ผู้จัดการออนไลน์-- ลาวโดยสมาคมมิตรภาพลาว-คิวบา ได้จัดปาฐกถารำลึกครบรอบปีที่ 80 วันเกิดของ น.พ.เออร์เนสโต เช เกวารา (Ernesto Che Guevara) อดีตผู้นำนักรบปฏิวัติที่มีชื่อเสียงแห่งอเมริกาใต้
การจัดปาฐกถาจัดขึ้นสัปดาห์ที่แล้วโดยร่วมกับสถานทูตคิวบาประจำเวียงจันทน์ โดย นายจะเลิน เยียปาวเฮอ รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมลาวซึ่งเป็นประธานสมาคมมิตรภาพลาว-คิวบา กับ นางอีวอนน์ ซัวอาเรซ (Ivonne Suarez) เอกอัครราชทูตคิวบาประจำลาว ร่วมเป็นองค์ปาฐก
ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ "ประชาชน" รายวัน การแสดงปาฐกถารำลึก 80 "เช เกวารา" มีพนักงานกระทรวงยุติธรรมและบุคคลทั่วไปเข้าร่วมรับฟังกว่า 100 คน
องค์ปาฐกได้ "บอกเล่าเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของสหายเช เกวารา ซึ่งติดพันกับภารกิจตู่สู้ปฏิวัติของประชาชนคิวบา เช่นเดียวกันกับประชาชนที่ก้าวหน้าในทั่วทวีปอเมริกากลาง เพื่อเอกราชแห่งชาติ อิสรภาพอันแม้จริงของปวงชนและความเป็นธรรมในสังคม" หนังสือพิมพ์ของศูนย์กลางพรรคประชาชนปฏิวัติลาวกล่าว
"สหายเช เกวารา ได้กลายเป็นวีรชนและเป็นตัวอย่างอันแจ่มชัดของคนหนุ่มสาว.." สื่อของทางการลาวกล่าว
ตอนที่ชื่อ "เช" เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกนั้น เจ้าของชื่อได้เสียชีวิตไปแล้ว จากการยิงสังหารของทหารโบลิเวีย ในเดือน ต.ค.2510
แต่ชื่อนี้ รวมทั้งประวัติการต่อสู้ของเจ้าของได้กลายเป็นตำนาน เป็นตัวอย่างและเป็นแรงบันดาลใจของคนหนุ่มสาวเรือนล้านทั่วโลก เป็นแบบอย่างของต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับประชาชนคนยากคนจนในประเทศต่างๆ ให้พ้นจากการขดขี่และการเอารัดเอาเปรียบ เพื่อประกาศศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
ปี 2499 นพ.เช เดินทางจากเม็กซิโกในเรือยอชท์เก่าๆ ลำหนึ่ง ข้ามทะเลแคริบเบียนไปขึ้นบกที่ประเทศคิวบา พร้อมกับฟิเดล คัสโตร และ พลพรรคเพียงหยิบมือเดียว เพื่อเริ่มการปฏิวัติยึดอำนาจในประเทศที่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของสหรัฐฯ
"เช" เป็นผู้บัญชาการคนสำคัญในการปฏิวัติคิวบา และเพียง 2 ปีถัดมากองกำลังฝ่ายปฏิวัติก็ได้เคลื่อนเข้าสู่กรุงฮาวานา อย่างผู้มีชัย กลายเป็นประเทศแรกในละตินอเมริกาที่ได้รับการ “ปลดปล่อย”
ตำนานการต่อสู้ของเชนั้นยาวนาน และไม่ได้หยุดอยู่ที่คิวบา เขาปล่อยชัยชนะในประเทศนั้นให้แก่บรรดาสหายเจ้าของประเทศ ตัวเองได้ตัดสินใจเดินทางไปทั่วอเมริกาใต้ จนเกิดคำกล่าวขึ้นมาว่า "ที่ไหนมีการกดขี่ ที่นั่นมีเช"
เกิดวันที่ 14 มิ.ย.2471 ที่เมืองโรซาริโอ (Rosario) ประเทศอาร์เยนตินา ในครอบครัวชนชั้นกลางที่มีเชื่อสายบาสก์ (ในสเปน) ปนไอริช
ตอนที่เป็นหนุ่มนักเรียนแพทย์ เชกับเพื่อนคนหนึ่งได้ออกเดินทางท่องเที่ยวโดยจักรยานยนต์ไปทั่วลาตินอเมริกา ได้ไปเห็นความทุกข์ยากของผู้คนในดินแดนต่างๆ ซึ่งสิ่งนี้ได้เปลี่ยนความรู้สึกนึกคิดของคนหนุ่มที่กำลังมีอนาคตรุ่งโรจน์
เชได้ข้อสรุปจากประสบการณ์ที่พบเห็นในช่วงหลายปีนั้น เขามองว่าความยากจนของผู้คนนับล้านๆ ในภูมิภาคนั้นเกิดจากความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ การผูกขาดโดยทุนนิยม และขบวนการทุนนิยมใหม่ รวมทั้งลัทธิจักรพรรดินิยม ที่เข้าไปครอบงำทั้งเศรษฐกิจและการเมืองทั่วอเมริกากลาง
เชเริ่มปฏิบัติตามความเชื่อของเขาโดยเข้าร่วมการปฏิรูปทางสังคมของประธานาธิบดียาโคโบ อาเบนซ์ (Jacobo Arbenz) ในกัวเตมาลา ยังไม่สำเร็จก็ถูกรัฐประหารโค่นลงจากอำนาจ โดยมีองค์การสืบราชการลับซีไอเอของสหรัฐฯ อยู่เบื้องหลัง
เหตุการณ์นี้ยิ่งทำให้นายแพทย์หนุ่ม เชื่อมั่นอย่างปักใจว่า ความคิดในการทำสงครามประชาชนนั้นถูกต้อง
ต่อมาเชได้พบกับ ฟิเดล คัสโตร (Fidel Castro) ในเม็กซิโก และได้ตัดสินเข้าร่วมขบวนการปฏิวัติคิวบาในทันที
แต่แล้วเชก็ได้ออกเดินทางจากคิวบาในปี 2508 ไปร่วมขบวนการปฏิวัติในประเทศคองโก ก่อนจะเดินทางกลับลาตินอเมริกาอีกครั้ง และ ถูกจับในป่าขณะเคลื่อนไหวปฏิวัติในประเทศโบลิเวีย การจับกุมครั้งนี้มีซีไอเออยู่เบื้องหลังเช่นเดียวกัน
ตอนที่เชถูกสังหารนั้นมีอายุเพียง 39 ปี และ อีก 30 ปีต่อมาคือในปี 2540 จึงมีการขุดค้นศพของเขาพร้อมสหายร่วมรบอีก 4 คน อัฐิถูกส่งกลับไปยังคิวบา ซึ่งที่นั่นประธานาธิบดีคัสโตร สร้างอนุสรณ์สถานให้แก่นักปฏิวัติผู้กล้าอย่างยิ่งใหญ่
จนกระทั่งในวันนี้เด็กๆ และหนุ่มสาวในอเมริกาใต้ก็ยังรู้จัก "เช เกวารา" แต่ในส่วนอื่นๆ ของโลกก็มอง "วีรชน" ของค่ายคอมมิวนิสต์คนนี้แตกต่างกันไป
อดีตประธานาธิบดีเนลสัน มันเดลา แห่งแอฟริกาใต้ ที่เคยต่อสู้กับลัทธิเหยียดผิวเหยียดเชื้อชาติมานานหลายทศวรรษกล่าวว่า เช "เป็นแรงบันดาลใจให้แก่ มนุษย์ทุกคนที่ใฝ่หาอิสรภาพ"
นิตยสารข่าว "ไทมส์" เคยจัด น.พ.เช เกวารา เป็นหนึ่งใน 100 ผู้มีอิทธิพลทางความคิดมากที่สุด ในศตวรรษที่ 20
ฌ็อง-ปอล สาร์ต (Jean-Paul Sartre) นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส ที่เคยพบและสนทนากับเชกล่าวเอาไว้ว่า "ไม่เพียงแต่เป็นปัญญาชนเท่านั้น แต่ยังเป็นมนุษย์ปุถุชนที่สมบูรณ์พูลพร้อมที่สุดในยุคของเรา"
ปัจจุบันในอเมริกาใต้มีอนุสรณ์สถานกับห้องสมุดที่เกี่ยวกับเช เกวารา ในประเทศต่างๆ จำนวนนับไม่ถ้วน ในโบลิเวียเอง.. ที่ที่จบชีวิต มีคนยกย่องให้เขาเป็น "นักบุญเออร์เนสโต"
มีรายงานหรืออย่างน้อยก็เป็นเรื่องที่เล่าสืบต่อกันมาว่า ในนาทีสุดท้ายของชีวิต เชได้บอกกับทหารโบลิเวียที่ถูกเลือกเป็นมือสังหารว่า "ยิงซีไอ้ขี้ขลาด เอ็งก็แค่ถูกสั่งให้ฆ่าคนๆ หนึ่ง"
ทหารคนนั้นมือสั่นเทา ลั่นกระสุน 2 นัดแรกจากปืนกึ่งอัตโนมัติโดนแขนและขา แม้ว่าจะอยู่ในระยะประชิด ก่อนจะตั้งสติและลั่นกระสุนนัดสังหารเข้ากลางลำตัวของเขา
อย่างไรก็ตามในเอกสารลับที่รายงานถึงประธานาธิบดีลินดอน จอห์นสัน วันที่ 11 ต.ค.2510 นายวอลต์ รอสทาว (Walt Rostow) ที่ปรึกษาอาวุโส เขียนเอาไว้ว่า การตัดสินใจสังหารเช เกวารา นั้นเป็นความคิด "ที่โง่บัดซบ" แต่ก็เป็นที่เข้าใจได้สำหรับโบลิเวียในขณะนั้น.