xs
xsm
sm
md
lg

ไทย-เกาหลีลุยต่อเขื่อนเซเปี่ยน-เซน้ำน้อย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<CENTER><FONT color=#660099> เขื่อนเซเปี่ยน-เซน้ำน้อย กำลังจะทำให้ผืนป่าชุ่มน้ำแห่งนี้ถูกน้ำท่วมกินอาณาบริเวณกว้าง เปลี่ยนแปลงสรรพชีวิตอย่างไม่มีวันหวลกลับ ทางการลาวเคยแสดงความวิตกกังวลเรื่องนี้ถึงกับทำให้การดำเนินงานหยุดชงักมาหลายเดือน ตอนนี้เปิดไฟเขียวให้แล้ว บริษัทโรงไฟฟ้าราชบุรีฯ ของไทยร่วมถือหุ้นอยู่ในนั้นด้วย  </FONT></CENTER>

เอเอสทีวีผู้จัดการ-- ทางการลาวไฟเขียวอนุมัติให้กลุ่มนักลงทุนต่างชาติที่นำโดยทุนจากเกาหลีกับไทยเดินหน้าต่อไปได้แล้ว สำหรับโครงการเขื่อนเซเปี่ยน-เซน้ำน้อยขนาด 390 เมกะวัตต์ โดยผู้ลงทุนจะต้องจัดมาตรการป้องกันผลกระทบด้านต่างๆ ให้สมบูรณ์

โครงการดังกล่าวตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่มีความหลากหลายทางชีวนานาพันธุ์สมบูรณ์สุดอีกแห่งหนึ่งในระดับภูมิภาค

ทางการแขวงจำปาสักได้จัดประชุมสัมมนาเมื่อต้นปีนี้ พิจารณาผลการสำรวจศึกษาโครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าอื้อฉาวแห่งนี้ ที่ประชุมได้แสดงความห่วงใยต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสัตว์ป่าและพืชพรรณธรรมชาติ ซึ่งทำให้การดำเนินงานหยุดชะงักไปพักใหญ่ จนกระทั่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
ตามรายงานของสำนักข่าวสารปะเทดลาว (ขปล.) บริษัทเอสเคเอ็นจิเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น (SK Engineering and Construction) บริษัทโคเรียเวสเทิร์นพาวเวอร์ (Korea Western Power) กับบริษัทไฟฟ้าราชบุรีฯ (Ratchaburi Electricity Generation Holdings) ของไทยได้ร่วมกันเซ็นข้อตกลงกับกระทรวงแผนการและการลงทุนลาวสัปดาห์ที่แล้วเพื่อดำเนินการต่อไป

ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว กลุ่มบริษัทร่วมทุนจะใช้เวลาอีก 18 เดือนข้างหน้าในการออกแบบโรงไฟฟ้า เลือกที่ตั้งที่แน่นอนและดำเนินการเพื่อป้องกันผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและผลกระทบทางสังคมจากโครงการ

"รัฐบาลลาวได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งพิจารณาโครงการและตัดสินใจอนุมัติสัมปทานซึ่งจะทำให้ผู้ลงทุนสามารถเริ่มการก่อสร้าง (เขื่อน) ไฟฟ้าต่อไปได้" สำนักข่าวของทางการกล่าว

สื่อของทางการกล่าวว่าหากสามารถดำเนินการได้ต่อไปรัฐบาลจะเข้าถือหุ้น 24% ในโครงการเซเปี่ยน-เซน้ำน้อยซึ่งจะผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 1.776 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี ใช้เงินลงทุนดำเนินโครงการราว 500 ล้านดอลลาร์และมีอายุสัมปทาน 25 ปี

ตามข้อมูลเอกสารขององค์การท่องเที่ยวแห่งชาติ ที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์การปฏิบัติงานสิ่งแวดล้อมที่ไม่สังกัดรัฐบาลและองค์การระหว่างประเทศบางแห่ง เขื่อนเซเปี่ยน-เซน้ำน้อย ตั้งอยู่ในรอยต่อของสองแขวง (จังหวัด) คือ จำปาสักกับอัตตะปือ ซึ่งเป็นเขตที่ตั้งป่าสงวนแห่งชาติเซเปี่ยน

ที่นั่นเป็นแหล่งที่มีน้ำซับตลอดปี เป็นที่อาศัยของสัตว์ป่าหากยากนานาพันธุ์ รวมทั้งสัตว์กีบเลี้ยงลูกด้วยนมหลายต่อหลายชนิด

ในการประชุมสัมมนาศึกษาผลกระทบจากโครงการในเดือน มี.ค.2551 ผู้เข้าร่วมประชุมได้รับทราบ เขื่อนเซเปี่ยน-เซน้ำน้อยกำลังจะส่งผลกระทบต่อคนในท้องถิ่นอย่างสาหัส และทำให้น้ำท่วมหมู่บ้าน "อย่างกว้างขวาง" หน่วยงานที่รับผิดชอบศึกษาผลกระทบต่างๆ จากโครงการนี้อย่างเคร่งเครียด

ตามรายงานของขปล.การประชุมพิจารณารายงานผลกระทบจากการเซเปียน-เซน้ำน้อย ในแขวงจำปาสัก จัดขึ้นโดยมีสำนักงานบริหารสิ่งแวดล้อมและแหล่งน้ำแขวงเป็นเจ้างาน มีนายสอนไซ สีพันดอน เจ้าแขวงจำปาสักเข้าร่วมด้วย

เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมากได้เข้าร่วมวงศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หลังการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการเสร็จสิ้นลง ขปล.กล่าว

สำนักข่าวของทางการไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับว่า รายงานครอบคลุมเนื้อหาใดบ้าง แต่ก็กล่าวว่าเขื่อนไฟฟ้าเซเปียน-เซน้ำน้อยจะส่งผลกระทบต่อชุมชนท้องถิ่น ต่อสัตว์ป่าและป่าไม้ และมีผลทางกระทบทางด้านอุทกศาสตร์

“โครงการเขื่อนไฟฟ้าเซเปียน-เซน้ำน้อยจะทำให้เกิดน้ำท่วมในแขวงจำปาสักและแขวงอัตตะปือ ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อหมู่บ้านแห่งต่างๆ ในเขตเมืองปากซอง แขวงจำปาสัก.." ขปล.กล่าว

โครงการอยู่ในพื้นที่คาบเกี่ยวของสองแขวงภาคใต้ที่อุดมด้วยทรัพยากรแร่ธาตุล้ำค่า รวมทั้งเป็นแหล่งชีวะนานาพันธุ์สมบูรณ์ที่สุดอีกแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตัวเขื่อนจะอยู่ในเขตจำปาสัก แต่โรงปั่นไฟจะอยู่ในเขตอัตตะปือ
<CENTER><FONT color=#660099> หนึ่งในบรรดาประชากรในเขตวนอุทยานแห่งขาติเซเปี่ยน แขวงอัตตะปือ-จำปาสัก ที่นี่ยังมีสัตว์ป่าหายากอีกหลายชนิด เป็นเขตแดนที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสมบูรณ์สุดแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  </FONT></CENTER>
ในเดือน ส.ค.2549 รัฐบาลลาวตกลงให้บริษัทเอสเคเอ็นจิเนียริง แอนด์คอนสตรัคชัน กับเวสเทิร์นพาวเวอร์ สำรวจความเป็นไปได้ของโครงการโดยใช้เวลา 18 เดือน

ไฟฟ้าที่ผลิตได้ทั้งหมดในอีกประมาณ 4 ปีข้างหน้าจะจำหน่ายให้แก่ไทย ในลอตที่มีการเซ็นซื้อพร้อมๆ กันกับไฟฟ้าจากเขื่อนอีกหกแห่งคือ น้ำงึม 2 และ 3 น้ำเหงียบ 1 น้ำเทิน 1 เทินหินบูน กับโครงการหงสาลิกไนต์

เดือน มิ.ย.ปีนี้ รัฐบาลลาวได้เซ็นสัญญาอย่างเงียบๆ อนุมัติให้กลุ่มทุนจากมาเลเซียก่อสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำโขงแห่งแรกที่ดอนสะโฮงในเขตสี่พันดอนแขวงจำปาสัก โดยไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดใดๆ เกี่ยวกับการศึกษาผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม

สื่อของทางการลาวไม่ได้เสนอข่าวเกี่ยวกับการเซ็นสัญญาครั้งนี้ แต่หนังสือพิมพ์ “เดอะสตาร์” ในมาเลเซียกล่าวว่า บริษัทเมกะเฟิร์สท์คอร์ป (Mega First Corporation Bhd) ได้เซ็นสัญญากับฝ่ายลาวตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.2551 ในการสัมปทานแบบก่อสร้าง-ดำเนินการส่งมอบ หรือ บีโอที

หนังสือพิมพ์ฉบับนี้กล่าวด้วยว่า บริษัท IJM Corp จะเข้าร่วมลงทุนในการก่อสร้างและดำเนินการโครงการดอนสะฮอง โดยถือหุ้น 30% ในโครงการร่วมกับกลุ่มเมกะเฟิร์สท์ฯ

ยังไม่เคยมีการเปิดเผยรายละเอียดใดๆ เกี่ยวกับสัญญาสัมปทานทั้งจากฝ่ายลาวและฝ่ายผู้ลงทุน ท่ามกลางเสียงเรียกร้องของฝ่ายต่างๆ

ลาวกำลังเร่งก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าใหญ่น้อย เพื่อเป็น "แบตเตอรี่แห่งเอเชีย" จำหน่ายไฟฟ้าให้ประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือไทยกับเวียดนามที่มีความต้องการเพิ่มมากขึ้นทุกปี

ยังมีอีกหลายโครงการในแขวงภาคใต้ รวมทั้งเขื่อนน้ำกอง 1 กับน้ำกอง 3 ในแขวงอัตตะปือ และเขื่อนเซกอง 5 ในแขวงเซกอง โดยบริษัทจากรัสเซีย กำลังติดตั้ง 235, 38 และ 300 เมกะวัตต์ตามลำดับ

ปีนี้บริษัทจากเวียดนามได้เริ่มก่อสร้างเขื่อนเซกะหมาน 3 ในแขวงเซกอง มีกำลังผลิต 465 เมกะวัตต์ด้วยทุน 278 ล้านดอลลาร์ กำหนดปั่นไฟปลายปีหน้า.
กำลังโหลดความคิดเห็น