หนองคาย-จังหวัดหนองคายอนุมัติให้บริษัทเอกชนก่อสร้างท่าเทียบเรือแพขนานยนต์ เพื่อลำเลียงสินแร่ทองแดงจากเหมืองแร่ในแขวงบอลิคำไซ สปป.ลาว เข้ามาแปรรูปภายในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เชื่อเป็นช่องทางสร้างรายได้มหาศาลให้ประเทศ คาดก่อสร้างท่าเทียบเรือแพขนานยนต์เสร็จภายในปี 2553
นายเจด็จ มุสิกวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย เปิดเผยว่า กลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้เดินทางไปสำรวจสถานที่ขุดแร่ทองแดงของบริษัท ภูเบี้ย มายนิ่ง จำกัด ที่เมืองท่าบก แขวงบอลิคำไซ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ซึ่งบริษัทแพนออสเตรเลีย เป็นผู้รับสัมปทานจากรัฐบาลลาว ระยะเวลา 15 ปี ทำการขุดค้นแร่ ประกอบด้วยแร่ทองคำ และสินแร่ทองแดง ที่มีอยู่ปริมาณมาก สามารถผลิตได้ประมาณ 2 ล้านตัน/ปี ซึ่งขุดจากผิวดินลงไป 30 เมตร จะพบแร่ทองคำ และขุดลึกลงไปอีกถึง 300 เมตร เป็นแร่ทองแดง ในระยะเวลา 2 ปี บริษัทภูเบี้ย มายนิ่ง จำกัด ลงทุนไปแล้ว 250 ล้านดอลลาร์ (US $)ถือว่าโครงการนี้เป็นเมกะโปรเจกต์ของรัฐบาลลาว
ขณะนี้บริษัทได้ขุดและสะสมสินแร่ทองแดง เพื่อรอการส่งไปผ่านกระบวนการแยกเป็นแร่ทองแดง โดยพื้นที่เป้าหมายในการนำไปผ่านกระบวนการแยกและส่งออกไปต่างประเทศ อยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ส่วนแร่ทองคำที่ขุดพบบริษัทได้นำกลับไปยังประเทศออสเตรเลียทันที
บริษัทภูเบี้ย มายนิ่ง จำกัด ได้พิจารณาว่าเส้นทางที่เหมาะสม สะดวก และใกล้ที่สุดในการขนส่งสินแร่ทองแดง รวมทั้งจะมีจุดคุ้มทุนที่จะใช้เส้นทางจากเหมืองแร่ข้ามแม่น้ำโขงมาที่บ้านเปงจาน หมู่ 8 ต.โพนแพง อ.รัตนวาปี จ.หนองคาย ซึ่งมีระยะทางประมาณ 96 กิโลเมตร และขณะนี้บริษัทได้ลงทุนเป็นเงิน 15 ล้านดอลลาร์ หรือ ประมาณ 300 กว่าล้านบาท ตัดเส้นทางขนส่งสินแร่ทองแดงมายังบ้านทวย เมืองท่าพระบาท สปป.ลาว ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับบ้านเปงจาน
ทั้งนี้ บริษัทภูเบี้ย มายนิ่ง จำกัด ได้เสนอให้จังหวัดหนองคายก่อสร้างท่าเทียบเรือแพขนานยนต์ ที่บริเวณบ้านเปงจาน เพื่อลำเลียงสินแร่ทองแดงไปส่งยังนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง โดยสาเหตุที่เลือกจุดเปงจานในการก่อสร้าง เนื่องจาก หากบริษัทนำสินแร่ทองแดงเดินทางย้อนขึ้นไปทางปากซัน จะใช้ระยะทางประมาณ 70 กิโลเมตรเข้าสู่นครหลวงเวียงจันทน์ อีกประมาณ 200 กิโลเมตร
จากนั้นใช้เส้นทางหนองคายไปสู่ จ.ระยอง หากนำสินแร่เข้าทางสะพานมิตรภาพไทย – ลาว ก็มีข้อจำกัดในเรื่องระยะทาง ประกอบกับระบบขนส่งข้ามสะพานฯ มีเวลาเปิดปิดที่ชัดเจน หากสินค้ามาถึงสะพานฯหลังเวลา 17.00 น. ก็จะไม่ได้รับการอนุญาตให้ผ่านได้ บริษัทเห็นว่าการนำเข้าทางสะพานฯทำให้บริษัทไม่สะดวก
ในเรื่องนี้ จังหวัดหนองคายได้ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่รับผิดชอบ คือ อบต.โพนแพง อ.รัตนวาปี นำเรื่องการก่อสร้างท่าเทียบเรือแพขนานยนต์เข้าพิจารณา ในที่ประชุมสภาและสภา อบต.โพนแพงมีมติเห็นชอบในการก่อสร้าง ซึ่งในการนี้ หจก.ท่าเรือแม่โขง เป็นผู้ได้รับมอบอำนาจจากบริษัทภูเบี้ย มายนิ่ง จำกัด ในการก่อสร้างท่าเทียบเรือแพขนานยนต์ โดยสถานที่ใช้ก่อสร้างเป็นบริเวณของนิคมสร้างตนเองโพนพิสัย ที่ติดกับวัดเปงจานเหนือ ริมถนนหนองคาย – บึงกาฬ และยังใกล้กับจุดผ่อนปรนด้วย โดยมีพื้นที่ 6 ไร่ 2 งาน 74 ตารางวา
สำหรับการก่อสร้างนั้น หจก.ท่าเรือแม่โขง แจงว่า จะก่อสร้างทางลงตามทางน้ำไหลใหม่ กว้าง 12 เมตร สามารถขึ้นลงได้พร้อมกัน ทำร่องระบายน้ำด้านข้าง 2 ด้าน, ก่อสร้างอาคารที่ทำการบริษัท, ก่อสร้างที่ทำการส่วนราชการและที่พักชมวิวสำหรับประชาชนทั่วไป, ก่อสร้างอาคารห้องแถวขนาด 5x12 เมตร, ก่อสร้างลานจอดรถบรรทุกสินค้า และปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณรอบข้างใหม่
หจก.ท่าเรือแม่โขง จะเป็นผู้ขนส่งสินค้าสินแร่ทองแดงจากเหมืองแร่ของบริษัทภูเบี้ย มายนิ่ง จำกัด ข้ามแม่น้ำโขงเพื่อนำสินแร่ทองแดงเข้าไปในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ผ่านกระบวนการคัดแยกและส่งออกไปยังต่างประเทศ นอกจากนั้น หจก.ท่าเรือแม่โขง ยังจะทำหน้าที่ขนส่งวัสดุ และอุปกรณ์ที่จะต้องใช้เหมืองแร่ดังกล่าวออกจากประเทศไทยไปยังเหมืองแร่ที่เมืองท่าบก แขวงบอลิคำไซ สปป.ลาว โดยคาดว่าจะเริ่มได้ภายในเดือนเมษายน 2551 – ตุลาคม 2553
ด้านนายศิริพงษ์ วุฑฒินันท์ นายด่านศุลกากรบึงกาฬ กล่าวว่า การนำเข้าส่งออกสินค้าระหว่างไทย – ลาว มีข้อตกลงตามสนธิสัญญาบาเซโลนา สำหรับเมืองที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล ประเทศไทยไม่มีสิทธิที่จะไม่อนุญาตให้สินค้าจากประเทศที่ไม่ติดทะเลผ่าน ที่ผ่านมาสินค้าผ่านแดนจากลาวมาไทยหากพิจารณาแล้วว่าเป็นสินค้าที่ไม่ส่งผลเสียหรือผิดกฎหมาย ไทยไม่มีสิทธิห้ามไม่ให้สินค้าลาวผ่าน แต่จะผ่านทางช่องทางไหนเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องพิจารณา
ขณะที่สินค้าประเภทอื่น ๆ จะนำผ่านแดนทางด่านสากล คือด่านศุลกากรหนองคาย และด่านศุลกากรบึงกาฬ รวมทั้งจุดผ่อนปรนได้ด้วย แต่หากช่องทางใดที่ผู้ประกอบการร้องขอให้พิจารณานำเข้าและส่งออกได้
ทั้งนี้ ด่านศุลกากรบึงกาฬได้ อนุมัติในหลักการให้ หจก.ท่าเรือแม่โขง นำสินแร่ทองแดงเข้าและออกตามทางอนุมัติเฉพาะคราว ตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรได้ แต่เนื่องจากตามความเห็นและมติที่ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาการเปิดจุดผ่านแดน เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2542 ข้อ 4 พิจารณาเรื่องนโยบายและแนวทางปฏิบัติในการค้า ณ จุดผ่อนปรนการค้า ซึ่งระบุว่าการค้า ณ ช่องทางอื่นที่มีความปลอดภัยบริเวณชายแดน โดยกรมศุลกากรเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ
สำหรับการก่อสร้างท่าเทียบเรือขนานยนต์แห่งนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อจังหวัดหนองคาย ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน กล่าวคือ รถบรรทุกสินแร่ทองแดงจะมีประมาณ 80-100 คัน ประเทศไทยได้รับสัมปทานเรื่องรถบรรทุก รายได้จะเกิดขึ้นแก่คนไทย คนไทยจะมีงานทำ ประกอบกับเมื่อนำสินแร่เข้าไปยังนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดแล้วจะนำไปหลอม คนไทยก็จะได้สินแร่ทองแดงราคาถูก เมื่อนำส่งไปยังต่างประเทศก็จะเพิ่มมูลค่าให้แก่ประเทศไทย ถ้านำเข้าประเทศไทยก็จะมีการจัดเก็บภาษีศุลกากร และภาษีสรรพากรถือเป็นรายได้เข้ารัฐ
ทั้งนี้ หากมองภาพรวมเศรษฐกิจแล้วจะเห็นว่า ไทยจะได้ประโยชน์อย่างมหาศาล ซึ่งตามกฎกระทรวงการคลังแบบใหม่ได้ขยายพื้นที่รับผิดชอบให้ด่านศุลกากรบึงกาฬรับผิดชอบมาถึงอำเภอโพนพิสัย รวมแล้ว 11 อำเภอ ครอบคลุมพื้นที่ที่จะเปิดใช้ท่าเทียบเรือแพขนานยนต์ ซึ่งตัวเลขการค้ารวมที่ด่านศุลกากรบึงกาฬ มูลค่าการนำเข้าส่งออกจากเดิม 5,000-6,000 ล้านบาท/ปี ก็จะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 20,000-30,000 ล้านบาท/ปีอย่างแน่นอน สอดคล้องกับการที่ด่านศุลกากร ต้องการผลักดันให้มีการก่อสร้างสะพานไทย-ลาว เพิ่มอีกแห่งหนึ่งที่อำเภอบึงกาฬในอนาคต