xs
xsm
sm
md
lg

เซ็นแล้ว “ดอนสะโฮง” กั้นน้ำโขงแห่งแรก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<CENTER><FONT color=#660099>แผนที่ของ TERRA แสดงที่ตั้งเขื่อนกั้นลำน้ำโขงจำนวน 6 แห่งในลาวและชายแดนไทย-ลาว กับอีก 1 แห่งใน จ.กระแจ๊ะ (Kratie) กัมพูชา กับเขื่อนดอนสะฮองในภาคใต้ลาวใกล้เขตแดนกัมพูชา ที่ลำน้ำโขงทอดยาวไหลผ่าน </FONT> </CENTER>

ผู้จัดการรายวัน — การเซ็นสัญญาสัมปทานผ่านไปอย่างเงียบๆ ระหว่างนักลงทุนมาเลเซียกับรัฐบาลลาวเพื่อก่อสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำโขงแห่งแรกดอนสะโฮงในแขวงจำปาสัก ขณะที่ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดใดๆ เกี่ยวกับการศึกษาผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม ตลอดจนการกอบกู้ความเสียหายต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นจากโครงการนี้

ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ “เดอะสตาร์” บริษัท เมกะเฟิร์สท์คอร์ป (Mega First Corporation Bhd) ได้เซ็นสัญญาเพื่อพัฒนาโครงการกับฝ่ายลาวตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.2551 ซึ่งจะเป็นการสัมปทานแบบก่อสร้าง-ดำเนินการส่งมอบ หรือ บีโอที

ยังไม่เคยมีการเปิดเผยรายละเอียดใดๆ เกี่ยวกับสัญญาสัมปทานและโครงการดอนสะโฮง ทั้งจากฝ่ายลาวและฝ่ายผู้ลงทุน ท่ามกลางเสียงเรียกร้องขององค์กรอนุรักษ์สภาพแวดล้อมแห่งต่างๆ ที่แสดงความห่วงใยต่อสภาพแวดล้อม

หนังสือพิมพ์ฉบับเดียวกัน ยังรายงานว่า บริษัท IJM Corp ได้บรรลุความตกลงกับเมกะเฟิร์สท์ เพื่อเข้าร่วมลงทุนในการก่อสร้างและดำเนินการโครงการดอนสะโฮง โดย IJM แถลงในวันอังคาร (10 มิ.ย.) จะเข้าถือหุ้น 30% ในโครงการดังกล่าวในราคาหุ้นละ 1 ดอลลาร์

ถ้าหากรายงานของสื่อมาเลเซียเป็นความจริง ดอนสะโฮงก็จะเป็นเขื่อนกั้นลำน้ำโขงแห่งแรกในลาวจากทั้งหมด 8 หรือ 9 โครงการที่กำลังอยู่ระหว่างการสำรวจโดยนักลงทุนจากไทย จีน และเวียดนาม

ในเดือน พ.ค.2550 องค์กรเอกชนอนุรักษ์สภาพแวดล้อมทั้งในเอเชียและยุโรป ได้ชุมนุมที่หน้าสถานทูตลาวกรุงกัวลาลัมเปอร์และยื่นหนังสือ ขอให้รัฐบาลลาวเปิดการไต่สวนสาธารณะโครงการเขื่อนดอนสะโฮงขึ้นในนครเวียงจันทน์เพื่อให้โครงการนี้มีความโปร่งใส

ตามข้อมูลของโครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนอนุรักษ์สภาพแวดล้อม เขื่อนดอนสะโฮงเป็นเขื่อนขนาดเล็กมีกำลังปั่นไปเพียง 240 เมกะวัตต์ สร้างกั้นลำน้ำที่เรียกว่า “ฮูสะโฮง” ในอาณาบริเวณดินแดน “สี่พันดอน” ที่ลำน้ำโขงไหลแยกออกเป็นหลายสาย

กลุ่มดังกล่าวได้อ้างผลการศึกษาชิ้นหนึ่งที่ระบุว่า เขื่อนดอนสะโฮงกำลังจะสร้างความหายนะใหญ่หลวงที่สุดต่อระบบนิเวศแห่งลำน้ำโขง และ จะส่งผลกระทบในทางลบต่อประชาชนทั้งชาวกัมพูชา ลาวและไทย

“ดอนสะโฮงเป็นเส้นทางเคลื่อนย้ายที่สะดวกที่สุดของฝูงปลาจากโตนเลสาป (ในกัมพูชา) ไปสู่แม่น้ำโขง..” น.ส.เพียรพร ดีเทศน์ แห่งโครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต กล่าวระหว่างการแถลงข่าวในเดือน พ.ย.2550

กลุ่มอนุรักษ์กลุ่มนี้ กล่าวว่า เขื่อนดอนสะโฮงจะสร้างความเสียหายมากที่สุดต่อระบบแม่น้ำโขง ต่อการขยายพันธุ์ของปลาที่ว่ายทวนน้ำขึ้นไปวางไข่และเติบโตในลำน้ำระหว่างลาวกับไทยซึ่งตลอดลำน้ำสายนี้มีปลาอยู่ประมาณ 1,300 สายพันธุ์ เป็นแหล่งอาหารของประชาชนราว 60 ล้านคน

เขื่อนแห่งนี้กำลังจะส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของโลมาอิรวดี (ปลาข่า) ที่กำลังเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ในบริเวณสี่พันดอน

ปัจจุบันกำลังมีการสำรวจโครงการก่อสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำโขงแห่งอื่นๆ คือ เขื่อนปากแบ่ง เขื่อนหลวงพระบาง เขื่อนไซยะบูลี เขื่อนปากลาย เขื่อนปากชม-ซะนะคาม เขื่อนบ้านกุ่ม กับเขื่อนบ้านลาดเสือ

นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมของไทยกล่าว เป็นไปได้ที่จะมีโครงการเขื่อนท่าอุเทน-ท่าแขก ซึ่งจะเป็นโครงการเขื่อนกั้นลำน้ำโขงแห่งที่ 9 และเป็นแห่งที่ 4 จากความร่วมมือระหว่างไทยกับลาว.
กำลังโหลดความคิดเห็น