xs
xsm
sm
md
lg

ลาวรวยอีกแล้วเหมืองภูคำเดินเครื่องส่งออก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<CENTER><FONT color=#663399>ถังขนาดใหญ่สำหรับผสมและคัดแยกสินแร่ถูกแยกออกเป็นชิ้นๆ ขนส่งผ่านประเทศไทยไปถึงเหมืองภูคำใน ส.ค.ปีที่แล้ว(ภาพ: Reuters)   </FONT> </CENTER>

ผู้จัดการรายวัน—บริษัทแพนออสเตรเลียนรีสอร์ซเซสจำกัด (Pan Australian Resources) เจ้าของสัมปทานเหมืองทองแดง-ทองคำที่ภูคำแถลงในสัปดาห์นี้ว่า บริษัทฯ จะเริ่มส่งออกแร่จากเหมืองในแขวงเวียงจันทน์ของลาวตามกำหนดในเดือน พ.ค.นี้ โดยจีนประเดิมสั่งซื้อจำนวน 5,000 ตัน

ในขณะเดียวกันก็เชื่อว่าจะสามารถขยายการผลิตของเหมืองแห่งนี้ขึ้นอีกหลายเท่าตัวหลังจากบริษัทได้ประเมินปริมาณสินแร่ใหม่ และพบว่ามีมากกว่าที่คาดเอาไว้ก่อนหน้านี้ถึง 1 เท่าตัว ซึ่งจะทำให้เหมืองแห่งนี้เป็นเหมืองทองแดง-ทองคำที่ใหญ่ที่สุดในลาว

สำหรับเหมืองภูเบี้ยในเขตเมืองไซสมบูน แขวงเชียงขวาง ซึ่งแพนออสเตรเลียนฯ เป็นเจ้าของสัมปทานก็มีกำหนดจะเริ่มส่งออกในปีนี้เช่นเดียวกัน

เหมืองภูคำเป็นเหมืองผลิตทองแดงกับทองคำแห่งที่ 3 ในลาว แต่กำลังจะเป็นแห่งที่ 2 ที่ส่งออก ถัดจากเหมืองเซโปนในเขตเมืองวีละบูลี แขวงสะหวันนะเขต ของบริษัทล้านช้างมิเนอรัลจำกัด อันเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างกลุ่มอ๊อกเซียนารีเซอร์ซเซส (Oxiana Resources Ltd) จากออสเตรเลียเช่นเดียวกันกับแพนออสเตรเลีย

แพนออสเตรเลียกล่าวว่าการส่งออกล๊อตแรกนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสินแร่ที่คาดว่าจะผลิตได้ในเดือนที่เหลืออยู่ของปี 2551 ซึ่งคาดว่าจะเป็นทองแดงรวม 30,000 ตัน ทองคำ 27,000 ออนซ์ กับเงินอีก 300,000 ออนซ์ เป้าหมายนี้ลดลงจากที่แถลงเมื่อต้นปี
<CENTER><FONT color=#663399>แผนที่แสดงอาณาบริเวณพื้นที่สัมปทานเหมืองภูคำในแขวงเวียงจันทน์ กินเนื้อที่ประมาณ 2,000 ตารางกิโลเมตร </FONT> </CENTER>
การส่งออกแร่จากเหมืองภูคำนั้นจะต้องขนส่งไปยังท่าเรือแหลมบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ของไทย เพื่อลงเรือไปส่งยังปลายทางในประเทศจีน ทั้งนี้เป็นรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์

เดือน ก.ย.ปีที่แล้วบริษัทเหมืองภูเบี้ยจำกัด (Phu Bia Mining Ltd) เจ้าของสัมปทานโครงการภูเบี้ยที่ถือหุ้นใหญ่โดยแพนออสเตรเลียนฯ ได้เซ็นสัญญากับบริษัทขนส่งลาวแห่งหนึ่ง เพื่อขนส่งทอง-ทองแดงคำจากคลังสินค้าไปยังท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังของไทย
อย่างไรก็ตามรอยเตอร์ไม่ได้รายงานรายละเอียดว่า แพนออสเตรเลียนฯ กำลังจะใช้บริการขนส่งแห่งใหม่หรือใช้การขนส่งภายใต้สัญญาเดียวกันกับเหมืองภูเบี้ย สำหรับขนทองแดงไปยังท่าเรือน้ำลึกในภาคตะวันออกของไทย

สัญญาขนส่งดังกล่าวมีระยะเวลา 6 ปีมูลค่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นการเตรียมการสำหรับการส่งออกทองแดง-ทองคำในกลางปี 2551 นี้ ทั้งนี้เป็นรายงานของสำนักข่าวสารปะเทดลาว

แพนออสเตรเลียนฯ กล่าวว่า มี แผนการผลิตทองแดงเพิ่มขึ้นเป็น 60,000 ตันในปี 2552 ทองคำเพิ่มขึ้นเป็น 60,000 ออนซ์ และเงินเป็น 600,000 ออนซ์

ปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้นำแร่กว่า 750,000 ตันที่ขุดค้นเอาไว้ก่อนหน้านี้ส่งเข้าโรงถลุงจำนวน 2 แห่งที่สร้างขึ้นในเขตเหมือง ซึ่งจะทำให้บริษัทสามารถผลิตแร่ต่างๆ ได้ส่งกว่าเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ก่อนหน้านี้

บริษัทฯ แถลงเมื่อต้นปีว่า มีแผนจะเพิ่มการผลิตทองแดงขึ้นเป็น 65,000 ตันต่อปีภายในเดือน ม.ค.2553 และผลิตทองคำ 60,000 ออนซ์ ผลิตเงิน 500,000 ออนซ์ แต่เมื่อพบสินแร่มีเกรดสูงขึ้น ทำให้บริษัทฯ กำลังจะต้องปรับเป้าหมายเหล่านี้สูงขึ้นอีก

แพนออสเตรเลียนฯ กำลังเตรียมการตัวเลขเป้าหมายใหม่ ซึ่งคาดว่าจะมีการประกาศในระยะต่อไป

เมื่อปีที่แล้วเหมืองเซโปนของกลุ่มอ๊อกเซียนาผลิตทองแดงได้ 62,000 ตัน และมีแผนเพิ่มการผลิตขึ้นเป็น 80,000 ตันในปี 2553
<CENTER><FONT color=#663399>โรงคัดแยกและถลุงแร่ระหว่างการก่อสร้างเมื่อปีที่แล้ว การผลิตได้เริ่มขึ้นแล้วตั้งแต่ปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา </FONT> </CENTER>
ยังไม่ทราบว่าลาวซึ่งเป็นเจ้าของทรัพยากร ได้รับผลประโยชน์เท่าไรและมีการแบ่งปันในสัดส่วนอย่างไรสำหรับเหมืองทองแดง-ทองคำแห่งที่ 2 ของประเทศ

สำหรับเหมืองเซโปนนั้น ตามรายงานของสื่อทางการรัฐบาลได้รับผลตอบแทนคิดเป็นประมาณ 40% ของรายได้ทั้งหมด ทั้งในรูปของเงินส่วนแบ่งหุ้นในบริษัท ค่าภาคหลวง รายได้จากภาษีเงินได้ เงินกองทุนช่วยเหลือประชาชนและพัฒนาท้องถิ่น

ผู้บริหารของแพนออสเตรเลี่ยนฯ แถลงเมื่อต้นปีว่าแปลกใจที่ได้พบว่า สินแร่ที่เหมืองภูคำมีปริมาณมากกว่าที่เคยคาดเอาไว้ถึง 1 เท่าตัว และ ได้ยืนยันเรื่องนี้อีกครั้งในการให้สัมภาษณ์สำนักข่าวบลูมเบิร์กสัปดาห์นี้

ผู้อำนวยการบริหารของแพนออสเตรเลียนฯ นายแกรี สแตฟฟอร์ด (Gary Stafford) บอกกับสำนักข่าวรอยเตอร์เมื่อต้นปีคาดว่าสินแร่ทั้งหมดในเขตเหมืองภูคำจะมีกว่า 100 ล้านตัน ทำให้บริษัทฯ ต้องคิดคำนวณใหม่ตัวเลขเป้าหมายการผลิต

"เรากำลังจะประกาศปริมาณสินแร่ใหม่ในเขตเหมืองภูคำ.. ซึ่งจะเปลี่ยนขนาดการผลิตของเรา" นายสแตฟฟอร์ดกล่าว

ตามตัวเลขประมาณจากการเจาะทดสอบที่มีอยู่ในปัจจุบัน สินแร่ที่เหมืองภูคำมีเกรดสูงคือ มีประมาณแร่ทองแดง 0.5-0.6% และ ทองคำ 0.2-0.5 กรัมต่อตัน

แพนออสเตรเลียนฯ แถลงเมื่อต้นปีว่า จะเริ่มผลิตในสิ้นเดือน เม.ย. 2551 โดยตั้งเป้าให้ได้ทองแดงให้ได้ในอัตรา 50,000 ตันต่อปี ทองคำอีก 50,000 ออนซ์ กับเงินอีก 40,000 ออนซ์ต่อปี โดยคาดว่าจะส่งออกในเดือน พ.ค.
<CENTER><FONT color=#663399>สะพานลำเลียงความยาว 1 กิโลเมตรเพื่อนำสินแร่เข้าสู่โรงงาน ก่อสร้างเสร็จเมื่อปลายปีที่แล้ว</FONT> </CENTER>
ยังไม่มีการแถลงความคืบหน้าเกี่ยวกับผลการดำเนินการที่เหมืองภูเบี้ย ซึ่งแพนออสเตรเลียนฯ ประกาศก่อนหน้านี้จะเริ่มส่งออกทองแดง-ทองคำกลางปีนี้

บริษัทเหมืองจากออสเตรเลียทั้ง 2 แห่งเป็นบริษัทแรกๆ ที่เข้าไปแสวงหาโอกาสทำกิจการเหมืองใน ปัจจุบันบริษัทต่างชาติอีกจำนวนมากได้รับอนุญาตจากทางการและกำลังสำรวจความเป็นไปได้โครงการเหมืองนับสิบแห่งทั่วประเทศ

การสำรวจของหน่วยงานระหว่างประเทศพบว่า ดินแดนลาวอุดมไปด้วยแร่ธาตุล้ำค่าทางเศรษฐกิจหลายชนิด นอกจากทองแดง-ทองคำและเงินแล้ว ยังมีเหล็ก ตะกั่ว แมงกานิส และบอกไซต์ (Bauxite) ซึ่งเป็นที่ต้องการอย่างมากในตลาดโลก

การสำรวจขององค์การระหว่างประเทศแห่งหนึ่งได้พบว่า ลาวเป็นแหล่งบอกไซต์ใหญ่ 1 ใน 3 แห่งของโลก แร่ชนิดนี้ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอะลูมิเนียม ซึ่งยังไม่มีแร่โลหะใดสามารถใช้ทดแทนได้.

ภาพทั้งหมดทำขึ้นจากรายงานประจำปี 2007 ของ
Pan Australian Resources Ltd

กำลังโหลดความคิดเห็น