xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำคลองฉวางเร่งจี้รัฐแก้สร้างฝาย-ชี้ทำลายระบบนิเวศหวั่นปลาท้องถิ่นสูญพันธุ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สุราษฎร์ธานี - ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำกว่า 20 คน บุกพบนายอำเภอ ให้ช่วยเร่งแก้ปัญหาโครงการก่อสร้างฝายคอนกรีตกั้นน้ำคลองฉวาง ที่ไม่มีประตู เปิด-ปิดน้ำ หรือบันไดปลาโจน ทำให้เกิดการทำลายวงจรชีวิตพันธุ์ปลาพื้นเมืองที่สำคัญและหายาก อาจสูญพันธุ์ในไม่ช้า

วันนี้ (22 พ.ค.) ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำคลองฉวางจำนวนกว่า 20 คน นำโดย นายศุภวัฒน์ กล่อมวิเศษ ประธานชมรม เดินทางเข้าพบ นายจิรศักดิ์ ชัยฤทธิ์ นายอำเภอบ้านนาสาร จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อปรึกษาหาแนวทางแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างฝายคอนกรีตกั้นน้ำคลองฉวาง ซึ่งตั้งอยู่บริเวณ หมู่ที่ 2 ต.น้ำพุ อ.บ้านนาสาร

โดย นายศุภวัฒน์ กล่าวว่า โครงการก่อสร้างฝายคอนกรีตกั้นน้ำคลองฉวางนั้น ลักษณะของโครงการ เป็นฝายขนาดกว้าง 30 เมตร สันฝายสูง 1 เมตร ผนังข้างสูง 2.5 เมตร ท้องกว้าง 11 เมตร ลึก 2 เมตร ดำเนินการโดย อบจ.สุราษฎร์ธานี งบประมาณ 1.49 ล้านบาท ก่อสร้างแล้วเสร็จในช่วงกลางปี 2550

ปรากฏว่า เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จนั้นฝายดังกล่าวไม่มีประตูระบายน้ำปิด-เปิด หรือแม้แต่บันไดปลาโจน ลักษณะสร้างขึ้นมาเพื่อปิดกั้นคลองเท่านั้นทำให้เกิดการทำลายวงจรชีวิตพันธุ์ปลาพื้นเมืองที่สำคัญและหายาก เช่น ปลาโหง ปลาหุด และปลาหมูกแกะ หรือปลาหมู ซึ่งเหลืออยู่น้อยเต็มทีก็ไม่สามารถว่ายไปวางไข่ได้ตลอดสายน้ำ

“การก่อสร้างฝายถ้าเป็นฝายแม้วที่ชาวบ้านสร้างกันเอง หรือที่ภาครัฐบางหน่วยงานทำให้นั้น เพื่อชะลอน้ำให้ความชุ่มชื่นบริเวณต้นน้ำก็จะมีประโยชน์มาก แต่การสร้างฝายคอนกรีตขวางลำคลอง เช่นนี้ ไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งระบบ หวังผลเฉพาะอย่าง เฉพาะพื้นที่เท่านั้น แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่เดือดร้อน คือ ว่าในหน้าแล้งน้ำน้อยก็จะเก็บน้ำไว้ใช้แต่เฉพาะชุมชนนั้นๆ แต่พอช่วงฝนตกน้ำมากน้ำจะท่วมพื้นที่การเกษตรและบ้านเรือน ที่อยู่บริเวณฝายคอนกรีตดังกล่าว ซึ่งสร้างอยู่บริเวณชุมชน ห่างจากสะพานวัดน้ำพุเพียง 50 เมตร”

นายศุภวัฒน์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ตามวงจรชีวิตของปลาดังกล่าวนั้นเป็นประจำทุกๆปี ปลาจะว่ายจากต้นน้ำ ซึ่งอยู่ที่บริเวณ ต.ลำพูน อ.บ้านนาสาร เพื่อไปวางไข่ที่ปลายน้ำซึ่งเป็นบริเวณที่คลองฉวางไหลบรรจบแม่น้ำตาปี ณ บริเวณ ต.ท่าชี จากนั้นเมื่อเกิดเป็นตัวอ่อนหรือลูกปลา ระยะเวลา 2-3 เดือน ฝูงปลาเหล่านี้จะว่ายทวนน้ำขึ้นมาเจริญเติบโตที่ต้นน้ำบริเวณ ต.ลำพูน ตามวงจรชีวิตของสัตว์น้ำ

แต่ปัจจุบันปลาเหล่านี้ไม่สามารถว่ายล่องไปวางไข่ หรือว่ายทวนน้ำขึ้นไปบริเวณต้นน้ำถิ่นเจริญเติบโตตามธรรมชาติของวงจรชีวิตเหมือนอดีตที่ผ่านมาได้ ซึ่งคาดว่าอาจทำให้ปลาเหล่านี้เกิดภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในอนาคตได้ จึงต้องการให้ภาครัฐช่วยหาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วย

นายศุภวัฒน์ กล่าวว่า สำหรับคลองฉวางแห่งนี้นั้น เป็นลำคลองสายหลักเปรียบเสมือนเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงชีวิตให้กับชาวอำเภอบ้านนาสาร มีต้นกำเนิดจากบริเวณยอดเขาหนอง เทือกเขานครศรีธรรมราช ไหลผ่านพื้นที่ 5 ตำบล ของ อ.บ้านนาสาร ได้แก่ ต.ลำพูน ต.เพิ่มพูนทรัพย์ ต.นาสาร ต.น้ำพุ และไหลบรรจบแม่น้ำตาปีที่ ต.ท่าชี มีความยาวทั้งสิ้นประมาณ 50-51 กม.

ด้าน นายอำเภอบ้านนาสาร กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ก็ได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้านเกี่ยวกับเรื่องฝายดังกล่าวว่า ช่วงฝนตกอย่างต่อเนื่องนั้นเกิดปัญหาน้ำท่วมสวนผลไม้ของชาวบ้านที่อยู่เหนือฝายผนังกั้นน้ำทำให้เกิดความเสียหาย อีกทั้งเกิดน้ำเน่าเสียบริเวณด้านหน้าฝายเนื่องจากน้ำพัดพาตะกอนเลนมาอัดแน่นบริเวณดังกล่าวจนเกิดการหมักหมม สำหรับในส่วนของฝายดังกล่าวที่ไม่มีประตูปิด-เปิด น้ำ หรือบันไดปลาโจน เพื่อให้ปลาขึ้น-ล่องวางไข่ นั้นจะเร่งแก้ไขปัญหาเรื่องดังกล่าวอย่างเร่งด่วน ซึ่งจะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาวิธีการดำเนินการและจะต้องทำไปทั้งระบบ

กำลังโหลดความคิดเห็น