xs
xsm
sm
md
lg

โลกเปลี่ยน..ลาวกลายเป็นแหล่งจ้างงานคนไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<CENTER><FONT color=#FF0000>วิศวกร ช่างเทคนิค ทั้งชาวลาวและชาวต่างชาติ กำลังทำงานกันบนภูเบี้ย เหมืองทองแห่งที่ 2 ของประเทศที่จะเริ่มส่งออกทองแดง-ทองคำปีนี้ ภาพเช่นนี้กำลังจะได้เห็นที่เหมืองภูคำอีกแห่ง </CENTER>

ผู้จัดการออนไลน์ -- บริษัทเอกชนแห่งหนึ่งยังคงมองหาวิศวกร นักบริหาร ช่างเทคนิค พนักงานควบคุมเครื่องจักรกลหนัก ตลอดจนงานทั่วไป เพื่อไปทำงานที่เมืองทอในลาวภาคเหนือ โดยเสนอเงินเดือนพื้นฐานอย่างงามให้ตั้งแต่ 20,000 บาทขึ้นไป จนถึงเกือบ 200,000 บาท กับสัญญาจ้างงานระยะยาว

บริษัทดังกล่าวได้ประกาศรับสมัครงานมานานข้ามปี โดยใช้สื่อต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศรวมทั้งสื่ออินเทอร์เน็ต จนถึงเวลานี้ก็ยังคงมีตำแหน่งว่างอยู่ ขณะเจ้าหน้าที่ทางการลาวยอมรับว่าไม่สามารถที่จะผลิตบุคลากรด้านนี้ให้เพียงพอรองรับ ทำให้ต้องนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านหรือไกลออกไป

เหมืองทองแห่งแรกในลาว คือ เหมืองเซโปน ของบริษัท ล้านช้างมิเนอรัล (Lane Xang Mineral Co) ได้ผลิตและส่งออกต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 3 และยังได้ประกาศเพิ่มผลผลิตอีกในปีนี้ ซึ่งจะทำให้มีความต้องการแรงงานฝีมือเพิ่มมากขึ้น

เหมืองทองแห่งที่ 2 มีกำหนดจะเริ่มส่งออกกลางปีนี้ และแห่งที่ 3 กำลังจะเริ่มการผลิตสินแร่ล้ำค่าทางเศรษฐกิจออกมาเป็นครั้งแรก ในประเทศที่มีประชากรเพียงไม่ถึง 6 ล้านคนยังขาดแคลนทุกอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพสูงเพื่อรองรับการลงทุนของต่างประเทศ

“เงินเดือนที่นั่น (ลาว) สูงกว่าที่รับกันในประเทศไทย” นายเสนีย์ ตริยกุล ผู้บริหารบริษัท TKPV Co ซึ่งเป็นคอนแทรกเตอร์ จัดหาวัตถุระเบิดและทำงานระเบิดหินให้แก่บริษัท เมืองภูคำ (Phu Kham Mining Co) ในแขวงเวียงจันทน์ของลาว ระบุในอิเลกทรอนิกส์เมล ตอบคำถาม “ผู้จัดการรายสัปดาห์”
<CENTER><FONT color=#FF0000>สมนึก วิศวกรชาวลาวกับทองคำแท่งที่ผลิตได้จากเหมืองภูเบี้ย ผลงานที่เขาเองต้องภูมิใจ</CENTER>
ก่อนหน้านี้ เหมืองทองแดงทองคำภูคำอยู่ในท้องที่เขตปกครองพิเศษไซสมบูรณ์ จนกระทั่งต้นปี 2550 ทางการลาวได้ประกาศยุบเขตพิเศษดังกล่าว และกระจายพื้นที่เดิมไปสังกัดทางการใน 3 แขวง อันได้แก่ บอลิคำไซ เซียงขวาง และแขวงเวียงจันทน์

TKPV Co ประกาศรับสมัครพนักงานหลายตำแหน่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เรียนสำเร็จวิศวกรรมศาสตร์ สาขาอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโท และมีประสบการณ์ผ่านงานเหมืองแร่มาแล้ว สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ดี ทั้งหมดจะต้องร่วมงานหรือประสานงานกับทีมวิศวกรและเจ้าหน้าที่จากต่างประเทศ

ปัจจุบันไซต์งานของบริษัทที่เหมืองภูคำมีวิศวกรประจำอยู่ 3 คน พนักงานขับรถจักรกลอีก 2 เจ้าหน้าที่เทคนิค 1 กับ เจ้าหน้าที่บริหารและเจ้าหน้าที่ทั่วไปรวม 14 คน ซึ่งอาจจะต้องเพิ่มบุคคลากรอีก 1 เท่าตัวเมื่อเริ่มการผลิตทองแดงและทองคำในวันข้างหน้า นายเสนีย์ กล่าว

บริษัท TKPV Co เสนอสัญญาจ้างงานเป็นระยะเวลา 5 ปี นอกเหนือจากเงินเดือนเริ่มต้น 25,000 บาทสำหรับพนักงานทั่วไป และ 160,000 บาทสำหรับระดับผู้จัดการแล้ว ที่นั่นยังจัดสวัสดิการต่างๆ ให้แก่พนักงานทุกระดับรวมทั้งที่พัก อาหาร ซักรีดเสื้อผ้า และการเดินทาง จนแทบจะไม่มีรายจ่ายอื่นใดอีก

พนักงานที่นั่นทำงานเป็นผลัดๆ ละ 21 วัน มีวันหยุดเดือนละ 8 วัน ได้พักผ่อนหรือเดินทางกลับไปเยี่ยมบ้านในประเทศไทยหรือเดินทางท่องเที่ยวในลาว ซึ่งประชากรเป็นเพื่อนมิตรที่ใกล้ชิดกับชาวไทยมากที่สุด บริษัทดังกล่าวยังคงเปิดรับสมัครตำแหน่งงานต่างๆ ซึ่งผู้สนใจสามารถสอบถามได้ที่อีเมล์ seni@pvexplosive.com

“มหาวิทยาลัยแห่งชาติผลิตยังไม่ได้ยังไม่พอ เราขาดวิศวกรอีกจำนวนมาก" เจ้าหน้าที่กรมเหมืองแร่ กระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ลาวกล่าว ทางโทรศัพท์จากเวียงจันทน์

“อีกไม่กี่ปีข้างหน้าเราอาจจะต้องใช้วิศวกรนับพัน และช่างเทคนิคกับช่างฝีมืออีกนับหมื่นคน” เจ้าหน้าที่คนเดียวกันแสดงความห่วงใยต่อปัญหาในอนาคตที่สามารถมองเห็นได้ตั้งแต่วันนี้
<CENTER><FONT color=#FF0000>พนักงานควบคุมเครื่องจักรกลหนักกำลังปฏิบัติงานบนยอดภู บริษัทแพนออสเตรเลียฯ ซึ่งเป็นเข้าของสัมปทานเหมืองแห่งนี้กล่าวว่าจะเริ่มส่งออกปีนี้</CENTER>
มองออกไปกว้างไกล ปัจจุบันที่เหมืองเซโปน มีการจ้างแรงงานท้องถิ่นนับพันคน เหมืองทองแดงทองคำแห่งแรกของลาวนี้ตั้งอยู่ในเขตเมืองวีละบูลี แขวงสะหวันนะเขต ดำเนินการโดยล้านช้างมิเนอรัล ซึ่งกลุ่มอ๊อกเซียน่ารีซอร์สเซส (Oxiana Resources Ltd) จากออสเตรเลียถือหุ้นใหญ่

เหมืองภูเบี้ยซึ่งกำลังเตรียมการผลิตเพื่อส่งออกในปีนี้ ก็กำลังจ้างแรงงานชาวลาวอีกกว่า 1,000 คน ยังไม่นับรวมวิศวกร เจ้าหน้าที่เท็คนิค และพนักงานเฉพาะด้านในระดับต่างๆ อีกจำนวนมาก

เมื่อปีที่แล้วที่เหมืองเซโปนผลิตทองแดงได้ 62,541 ตัน และ ล้านช้างมิเนอรัลมีแผนจะเพิ่มการผลิตขึ้นเป็น 80,000 ตันในปี 2553 ซึ่งจะต้องการแรงงานเพิ่มมากขึ้น

ที่นั่นยังมีพนักงานสังกัดบริษัทคอนแทร็คเตอร์รับจ้างทำหน้าที่แขนงต่างๆ อีกจำนวนหนึ่ง ยังไม่ได้นับรวมเจ้าหน้าที่และวิศวกรชาวลาวกับเจ้าหน้าที่จากออสเตรเลีย ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลดำเนินการ

ส่วนบริษัท แพนออสเตรเลียรีสอร์สเซส (Pan Australian Resources Ltd) ประกาศก่อนหน้านี้ว่า จะเริ่ม การผลิตที่เหมืองภูคำแขวงเวียงจันทน์ในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา หลังจากล่าช้ามานานข้ามปีและจากแผนการเดิมที่วางเอาไว้ช่วงกลางปี 2551 คาดว่า เหมืองภูคำจะผลิตได้มากกว่าที่คาดเอาไว้

เมื่อเปิดดำเนินการภูคำก็จะเป็นเหมืองทองแดงทองคำแห่งที่ 3 ของประเทศ ซึ่งอาจจะต้องใช้แรงงานในท้องถิ่นนับพันๆ คน

ขณะเดียวกัน บริษัท เหมืองภูเบี้ย จำกัด (Phu Bia Mining Ltd) ที่ถือหุ้นใหญ่โดย Pan Australia Co มีแผนการจะส่งออกทองแดงทองคำเป็นครั้งแรกในกลางปี 2551 นี้ ปัจจุบันที่เหมืองมีการจ้างแรงงานท้องถิ่นกว่า 1,000 คน
<CENTER><FONT color=#FF0000>เฮลิคอปเตอร์ของแพนออสเตรเลียจอดที่ไซต์งานเหมืองภูเบี้ย ที่ภูคำก็คงจะมีสภาพไม่ต่างกันโดยทั่วไป บริษัทจากไทยแห่งหนึ่งกำลังประกาศจ้างงานหลายตำแหน่ง</FONT> </CENTER>
 ลาวจะมีเหมืองอีกนับสิบๆ แห่ง


บริษัทเหมืองต่างชาติจำนวนมากกำลังอยู่ในขั้นตอนสำรวจโครงการเหมืองแร่นับ 10 แห่งทั้งในภาคเหนือ ภาคกลางและภาคใต้ของลาว บริษัทเหล่านั้นมีทั้งสัญชาติออสเตรเลีย จีน แคนาดา อังกฤษ มาเลเซีย แม้กระทั่งจากเวียดนาม

ลาวเป็นดินแดนอุดมสมบูรณ์ด้วยแร่ที่มีค่าทางเศรษฐกิจหลายชนิด ไม่เพียงแต่ทองแดง ทองคำและแร่เงินเท่านั้น หากยังมีแร่เหล็ก ตะกั่ว วูลแฟรม และ บอกไซต์ (Bauxite) ซึ่งนำไปผลิตเป็นอะลูมีเนียมและเป็นที่ต้องการอย่างมากในตลาดโลก การสำรวจทางธรณีศาสตร์เชื่อว่าลาวอาจจะเป็น 1 ใน 3 แหล่งบอกไซต์ใหญ่ที่สุดในโลก

ตามรายงานของสำนักข่าวสารปะเทดลาว เมื่อเร็วๆ นี้บริษัทผู้ลงทุนต่างๆ ได้สำรวจพบแหล่งแร่อีกอย่างน้อย 6 แห่งในแขวง (จังหวัด) เซกองที่อยู่ตอนใต้สุดของประเทศ การสำรวจจะดำเนินต่อไปจนถึงสิ้นปีนี้

จากการเปิดเผยของ นายสีดา สุบันนะไส หัวหน้าแผนกพลังงานและเหมืองแร่ แขวงเซกอง แหล่งแร่ที่บริษัททั้งในลาวและจากต่างประเทศสำรวจพบจนถึงปัจจุบันมีทั้ง ถ่านหิน เหล็ก ทองคำ ทองแดง และ บ๊อกไซต์ ต่างชาติที่กำลังสำรวจเหมืองแร่ในแขวงดังกล่าวมีบริษัทจากจีนและเวียดนามรวมอยู่ด้วย

บริษัทต่างชาติอีกจำนวนหนึ่งกำลังสำรวจแหล่งแร่บอกไซต์ในพื้นที่แขวงอัตตะปือ สาละวันและจำปาสัก ที่อยู่ถัดขึ้นไป การสำรวจทางธรณีศาสตร์ทำให้เชื่อว่าในเขตที่ราบสูงโบโลเวนในรอยต่อของ 4 แขวงภาคใต้นี้ร่ำรวยด้วยสินแร่อันล้ำค่า

ในอนาคตอันไม่ไกลนี้ตั้งแต่ภาคเหนือลงไปจนถึงภาคใต้ กำลังจะมีเหมืองกับโรงงานถลุงแร่ผุดขึ้นมานับสิบๆ แห่ง ลาวจะเป็นแหล่งจ้างงานใหญ่โตในอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง ซึ่งในปัจจุบันแรงงานแขนงนี้ยังมีไม่พอกับความต้องการ.

กำลังโหลดความคิดเห็น