ผู้จัดการออนไลน์-- สำหรับคอกาแฟที่กำลังมองหากลิ่นหอมกรุ่นใหม่ๆ จากภาคใต้ของลาว ในวันนี้ไม่ได้ยากอีกแล้ว เมล็ดกาแฟคั่วบดคุณภาพดีจากที่ราบสูงโบโลเวนได้ข้ามแดนเข้ามาขึ้นห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ตในกรุงเทพฯ โดยประเดิมที่ห้าง "เจ๊เล้ง" ย่านดอนเมืองเป็นแห่งแรก
คอกาแฟในย่านกลางกรุงอาจจะมองหาเมล็ดอะราบิกาหอมกรุ่นนี้ที่วิลล่าซูเปอร์มาร์เก็ต และ หากทุกอย่างเป็นไปตามแผน ในเดือน มิ.ย.นี้ก็จะสามารถหาซื้อเมล็ดกาแฟคั่วจากเมืองปากซอง แขวงจำปาสัก ได้ในซูเปอร์มาร์เก็ต "เฟรชมาร์ท" ในห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ สาขาต่างๆ
นับเป็นการรุกคืบครั้งสำคัญของผู้ผลิตกาแฟในลาว ในความพยายามเจาะตลาดกาแฟในประเทศไทย
"กาแฟดาว" (Dao Coffee) เป็นเจ้าแรกที่รุกข้ามแดนเข้าสู่ไทยอย่างเป็นระบบ โดยใช้อุบลราชธานีเป็นฐานโลจิสติกส์ ขยายข่ายจัดจำหน่ายสู่ กทม. กับปลายทางท่องเที่ยวสำคัญต่างๆ โดยชูจุดขายกาแฟลาว กาแฟจากธรรมชาติ หอมกรุ่นจากไร่ที่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 1,200 เมตรในเขตที่ราบสูงโบโลเวน
ช่วงปีที่ผ่านมา "กาแฟดาว" (Dao Coffee) โดยบริษัทดาวเฮืองเทรดดิ้ง (Dao-Heuang Trading Co) มีการพัฒนาหีบห่อใหม่อย่างหลากหลาย ทั้งกาแฟสดและกาแฟพร้อมดื่มทีรีอินวัน (3-in-1) และยังออกผลิตภัณฑ์ใหม่ออกอีกหลายตัว รวมทั้งกาแฟพร้อมดื่มกลิ่นผลไม้ด้วย
เมื่อต้นปีนี้ดาวเฮืองได้แต่งตั้งบริษัทซำบายดีจำกัด อันเป็นบริษัทร่วมทุนกับหุ้นส่วนชาวไทยขึ้นในกรุงเทพฯ เพื่อเป็นตัวแทนจัดจำหน่ายสินค้าภายใต้เครื่องหมาย "กาแฟดาว" (Dao Coffee) ประเทศไทย
"ตอนนี้มีวางจำหน่ายที่ร้านเจ๊เล้งกับวิลล่ามาร์เก็ตแล้วครับ เดือนมิถุนาฯ นี้คาดว่าจะเข้าซูเปอร์มาร์เก็ตห้างเดอะมอลล์ได้" ณัฐกร บินฮายีเอซา เจ้าหน้าที่การตลาดบริษัทซำบายดีฯ กล่าวกับ "ผู้จัดการรายวัน" ในงาน THAIFEX World of Food Asia 2008 ที่เพิ่งจะผ่านไป
กาแฟดาวเริ่มเข้าสู่ตลาดไทยอย่างเป็นระบบเมื่อปีที่แล้ว ขณะที่กาแฟสดกำลังเป็นกระแสได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง แต่ก็ยังไม่สามารถรุกขึ้นห้างสรรพสินค้ากับซูเปอร์มาร์เก็ตได้และการจำหน่ายยังอยู่ในแวดวงจำกัด
กาแฟจากลาวเป็นสินค้าที่นักดื่มชาวไทยรู้จักกันมานานหลายปี และ เริ่มได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้นในยุคที่กาแฟสดมาแรงควบคู่กับกาแฟแบบ "ทรี-อิน-วัน" พร้อมดื่ม เพียงแต่หาซื้อยาก
"เราก็ไม่ได้ทิ้งกาแฟสำเร็จรูปค่ะ เรากำลังทำตลาดคู่กันไปค่ะ" เจ้าหน้าที่บริษัทซำบายดีอีกคนหนึ่งกล่าว
ไม่เพียงแต่กรุงเทพฯ เท่านั้นที่จะเป็นตลาดใหญ่ของ "กาแฟดาว-กาแฟลาว" เป้าหมายในอนาคตอันใกล้นี้ยังรวมทั้งปลายทางการท่องเที่ยวสำคัญอย่างเชียงใหม่กับภูเก็ต ซึ่งกาแฟดาวเคยเปิดตัวมาก่อน
แต่กาแฟดาวไม่ใช่เจ้าเดียวที่กำลังตั้งหน้าเจาะตลาดลูกค้าในประเทศไทย "กาแฟสีหนุก" (Cafe Sinouk) ก็กำลังขยับตามอย่างมีจังหวะจะโคน
"ผมคิดว่าจะใช้หนองคายเป็นฐานครับ" นายสีสะหนุก สีสมบัด ประธานสีหนุกกาแฟลาวกล่าวกับ "ผู้จัดการรายวัน"
กาแฟสีหนุกอาจจะต้องใช้เวลาถึงต้นปีหน้าในการส่งกาแฟสดและกาแฟพร้อมดื่มเข้าตลาดไทย พร้อมๆ กับรุกเจาะตลาดกาแฟออร์กานิคส์ (Organic Coffee) ในยุโรป ซึ่งนายสีสะหนุกกล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ของบริษัทกำลังจะได้รับใบรับรองสินค้าเกษตรอินทรีย์ในเดือนข้างหน้านี้
นางอินแปง ซามุนตี ผู้อำนวยการวิสาหกิจประสมปากซองพัฒนาขาเข้า-ขาออก (Paxong Development Export-Import State Enterprise) กล่าวกับ "ผู้จัดการรายวัน" ว่าปัจจุบันตลาดโลกต้องการกาแฟจากที่ราบสูงโบโลเวนของลาวอย่างสูงและยังผลิตได้ไม่พอกับความต้องการจึงส่งออกได้น้อย
"ปีกลายยังมีออร์เดอร์ค้างส่งสิงคโปร์อยู่ถึงสองหมื่นตัน" นางอินแปงกล่าว
กาแฟที่ปลูกในเขตเมืองปากซอง แขวงจำปาสัก เป็นอะราบิกาสายพันธุ์กาติมอร์ (Catimor) ซึ่งเป็นสายพันธุ์เดียวกันกับกาแฟที่ปลูกใน จ.เชียงราย ของไทย และได้เมล็ดกาแฟคุณภาพดีออกมาไม่แพ้กัน
ด้วยความช่วยเหลือขององค์การระหว่างประเทศ ปีที่แล้วเกษตรกรลาวที่เมืองปากซองประสบความสำเร็จในการฟื้นฟูกาแฟอะราบิกาพันธุ์ทีปีกา (Tipika) อันเป็นสายพันธุ์ที่ฝรั่งเศสนำเข้าไปเผยแพร่ในประเทศนี้เมื่อเกือบ 100 ปีก่อน
เมล็ดกาแฟอะราบิกา “ทีปีกา” ได้รับความนิยมมากในยุโรป ด้วยกลิ่นหอมจัดจ้านและรสออกเปรี้ยวเล็กน้อย อันเกิดจากธรรมชาติของสายพันธุ์ที่ชอบแดดจัด เติบโตได้ดีกว่าในกลางแจ้ง ให้ผลดีกว่าปลูกในร่ม รสชาติออกมาตรงกับรสนิยมของตลาด เจ้าหน้าที่วิสาหประสมปากซองพัฒนาฯ กล่าว
อย่างไรก็ตามด้วยพื้นที่ปลูกที่มีจำกัดและขยายไม่ได้ เกษตรกรลาวยังปลูกกาแฟอะราบิกาทีปีกาได้น้อย ทำให้จำหน่ายได้ราคาสูงกว่าเมล็ดกาแฟอะราบิกาทั่วไป เจ้าหน้าที่ของลาวกล่าว
ในปัจจุบันทั้งกาแฟดาว กาแฟสีหนุก และผู้ผลิตรายเล็กเช่น เมาน์เทนคอฟฟี่ (Lao Mountain Coffee) ต่างนำกาแฟอะราบิกาทีปีกาออกทำตลาดในรูปเมล็ดกาแฟคั่วสำเร็จ ภายใต้เครื่องหมายการค้าของตัวเอง ซึ่งสามารถจำหน่ายได้ในราคาสูงกว่าอะราบิก้าทั่วไป
ตามตัวเลขของสมาคมกาแฟลาวการเก็บเกี่ยวปี 2550 ได้เมล็ดกาแฟโดยรวมเพียงประมาณ 16,000 ตันเท่านั้น จากที่คาดก่อนหน้านั้นว่าจะได้ถึง 20,000 ตัน ทั้งนี้เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน ความหนาวเย็นปกคลุมที่ราบสูงเป็นเวลานาน
กาแฟที่ปลูกได้มากที่สุดยังเป็นสายพันธุ์โรบัสตา (Robusta) ที่จำหน่ายได้ราคาต่ำกว่าอะราบิกา และ นิยมนำไปใช้ผลิตกาแฟสำเร็จรูป
ปี 2549 ลาวผลิตเมล็ดกาแฟทุกชนิดรวมกันได้เพียง 8,000 ตัน นับเป็นปีที่ผลผลิตตกต่ำที่สุด เนื่องจากสภาพอากาศหนาวเย็นจัดดอกกาแฟไม่สามารถออกเมล็ดได้ ก่อนหน้านั้นปี 2548 ลาวผลิตเมล็ดกาแฟได้ 12,000 ตัน จากที่เคยผลิตได้สูงสุด 23,000 ตัน เมื่อปี 2547 นายสีสะหนุกกล่าว.