xs
xsm
sm
md
lg

หนองคายผุดท่าเรือขนทองแดงลาวส่งสกัดที่มาบตาพุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หนองคาย - จังหวัดหนองคายอนุมัติให้บริษัทเอกชนก่อสร้างท่าเทียบเรือแพขนานยนต์ เพื่อลำเลียงสินแร่ทองแดงจากเหมืองแร่ในแขวงบอลิคำไซ ส.ป.ป.ลาว เข้ามาแปรรูปภายในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เชื่อเป็นช่องทางสร้างรายได้มหาศาลให้ประเทศ คาดก่อสร้างท่าเทียบเรือแพขนานยนต์เสร็จภายในปี 2553

นายเจด็จ มุสิกวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย เปิดเผยว่า กลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้เดินทางไปสำรวจสถานที่ขุดแร่ทองแดงของบริษัท ภูเบี้ย มายนิ่ง จำกัด ที่เมืองท่าบก แขวงบอลิคำไซ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (ส.ป.ป.ลาว) ซึ่งบริษัท แพนออสเตรเลีย เป็นผู้รับสัมปทานจากรัฐบาลลาว ระยะเวลา 15 ปี ทำการขุดค้นแร่ ประกอบด้วยแร่ทองคำ และสินแร่ทองแดง ที่มีอยู่ปริมาณมาก สามารถผลิตได้ประมาณ 2 ล้านตัน/ปี ซึ่งขุดจากผิวดินลงไป 30 เมตร จะพบแร่ทองคำ และขุดลึกลงไปอีกถึง 300 เมตร เป็นแร่ทองแดง ในระยะเวลา 2 ปี บริษัท ภูเบี้ย มายนิ่ง จำกัด ลงทุนไปแล้ว 250 ล้านดอลลาร์ (US$)ถือว่าโครงการนี้เป็นเมกะโปรเจกต์ของรัฐบาลลาว

ขณะนี้บริษัทได้ขุดและสะสมสินแร่ทองแดง เพื่อรอการส่งไปผ่านกระบวนการแยกเป็นแร่ทองแดง โดยพื้นที่เป้าหมายในการนำไปผ่านกระบวนการแยกและส่งออกไปต่างประเทศ อยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ส่วนแร่ทองคำที่ขุดพบบริษัทได้นำกลับไปยังประเทศออสเตรเลียทันที

บริษัท ภูเบี้ย มายนิ่ง จำกัด ได้พิจารณาว่าเส้นทางที่เหมาะสม สะดวก และใกล้ที่สุดในการขนส่งสินแร่ทองแดง รวมทั้งจะมีจุดคุ้มทุนที่จะใช้เส้นทางจากเหมืองแร่ข้ามแม่น้ำโขงมาที่บ้านเปงจาน หมู่ 8 ต.โพนแพง อ.รัตนวาปี จ.หนองคาย ซึ่งมีระยะทางประมาณ 96 กิโลเมตร และขณะนี้บริษัทได้ลงทุนเป็นเงิน 15 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 300 กว่าล้านบาท ตัดเส้นทางขนส่งสินแร่ทองแดงมายังบ้านทวย เมืองท่าพระบาท ส.ป.ป.ลาว ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับบ้านเปงจาน

ทั้งนี้ บริษัท ภูเบี้ย มายนิ่ง จำกัด ได้เสนอให้จังหวัดหนองคายก่อสร้างท่าเทียบเรือแพขนานยนต์ ที่บริเวณบ้านเปงจาน เพื่อลำเลียงสินแร่ทองแดงไปส่งยังนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง โดยสาเหตุที่เลือกจุดเปงจานในการก่อสร้าง เนื่องจากหากบริษัทนำสินแร่ทองแดงเดินทางย้อนขึ้นไปทางปากซัน จะใช้ระยะทางประมาณ 70 กิโลเมตร เข้าสู่นครหลวงเวียงจันทน์ อีกประมาณ 200 กิโลเมตร

จากนั้นใช้เส้นทางหนองคายไปสู่ จ.ระยอง หากนำสินแร่เข้าทางสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ก็มีข้อจำกัดในเรื่องระยะทาง ประกอบกับระบบขนส่งข้ามสะพาน มีเวลาเปิดปิดที่ชัดเจน หากสินค้ามาถึงสะพานหลังเวลา 17.00 น.ก็จะไม่ได้รับการอนุญาตให้ผ่านได้ บริษัทเห็นว่าการนำเข้าทางสะพานทำให้บริษัทไม่สะดวก

ในเรื่องนี้ จังหวัดหนองคายได้ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่รับผิดชอบ คือ อบต.โพนแพง อ.รัตนวาปี นำเรื่องการก่อสร้างท่าเทียบเรือแพขนานยนต์เข้าพิจารณา ในที่ประชุมสภาและสภา อบต.โพนแพงมีมติเห็นชอบในการก่อสร้าง ซึ่งในการนี้ หจก.ท่าเรือแม่โขง เป็นผู้ได้รับมอบอำนาจจากบริษัทภูเบี้ย มายนิ่ง จำกัด ในการก่อสร้างท่าเทียบเรือแพขนานยนต์ โดยสถานที่ใช้ก่อสร้างเป็นบริเวณของนิคมสร้างตนเองโพนพิสัย ที่ติดกับวัดเปงจานเหนือ ริมถนนหนองคาย-บึงกาฬ และยังใกล้กับจุดผ่อนปรนด้วย โดยมีพื้นที่ 6 ไร่ 2 งาน 74 ตารางวา

สำหรับการก่อสร้างนั้น หจก.ท่าเรือแม่โขง แจงว่า จะก่อสร้างทางลงตามทางน้ำไหลใหม่ กว้าง 12 เมตร สามารถขึ้นลงได้พร้อมกัน ทำร่องระบายน้ำด้านข้าง 2 ด้าน, ก่อสร้างอาคารที่ทำการบริษัท, ก่อสร้างที่ทำการส่วนราชการและที่พักชมวิวสำหรับประชาชนทั่วไป, ก่อสร้างอาคารห้องแถวขนาด 5x12 เมตร, ก่อสร้างลานจอดรถบรรทุกสินค้า และปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณรอบข้างใหม่

หจก.ท่าเรือแม่โขง จะเป็นผู้ขนส่งสินค้าสินแร่ทองแดงจากเหมืองแร่ของบริษัท ภูเบี้ย มายนิ่ง จำกัด ข้ามแม่น้ำโขงเพื่อนำสินแร่ทองแดงเข้าไปในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ผ่านกระบวนการคัดแยกและส่งออกไปยังต่างประเทศ นอกจากนั้น หจก.ท่าเรือแม่โขง ยังจะทำหน้าที่ขนส่งวัสดุ และอุปกรณ์ที่จะต้องใช้เหมืองแร่ดังกล่าวออกจากประเทศไทยไปยังเหมืองแร่ที่เมืองท่าบก แขวงบอลิคำไซ สปป.ลาว โดยคาดว่าจะเริ่มได้ภายในเดือนเมษายน 2551-ตุลาคม 2553

ด้าน นายศิริพงษ์ วุฑฒินันท์ นายด่านศุลกากรบึงกาฬ กล่าวว่า การนำเข้าส่งออกสินค้าระหว่างไทย-ลาว มีข้อตกลงตามสนธิสัญญาบาร์เซโลนา สำหรับเมืองที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล ประเทศไทยไม่มีสิทธิที่จะไม่อนุญาตให้สินค้าจากประเทศที่ไม่ติดทะเลผ่าน ที่ผ่านมาสินค้าผ่านแดนจากลาวมาไทยหากพิจารณาแล้วว่าเป็นสินค้าที่ไม่ส่งผลเสียหรือผิดกฎหมาย ไทยไม่มีสิทธิห้ามไม่ให้สินค้าลาวผ่าน แต่จะผ่านทางช่องทางไหนเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องพิจารณา

ขณะที่สินค้าประเภทอื่นๆ จะนำผ่านแดนทางด่านสากล คือ ด่านศุลกากรหนองคาย และด่านศุลกากรบึงกาฬ รวมทั้งจุดผ่อนปรนได้ด้วย แต่หากช่องทางใดที่ผู้ประกอบการร้องขอให้พิจารณานำเข้าและส่งออกได้

ทั้งนี้ ด่านศุลกากรบึงกาฬ ได้อนุมัติในหลักการให้ หจก.ท่าเรือแม่โขง นำสินแร่ทองแดงเข้าและออกตามทางอนุมัติเฉพาะคราว ตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรได้ แต่เนื่องจากตามความเห็นและมติที่ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาการเปิดจุดผ่านแดน เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2542 ข้อ 4 พิจารณาเรื่องนโยบายและแนวทางปฏิบัติในการค้า ณ จุดผ่อนปรนการค้า ซึ่งระบุว่าการค้า ณ ช่องทางอื่นที่มีความปลอดภัยบริเวณชายแดน โดยกรมศุลกากรเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ

สำหรับการก่อสร้างท่าเทียบเรือขนานยนต์แห่งนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อจังหวัดหนองคาย ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน กล่าวคือ รถบรรทุกสินแร่ทองแดงจะมีประมาณ 80-100 คัน ประเทศไทยได้รับสัมปทานเรื่องรถบรรทุก รายได้จะเกิดขึ้นแก่คนไทย คนไทยจะมีงานทำ ประกอบกับเมื่อนำสินแร่เข้าไปยังนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดแล้วจะนำไปหลอม คนไทยก็จะได้สินแร่ทองแดงราคาถูก เมื่อนำส่งไปยังต่างประเทศก็จะเพิ่มมูลค่าให้แก่ประเทศไทย ถ้านำเข้าประเทศไทยก็จะมีการจัดเก็บภาษีศุลกากร และภาษีสรรพากรถือเป็นรายได้เข้ารัฐ

ทั้งนี้ หากมองภาพรวมเศรษฐกิจแล้วจะเห็นว่า ไทยจะได้ประโยชน์อย่างมหาศาล ซึ่งตามกฎกระทรวงการคลังแบบใหม่ได้ขยายพื้นที่รับผิดชอบให้ด่านศุลกากรบึงกาฬ รับผิดชอบมาถึงอำเภอโพนพิสัย รวมแล้ว 11 อำเภอ ครอบคลุมพื้นที่ที่จะเปิดใช้ท่าเทียบเรือแพขนานยนต์ ซึ่งตัวเลขการค้ารวมที่ด่านศุลกากรบึงกาฬ มูลค่าการนำเข้าส่งออกจากเดิม 5,000-6,000 ล้านบาท/ปี ก็จะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 20,000-30,000 ล้านบาท/ปีอย่างแน่นอน สอดคล้องกับการที่ด่านศุลกากร ต้องการผลักดันให้มีการก่อสร้างสะพานไทย-ลาว เพิ่มอีกแห่งหนึ่งที่อำเภอบึงกาฬในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น