ผู้จัดการรายวัน -- นางลอรา บุช สตรีหมายเลข 1 ภริยาประธานาธิบดีสหรัฐฯ เดินทางเยือนค่ายผู้ลี้ภัยชาวพม่าที่ชายแดน จ.ตาก ของไทย เมื่อวันพฤหัสบดีนี้ พร้อมทั้งเรียกร้องให้คณะผู้นำทางทหารในพม่าเปิดการสนทนากับฝ่ายค้านอย่างจริงจัง เพื่อหาทางยุติความขัดแย้งและให้ผู้ลี้ภัยหลายหมื่นคนสามารถกลับสู่บ้านเกิดได้
การเยือนของ นางลอรา บุช มีขึ้นเพียง 1 วันก่อนจะครบรอบปีที่ 20 การเกิดเหตุการณ์ “888” หรือการปราบปรามประชาชนที่เดินขบวนเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่าครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 8 ส.ค.1988 และมีขึ้นในวันเดียวกันกับที่ประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช พบปะกับผู้นำชาวพม่าพลัดถิ่นในประเทศไทย
นางบุช ซึ่งเป็นผู้ที่ออกวิจารณ์คณะปกครองทหารในพม่ามาอย่างสม่ำเสมอ ฐานละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างสูง เดินทางถึงค่ายผู้ลี้ภัย พร้อม บาบารา บุช บุตรสาวคนเล็ก ที่นั่นมีชาวพม่าที่หนีภัยเข้าสู่ประเทศไทยอาศัยอยู่กว่า 120,000 คน
ภริยา ปธน.สหรัฐฯ ได้ขอบคุณรัฐบาลไทยที่อนุญาตให้มีการตั้งค่ายผู้ลี้ภัยจำนวนทั้งหมด 9 แห่งตามแนวชายแดนกับพม่า
“ถ้าหากสามารถเห็นการเปลี่ยนแปลงในรัฐบาลพม่าได้.. ประชาชนก็จะสามารถเดินทางกลับบ้านได้โดยสวัสดิภาพ ซึ่งจะเป็นผลลัพธ์ที่ดีที่สุด” นางบุช กล่าว
“ทางออกที่ดีที่สุดน่าจะเป็นว่า พลเอกตานฉ่วย เปิดการสนทนาอย่างแท้จริง (กับพรรคฝ่ายค้าน)” สตรีหมายเลข 1 กล่าวกับผู้สื่อข่าวหลังพิธีต้อนรับ ที่มีการจัดฟ้อนรำในชุดประจำชาติและชุดประจำชนเผ่าต่างๆ ด้วย
ตามรายงานของสำนักข่าวเอเอฟพี ที่ค่ายผู้ลี้ภัยแม่ลามีชาวพม่าอาศัยอยู่ราว 35,000 คน ที่นั่นตั้งอยู่เชิงเขาที่กั้นพรมแดนระหว่างสองประเทศ แต่การเดินทางข้ามพรมแดนเป็นการเสี่ยงต่อชีวิต คนเหล่านี้หลบหนีการปราบปรามโดยทหารรัฐบาล
ค่ายแม่ลาเป็นตั้งขึ้นที่บริเวณเดียวกันกับค่ายผู้อพยพสำหรับชาวกะเหรี่ยง ซึ่งเป็นค่าผู้ลี้ภัยแห่งแรกตั้งแต่ปี 2537 หลังจากฝ่ายรัฐบาลได้บุกเข้ากวาดล้างฝ่ายต่อต้านในรัฐกะเหรี่ยง ทำให้คนนับหมื่นๆ ทะลักข้ามแดนสู่ประเทศไทย
ผู้ลี้ภัยจากพม่าส่วนมากเป็นชนชาติส่วนน้อย รวมทั้งชาวกะเหรี่ยงที่นับถือคริสต์ศาสนา และสหรัฐฯ รับปากที่จะรับผู้ลี้ภัยเหล่านี้จำนวน 26,811 คนไปตั้งถิ่นฐานในสหรัฐฯ
แต่ นางบุช กล่าวว่า “ผู้คนส่วนใหญ่ไม่อยากจะย้ายไปอยู่ประเทศที่สาม พวกเขาอยากจะกลับบ้านด้วยความปลอดภัยและมีความมั่นคงในชีวิต”
วันเดียวกันภริยา ปธน.สหรัฐฯ ยังได้ไปเยี่ยมเยือนคลินิกแห่งหนึ่ง ที่ตั้งขึ้นเพื่อให้บริการดูแลสุขภาพแก่แรงงานพม่าพลัดถิ่นโดยไม่เก็บค่ารักษา
ประธานาธิบดีสหรัฐฯ พร้อมครอบครัวเดินทางถึงกรุงเทพฯ ตอนเย็นวันพุธที่ผ่านมา โดยผู้นำสหรัฐฯ ได้ยกย่องความพยายามของฝ่ายต่างๆ ทีได้พยายามแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยคณะทหารในพม่าที่ปกครองประเทศมาตั้งแต่ปี 2505
“ได้มีแชมเปียนจำนวนมากในภารกิจอันมีเกียรติเหล่านี้ และข้าพเจ้าเองก็ได้แต่งงานกับบุคคลหนึ่งในนั้น” ผู้นำสหรัฐฯ ระบุในร่างคำปราศรัย วันเดียวกับที่เดินทางถึงกรุงเทพฯ
ปธน.สหรัฐฯ กล่าวในคำแถลงฉบับหนึ่งที่ออกเมื่อวันพุธ ระบุว่า รัฐบาลสหรัฐฯ จะต้องหยุดยั้ง “ทรราช” ในพม่า ซึ่งสะท้อนถ้อยคำของ นางคอนโดลีซซา ไรซ์ รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ ที่เคยเรียกพม่าเป็น “ที่ตั้งมั่นของระบอบทรราช”
ในกรุงเทพฯ ปธน.สหรัฐฯ ยังได้พบกับชาวพม่าพลัดถิ่นจำนวนหนึ่ง รวมทั้งนักการเมืองที่ลี้ภัยเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยด้วย
ผู้นำสหรัฐฯ กล่าวกับชาวพม่าพลัดถิ่นเหล่านั้นว่า “ชาวอเมริกันพากันสวดให้มีวันที่ประชาชน (ชาวพม่า) จะมีอิสระ”
เหตุการณ์ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพียง 1 วัน ที่จะมีพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในกรุงปักกิ่ง ซึ่งผู้นำสหรัฐฯ ได้ใช้ประเทศไทยเป็นเวทีโจมตีกล่าวหาเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจีนเช่นเดียวกัน
นอกจากนั้น การเยือนค่ายผู้ลี้ภัยของ นางบุช และการพบชาวพม่าพลัดถิ่นของผู้นำสหรัฐฯ ยังมีขึ้นเพียง 1 วัน ก่อนวันครบรอบปีที่ 20 การปราบปรามผู้เดินขบวนเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 3,000 คนในพม่า และนำมาสู่การกักขังนางอองซานซูจีให้อยู่ในบ้านพักมาจนถึงปัจจุบันคิดเป็นเวลารวมกันราว 17 ปี
นางซูจี ผู้นำพรรคสันนิบาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD (National League for Democracy) มีชัยอย่างท่วมท้นในการเลือกตั้งปี 3533 แต่คณะปกครองทหารไม่ยอมลงจากอำนาจ
ในวันศุกร์นี้ นักศึกษาและชาวพม่าพลัดถิ่นหลายหมื่นคนทั่วโลกมีกำหนดที่จะจัดกิจกรรมหลายอย่างเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์นี้
เมื่อปีที่แล้วชาวพม่านับแสนคนลงสู่ท้องถนนในกรุงย่างกุ้ง เมืองมัณฑะเลย์ กับอีกหลายเมืองในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ เพียงประมาณ 2 เดือน หลังจากรัฐบาลขึ้นราคาน้ำมันเชื้อรวดเดียว 600% โดยไม่มีการแจ้งเตือนล่วงหน้า ซึ่งได้ทำให้ประชาชนทั่วไปมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างลำบาก
การประท้วงแผ่ลามออกไปเป็นประเด็นขับไล่รัฐบาลทหาร และนำมาสู่การปราบปรามอย่างรุนแรงในเดือน ก.ย.ซึ่งองค์การสหประชาชาติกล่าวว่ามีผู้เสียชีวิต 31 คน
ทางการพม่าจับกุมพระสงฆ์ที่เป็นหัวหอกการประท้วงเมื่อปีที่แล้วไปหลายรูป รวมทั้งอดีตผู้นำนักศึกษาที่เคยนำการประท้วงเมื่อ 20 ปีก่อนอีกหลายคน
อีกเหตุการณ์หนึ่งเมื่อวันอังคาร นายโทมัส โอเจีย ควินตานา (Thomas Ojia Quintana) ทูตพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ ได้ไปเยี่ยมชมกิจการของเรือนจำอิงเส่ง (Insein) ที่ขึ้นชื่อในกรุงย่างกุ้ง และได้พบกับนักโทษการเมืองพม่าหลายคน รวมทั้ง นายวินทิน (Win Tin) นักหนังสือพิมพ์วัย 78 ปีที่ต้องโทษยาวนานที่สุด คือ ตั้งแต่ปี 2532 เป็นต้นมา
หลายปีมานี้สหรัฐฯ ได้เป็นผู้นำในการคว่ำบาตรคณะปกครองทหารในพม่า อีกหลายประเทศรวมทั้งแคนาดา ออสเตรเลียและสหภาพยุโรปก็ได้เข้าร่วมด้วย หลังจากเวลาผ่านไปหลายปีและรัฐบาลทหารยังไม่ได้แสดงความตั้งใจจริงที่จะพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศและไม่ยอมแก้ไขปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชน
สัปดาห์ที่แล้ว ปธน.สหรัฐฯ ได้ลงนามในร่างรัฐบัญญัติฉบับหนึ่งเพื่อให้มีผลเป็นกฎหมายที่คว่ำบาตรการนำเข้าเพชรพลอย และเครื่องประดับอัญมณีต่างๆ ซึ่งมีต้นทางจากพม่า โดยนำเข้าผ่านประเทศที่สาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ ไทย อินเดีย และจีน
ในกรุงเทพฯ วันเดียวกัน นางบุช ได้เข้าร่วมสามีเรียกร้องไปยังรัฐบาลจีน ให้ “ทำในสิ่งที่ประเทศอื่นๆ ได้กระทำ โดนทำการคว่ำบาตรด้านการเงินแก่คณะปกครองทหาร (พม่า)” ก่อนจะออกเดินทางไปร่วมพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกกรุงปักกิ่ง ที่จะมีขึ้นในวันศุกร์