ผู้จัดการออนไลน์ -- หลังจากพายุผ่านไปเป็นเวลา 6 สัปดาห์ทีมผู้เชี่ยวชาญจากอาเซียนและองค์การสหประชาชาติจะได้รับการอนุมัติให้เดินทางเข้าไปยังพื้นที่ประสบภัยจากพายุนาร์กิสอย่างเต็มที่ เลขาธิการอาเซียนกล่าวเมื่อวันพฤหัสบดี (12 มิ.ย.)
“ตอนนี้เรามีเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปในเขตภัยพิบัติบริเวณที่ราบปากแม่น้ำอิรวดีเพิ่มขึ้นอีก 250 คน และพวกเขาจะทำการประเมินสถานการณ์อย่างเต็มรูปแบบโดยได้รับการอนุมัติให้เดินทางไปยังพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบต่างๆ ได้” นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียนกล่าวกับบรรดาผู้สื่อข่าวในสิงคโปร์
“ผมคิดว่าถ้าเราลองมองดูแล้ว มันเป็นการประสบความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่และเราก็จะพยายามรักษาแรงผลักดันนี้ไว้” สำนักข่าวเอเอฟพี อ้างคำกล่าวของเลขาธิการอาเซียน
เป็นเวลา 1 สัปดาห์แล้วที่ทีมประเมินสถานการณ์ของอาเซียนได้เริ่มทำงานเพื่อตรวจสอบความต้องการอย่างเร่งด่วนของผู้ประสบเคราะห์จากเหตุการณ์ไซโคลนถล่ม
หลังจากนั้น ทีมติดตามความคืบหน้า ซึ่งจะเดินทางโดยใช้เฮลิคอปเตอร์ของโครงการอาหารโลก (World Food Programme) จะทำการรวบรวมรายงานเป็นครั้งแรกสำหรับการประชุมของอาเซียนที่จะจัดขึ้นในวันที่ 24 มิ.ย.ในกรุงย่างกุ้ง
นายสุรินทร์ กล่าวว่า ทีมผู้เชี่ยวชาญดังกล่าวจะสามารถทำงานได้อย่างเหมาะสมและน่าเชื่อถือ ด้วยรายงานที่จัดทำขึ้นจากหลายๆ ฝ่ายจะซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการฟื้นฟูซ่อมแซมความเสียหายต่างๆ ในภายหลัง
ทีมช่วยเหลือได้เริ่มเคลื่อนตัวเข้าไปยังบริเวณพื้นที่ประสบภัยได้อย่างช้าๆ หลังจากที่รัฐบาลทหารพม่ายกเลิกกฎข้อบังคับต่างๆ และขอให้อาเซียนช่วยเป็นตัวเชื่อมระหว่างพม่ากับความช่วยเหลือจากภายนอก
ทีมจากอาเซียนทำงานภายใต้การประสานงานกันของ 3 ฝ่าย โดยร่วมกับองค์การสหประชาชาติ และรัฐบาลทหารพม่า
นักการทูตจากอาเซียนคนหนึ่งในกรุงย่างกุ้ง กล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ทีมช่วยเหลือจะเสร็จสิ้นการทำงานภายในสิ้นเดือนนี้ แม้จะเคยกล่าวก่อนหน้านี้ว่ากำหนดการเสร็จสิ้นภารกิจ คือกลางเดือน ก.ค.ก็ตาม
นักการทูตผู้นี้กล่าวต่อว่า “เราคาดหวังว่าทีมที่ส่งเข้าไปนี้จะได้พบกับความยากลำบากทั้งหลาย พื้นที่หลายๆ แห่งยังคงไม่สามารถเข้าถึงได้โดยทางถนนหรือเรือ”
นายสุรินทร์ กล่าวว่า ทุกอย่างกำลังดำเนินไปได้ด้วยดี มีหลายสิ่งที่ควรได้รับการปรับปรุงแก้ไขและเราก็กำลังดำเนินการอยู่ เราจะทำงานร่วมกันจนกว่าภารกิจจะสำเร็จลุล่วง
การเข้าไปดำเนินงานของทีมจากอาเซียนนั้นเริ่มขึ้น 1 วันหลังจากที่สหรัฐฯ ล้มเลิกความพยายามที่จะโน้มน้าวให้รัฐบาลทหารพม่ายอมรับความช่วยเหลือที่ลำเลียงไปโดยเรือรบ