื่อกันว่ายังมีเครื่องบินมิกรุ่นเก่านี้อีกจำนวนหนึ่งที่สนามบินพระตะบอง แต่ก็มีสภาพไม่ต่างกัน
<CENTER><FONT color=#3366FF> ปี 2546-2547 มีการทำลายขีปนาวุธต่อสู้อากาศยาน SA3 นับร้อยลูก โดยการอุปถัมภ์ของสหรัฐฯ ปี 2547 มีการทำลายระบบขีปนาวุธต่อสู้อากาศยานแบบประทับบ่ายิงจำนวน 234 ชุด โดยอุปถัมภ์ของสหรัฐฯ เช่นเดียวกัน </FONT></CENTER>
กองทัพกัมพูชาอยู่กับอาวุธที่ล้าหลังมานานกว่า 2 ทศวรรษ หลังจากสงครามกลางเมืองสิ้นสุดลงและมีการทำลายอาวุธชนิดต่างๆ ไปแล้วหลายร้อยตัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าระบบป้องกันของประเทศนี้ไม่เคยมีความจำเป็นในช่วงที่ผ่านมา จนกระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้

เป็นที่ทราบกันดีว่า ในแต่ละปีกัมพูชาได้ส่งทหารจำนวนมากไปฝึกอบรมหลักสูตรต่างๆ ในจีน และในโซเวียต ขณะที่ความร่วมมือคล้ายๆ กันนี้กำลังจะเริ่มขึ้นกับกองทัพสหรัฐฯ ถึงแม้ว่าโอกาสที่จะได้อาวุธทันสมัยจากอภิมหาอำนาจเพียงหนึ่งเดียวของโลกจะมีอยู่น้อยมากก็ตาม

ระหว่างผู้บัญชาการกองเรือแปซิฟิกของสหรัฐฯ ไปเยือนในปี 2549 สมเด็จฯ ฮุนเซน ให้สัมภาษณ์ว่า กัมพูชามีอาวุธมากพอแล้ว และไม่ต้องการอาวุธใดๆ จากสหรัฐฯ แต่สิ่งที่ต้องการคือ อยากให้ช่วยฝึกคนที่ใช้อาวุธ

ในวันนี้ผู้นำกัมพูชาอาจจะคิดอีกอย่างหนึ่ง

**ซื้ออาวุธทันสมัยแพง-ไม่ง่าย**

ถึงแม้ว่าพรรคประชาชนกัมพูชา (Cambodian People's Party) ของสมเด็จฮุนเซนจะครองเสียงข้างมากถึง 90% ในสภาผู้แทนราษฎร และเป็นยรัฐบาลที่มีอำนาจเบ็จเสร็จก็ตาม แต่การหาความชอบธรรมในการซื้ออาวุธทันสมัยนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย

ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจของประเทศนี้จะขยายตัวเฉลี่ยปีละกว่า 10% ในช่วงปีใกล้ๆ นี้ แต่สองในสามของประชาชน 14 ล้านคน ยังคงมีรายได้ต่ำกว่าวันละ 50 เซ็นต์ คือวันละ 10 กว่าบาทเท่านั้น
<CENTER><FONT color=#3366FF> รถถัง T54 ที่ผลิตในโซเวียตนับร้อยคันปัจจุบันวิ่งได้อยู่ไม่กี่คัน และไม่มีอะไหล่อีกแล้ว สมเด็จฯ ฮุนเซนกำลังมองไปยังรถถังจีน? </FONT></CENTER>
ถึงแม้ว่ากัมพูชาจะผลิตข้าวได้เหลือเฟือจนส่งออกได้ปีละ 2 ล้านตัน แต่เด็กอ่อนจนถึงวัยที่เข้าเรียนระดับประถมศึกษา นับแสนๆ คนทั่วประเทศยังต้องพึ่งพาอาหารกลางวันจากองค์การระหว่างประเทศ

นอกจากนั้นในแต่ละปีกัมพูชายังต้องพึ่งพาเงินช่วยเหลือจากกลุ่มประเทศผู้บริจาคนับพันล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยพยุงฐานะการเงินการคลังของประเทศ ขณะที่ยังต้องนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคเกือบทุกชนิด รวมทั้งนำเข้าไฟฟ้าจากไทยและนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปถึง 100%

ประเทศผู้บริจาคเหล่านี้คงจะไม่มีความสุข ถ้าหากทราบความจริงว่า ประเทศยากจนที่ชาวโลกกำลังช่วยเหลืออยู่นี้กำลังจะใช้เงินงบประมาณมหาศาลไปในการซื้ออาวุธ

ความชอบธรรมจึงเป็นสิ่งที่สมเด็จฯ ฮุนเซนกับรัฐบาลต้องการมาก ในการเสริมเขี้ยวเล็บของกองทัพ.

(ปรับปรุงเพิ่มเติมจากบทวิเคราะห์ที่ตีพิมพ์ใน "ผู้จัดการรายวัน" ฉบับวันศุกร์ที่ 17 ต.ค.2551)

กำลังโหลดความคิดเห็น