xs
xsm
sm
md
lg

กฟผ.ลักไก่ปิดประตูน้ำเขื่อนปากมูล-ไม่สนแม้ชาวบ้านถูกน้ำท่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อุบลราชธานี- การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สั่งปิดบานประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลทั้ง 8 บาน เพื่อเก็บกักน้ำใช้ปั่นกระแสไฟฟ้า โดยไม่สนชาวบ้านเหนือน้ำที่กำลังประสบอุทกภัยน้ำท่วมที่อยู่อาศัย อ้างเปิดเขื่อนแล้วเสียรายได้จากการผลิตไฟฟ้าวันละ 6 ล้าน

ผู้สื่อข่าวจังหวัดอุบลราชธานี รายงานว่า ตั้งแต่วานนี้(3 พ.ย.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ทำการปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยไม่แจ้งให้ตัวแทนชาวบ้านและคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูล ซึ่งเป็นคณะกรรมการระดับจังหวัดทราบล่วงหน้า สำหรับข้อตกลงการเปิดและปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล ได้มีการแก้ไขกฎเกณฑ์การเปิด-ปิดประตูระบายน้ำ ซึ่งเดิมกำหนดเปิดประตูระบายน้ำระหว่างเดือนมิถุนายน-ตุลาคมเป็นเวลา 4 เดือนทุกปี เพื่อให้ปลาในแม่น้ำโขงว่ายทวนน้ำขึ้นมาวางไข่ตามฤดูกาลผสมพันธุ์

แต่ต่อมาคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูล ซึ่งประกอบไปด้วย ตัวแทนชาวบ้านปากมูลที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน ตัวแทนนักวิชาการด้านการบริหารจัดการน้ำ ตัวแทน กฟผ.และตัวแทนจังหวัดอุบลราชธานี ได้ตกลงจะปิดประตูระบายน้ำทันทีหากระดับการไหลของน้ำในแม่น้ำมูลที่สถานนีวัดน้ำเอ็ม 7 สะพานเสรีประชาธิปไตย สูงกว่าหรือเท่ากับ 500 ลบ.ม.ต่อวินาที

สำหรับปี 2551 กฟผ.ได้เริ่มระบายน้ำออกจากเขื่อนปากมูล เพื่อเปิดประตูน้ำทั้ง 8 บาน เมื่อวันที่ 31 พ.ค.และสามารถเปิดประตูได้สูงสุดเมื่อวันที่ 9 มิ.ย.และมีกำหนดปิดประตูระบายน้ำในวันที่ 10 ต.ค.ศกนี้

รายงานข่าวแจ้งต่อว่า ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 6 ต.ค.คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูลได้เรียกประชุมคณะกรรมการพิจารณาปิดประตูระบายน้ำ แต่เนื่องจากปริมาณน้ำในแม่น้ำมูลอยู่ในระดับสูง และล้นตลิ่งไหลท่วมบ้านเรือนราษฎรที่อาศัยอยู่สองฝั่งแม่น้ำ คณะกรรมการจึงขอให้ กฟผ.เลื่อนระยะเวลาปิดประตูระบายน้ำออกไปจนกว่าระดับน้ำจะดีขึ้น เพื่อช่วยบรรเทาทุกข์ให้กับประชาชนที่อยู่เหนือเขื่อนและถูกน้ำท่วมที่อยู่อาศัยขณะนี้

แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา กฟผ.ได้ปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล เพื่อเก็บกักน้ำใช้ปั่นกระแสไฟฟ้า โดย กฟผ.ได้ชี้แจงผลเสียในการเปิดประตูเขื่อนปากมูลไว้ว่า ตามริมฝั่งแม่น้ำมูลมีสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า เพื่อสูบน้ำให้ราษฎรมีน้ำใช้เพาะปลูกในฤดูแล้ง และช่วยเหลือราษฎรในการทำนาปี หรือต้องการน้ำเพื่อตกกล้าก่อนฤดูกาล (มิถุนายน-พฤศจิกายน)

และถ้าเขื่อนปากมูลปล่อยน้ำ ระดับน้ำในแม่น้ำมูลลดลง ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสถานีสูบน้ำทั้ง 29 สถานี ซึ่งมีพื้นที่ส่งน้ำประมาณ 43,730 ไร่ และทำให้น้ำกว่า 130 ลบ.ม.ถูกปล่อยทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ โดยขนาดของปริมาณน้ำดังกล่าว สามารถนำมาผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 3,234,125 หน่วย คิดเป็นเงินที่ต้องสูญเสียจากการปล่อยน้ำทิ้งวันละ 6 ล้านบาท และยังมีผลเสียต่อการเพาะเลี้ยงพันธุ์สัตว์น้ำของชาวบ้านตามริมฝั่งแม่น้ำมูลด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น