ผู้จัดการออนไลน์ -- อีกไม่กี่วันก็จะทราบว่า สหรัฐฯ ต้องถอนกองเรือรบจำนวน 4 ลำ ออกจากทะเลหลวงใกล้กับน่านน้ำพม่าหรือไม่ ขณะที่รัฐบาลทหารไม่อนุญาตให้นำอาหาร น้ำดื่มและสิ่งของบรรเทาทุกข์อื่นๆ เข้าไปแจกจ่ายแก่ผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์พายุพัดถล่มระหว่างวันที่ 2-3 พ.ค.
พลเรือเอก ทิโมธี คีติง (Adm.Timothy Keating) ผู้บัญชาการกองกำลังภาคพื้นแปซิฟิกของสหรัฐฯ กล่าวเมื่อวันพุธ (27 พ.ค.) ว่า จะมีการหารือเพื่อขอคำแนะนำจาก นายโรเบิร์ต เกตส์ (Robert Gates) รัฐมนตรีกลาโหมของสหรัฐฯ อย่างเร่งด่วน ว่า จะดำเนินการอย่างไรต่อไปกับเรือรบเอ็สเส็ก (USS Essex) รวมทั้งเรือรบลำอื่นๆ อีก 3 ลำ
เรือเอ็สเส็กเดินทางจากการซ้อมรบในอ่าวไทยไปถึงบริเวณดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 13 พ.ค.เป็นต้นมา พร้อมกับเรือฮาร์เปอร์สเฟอร์รี (Harpers Ferry) เรือจูโน (Juneau) กับเรือพิฆาตมิสติน (Mustin) และยังมีเรือสนับสนุนอื่นๆ อีกหลายลำ
“หากปราศจากการอนุมัติของรัฐบาลทหารพม่า ผมไม่คิดว่าเรือรบเอ็สเส็กจะต้องอยู่ที่นั่นต่อไป ในอีกสองถึงสามวัน เราจะได้รู้คำตอบ” พลเรือเอกคีติง กล่าวในการแถลงข่าว
เรือรบเอ็สเส็ก ซึ่งเป็นเรือจู่โจมสะเทินน้ำสะเทินบก ได้จอดลอยลำอยู่นอกน่านน้ำของพม่าเพื่อรอการอนุมัติเข้าประเทศมาเป็นเวลา 2 สัปดาห์แล้ว พร้อมด้วยเฮลิคอปเตอร์อีก 12 ลำ เรือยกพลขึ้นบก (Landing Craft) รวมทั้งนาวิกโยธิน ที่สหรัฐฯ เสนอเพื่อเข้าไปช่วยในการแจกจ่ายความช่วยเหลือต่างๆ แก่เหยื่อพายุ
จนถึงขณะนี้ รัฐบาลทหารพม่ายังคงปฏิเสธความช่วยเหลือที่ถูกส่งไปทางเรือ รวมทั้งการใช้เฮลิคอปเตอร์ทหารของสหรัฐฯ ในการขนส่งสิ่งของที่จำเป็นไปยังพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อนจากไซโคลนพัดถล่ม
รัฐบาลพม่าได้อนุญาตให้ลำเลียงของบรรเทาทุกข์โดยใช้เครื่องบิน C-130 ของสหรัฐฯ เพียง 5 เที่ยวต่อวันเท่านั้น ซึ่งทั้งหมดลงจอดที่สนามบินในกรุงย่างกุ้ง
พลเรือเอกคีติง ได้พยายามมองหาความร่วมมือจากลุ่มอาเซียน ในการขนถ่ายสิ่งของบรรเทาภัยพิบัติ และยังกล่าวว่า สหรัฐฯ กำลังพิจารณาถึงการขนถ่ายสิ่งของจากกองเรือรบไปยังเรือขนาดเล็ก
พลเรือเอกคีติง กล่าวกองทัพจีนได้ช่วยหารือคณะปกครองทหารพม่าด้วยเช่นกัน เกี่ยวกับที่ทางการหสรัฐฯ ต้องการช่วยเหลือในเรื่องนี้
ผู้บัญชาการกองกำลังภาคพื้นแปซิฟิกของสหรัฐฯ กล่าวต่อว่า การประเมินความเสียหายโดยองค์กรบรรเทาทุกข์ที่ไม่สังกัดรัฐบาลหรือเอ็นจีโอที่สามารถเข้าไปในพื้นที่ต่างๆ รวมทั้งสถานทูตของสหรัฐฯ ในกรุงย่างกุ้ง ชี้ให้เห็นว่ายังคงมีความต้องการความช่วยเหลืออย่างมาก
“ในบริเวณที่ราบปากแม่น้ำอิรวดี ยังคงมีผู้คนจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นเด็กๆ ซึ่งพ่อแม่ของพวกเขาอาจจะไม่มีชีวิตอยู่แล้ว กำลังต้องการสิ่งของจำเป็นขั้นพื้นฐานอย่างอาหาร น้ำดื่ม ที่พัก และเราสามารถจัดหาสิ่งเหล่านั้นให้ได้” พลเรือเอกคีติง กล่าว
“ดังนั้น เราหวังว่าจะยังคงมีภารกิจสำหรับเรา สถานการณ์จะเอื้อให้เราอยู่ต่ออีกนานแค่ไหน นั่นคือสิ่งที่เรากำลังประเมินอยู่ในขณะนี้”