ผู้จัดการรายวัน-- โครงการเขื่อนของนักลงทุนจากเกาหลีแห่งหนึ่งในภาคใต้ของลาวกำลังจะส่งผลกระทบต่อคนในท้องถิ่นอย่างสาหัสและทำให้น้ำท่วมหมู่บ้าน "อย่างกว้างขวาง" หน่วยงานที่รับผิดชอบกำลังศึกษาผลกระทบต่างๆ จากโครงการนี้อย่างเคร่งเครียด
ตามรายงานของสำนักข่าวสารปะเทดลาว (ขปล.) เมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้มีการประชุมพิจารณารายงานผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย ในแขวงจำปาสัก โดยสำนักงานบริหารสิ่งแวดล้อมและแหล่งน้ำแขวงเป็นเจ้างาน มีนายสอนไซ สีพันดอน เจ้าแขวงเข้าร่วมด้วย
เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมากได้เข้าร่วมวงศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หลังการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการเสร็จสิ้นลง ขปล.กล่าว
สำนักข่าวของทางการไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับว่า รายงานครอบคลุมเนื้อหาใดบ้าง แต่ก็กล่าวว่าเขื่อนไฟฟ้าเซเปียน-เซน้ำน้อย จะส่งผลกระทบต่อชุมชนท้องถิ่น ต่อสัตว์ป่าและป่าไม้ และมีผลทางกระทบทางด้านอุทกศาสตร์
“โครงการเขื่อนไฟฟ้าเซเปียน-เซน้ำน้อยจะทำให้เกิดน้ำท่วมในแขวงจำปาสักและแขวงอัตตะปือ ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อหมู่บ้านแห่งต่างๆ ในเขตเมืองปากซอง แขวงจำปาสัก.." ขปล.กล่าว
โครงการอยู่ในพื้นที่คาบเกี่ยวของสองแขวงภาคใต้ที่อุดมด้วยทรัพยากรแร่ธาตุล้ำค่า รวมทั้งเป็นแหล่งชีวะนานาพันธุ์ที่สมบูรณ์ที่สุดอีกแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตัวเขื่อนจะอยู่ในเขตจำปาสัก แต่โรงปั่นไฟจะอยู่ในเขตอัตตะปือ
เมืองปากซ่อง เป็นเขตสวนกาแฟใหญ่ที่สุดของประเทศ กาแฟพันธุ์อะราบิก้าจากที่นี่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก ผู้ผลิตได้ส่งออกไปยังยุโรปและสหรัฐฯ แต่ในปัจจุบันหลายอาณาบริเวณของเมืองนี้กำลังถูกรุกล้ำด้วยโครงการเหมืองแร่และโครงการปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นๆ
ในเดือน ส.ค.2549 รัฐบาลลาวตกลงให้บริษัท เอสเค เอ็นจิเนียริง แอนด์คอนสตรัคชัน จำกัด ( SK Engineering & Construction Company) และบริษัทเวสเทิร์นพาวเวอร์ จำกัด (Western Power Co) จากเกาหลี สำรวจความเป็นไปได้โครงการเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย โดยจะใช้เวลา 18 เดือน
ตามการประเมินเบื้องต้นเขื่อนแห่งนี้ จะมีขีดความสามารถผลิตไฟฟ้าราว 400 เมกะวัตต์ ไฟฟ้าทั้งหมดจะจำหน่ายให้แก่ไทย พร้อมไฟฟ้าจากอีก 6 เขื่อนคือ น้ำงึม 2 และ 3 น้ำเงียบ 1 น้ำเทิน 1 เทินหินบูน กับโครงการหงสาลิกไนต์
ลาวกำลังเร่งก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าใหญ่น้อย เพื่อเป็น "แบตเตอรี่แห่งเอเชีย" จำหน่ายไฟฟ้าให้ประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือไทยกับเวียดนามที่มีความต้องการเพิ่มมากขึ้นทุกปี
ยังมีโครงการก่อสร้างเขื่อนอีกหลายแห่งในแขวงภาคใต้ รวมทั้งเขื่อนน้ำกอง 1 กับน้ำกอง 3 ในแขวงอัตตะปือ และเขื่อนเซกอง 5 ในแขวงเซกอง ซึ่งมีกำลังติดตั้ง 235, 38 และ 300 เมกะวัตต์ตามลำดับ ด้วยทุนประมาณ 700 ล้านดอลลาร์ของบริษัทจากรัสเซีย
ปีนี้บริษัทจากเวียดนามได้เริ่มก่อสร้างเขื่อนเซกะหมาน 3 ในเขตเมืองดักจึง แขวงเซกอง มีกำลังผลิต 465 เมกะวัตต์ด้วยทุน 278 ล้านดอลลาร์ คาดว่าจะเริ่มปั่นไฟได้ปลายปี 2552
ในภาคใต้ของลาวยังมีเขื่อนกั้นลำน้ำโขงที่ดอนสะโฮง แขวงจำปาสัก ขนาดติดตั้ง 240 เมกกะวัตต์ แต่กำลังจะสร้างความเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศน์ของลำน้ำนานาชาติสายนี้อย่างกว้างขวาง.