xs
xsm
sm
md
lg

ทั้งเฟ้อทั้งฝืด-เวียดนามกระอักเศรษฐกิจโต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



ผู้จัดการรายวัน-- สำหรับประชาชนตามท้องถนนข้าวของแพงขึ้น กำลังซื้อลดลง เนื่องจากเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น15% ในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ส่วนธุรกิจทั่วไปกำลังฝืดเคืองอย่างหนัก อันเนื่องมาจากมาตรการของธนาคารแห่งรัฐเวียดนามที่ใช้ดูดเงินออกจากตลาด เพื่อสกัดกั้นเงินเฟ้อ


ในวันพฤหัสบดี (28 ก.พ.) สำนักงานใหญ่สถิติ (General Statistic Office) ได้เปิดเผยว่า เดือน ก.พ.นี้เงินเฟ้อได้ทะยานขึ้น 15% เทียบกับเดือนเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งได้ทำให้ประชาชนที่รายได้ต่ำ ยากลำบากยิ่งขึ้น

สำนักงานสถิติกลางของประเทศกล่าวว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index) ซึ่งใช้เป็นเครื่องชี้วัดเงินเฟ้อได้เพิ่มขึ้น 15.67% นักเศรษฐศาสตร์ของ GSO กล่าวว่าเป็นอัตราสูงที่สุดในรอบ 12 ปี ในช่วงเดือนดังกล่าว

เงินเฟ้ออย่างหนักได้ทำให้ธนาคารแห่งรัฐ หรือ SBV (State Bank of Vietnam) ออกพันธบัตรมูลค่าหลายล้านดอลลาร์เพื่อดูดซับเงินด่งออกจากการหมุนเวียนในระบบ โดยธนาคารของรัฐบาลหลายแห่งเป็นผู้รับซื้อ

มาตรการดังกล่าวได้ทำให้เกิดการขาดแคลนเงินสกุลท้องถิ่นอย่างรุนแรงในขณะนี้ ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งทั้งของรัฐ เอกชนและกึ่งเอกชน แข่งกันขึ้นดอกเบี้ยเพื่อระดมเงินออม ทำให้อัตราพุ่งสูงกว่า 12% ซึ่งทำให้ SBV เข้าแทรกแซงระบบการเงินอีกครั้งในพุธ (27 ก.พ.) ที่ผ่านมา

ธนาคารรัฐเวียดนามได้ออกข้อกำหนดจำกัดเพดานดอกเบี้ยเงินฝากเอาไว้ไม่เกิน 12% เพื่อสกัดสงครามดอกเบี้ยระหว่างธนาคารพาณิชย์ ซึ่งจะส่งผลลบต่อตลาดเงินของประเทศ

แต่ในขณะเดียวกันมาตรการของแบงก์ชาติกำลังส่งผลกระทบต่อธุรกิจและการลงทุนของต่างชาติในเวียดนามด้วย สื่อของทางการรายงาน

การขาดแคลนเงินด่งสะท้อนให้เห็นจากกรณีธนาคารมอร์แกนสแตนลีย์เข้าซื้อหุ้น 10% มูลค่า 217 ล้านดอลลาร์ในบริษัทปิโตรเวียดนามไฟแนนซ์คอร์ป (Petro Vietnam Finance Corp) สัปดาห์ที่แล้ว ซึ่ง SBV ยอมให้ธนาคารจากสหรัฐฯ จ่ายเป็นดอลลาร์ได้ ทั้งๆ ที่ตามกฎหมายจะต้องจ่ายเป็นเงินด่ง

อีกกรณีหนึ่งสมุห์บัญชีของบริษัทต่างชาติแห่งหนึ่งในกรุงฮานอยได้นำเงิน 30,000 ดอลลาร์ไปขอแลกเงินด่งสัปดาห์ที่แล้วเพื่อจ่ายเงินเดือนพนักงาน แต่ธนาคารแจ้งให้ทราบว่ามีเงินด่งไม่พอให้แลก

"เราก็เลยต้องไปกดเงินสดจากเอทีเอ็มทีละเล็กละน้อยรวบรวมไปจ่ายเงินเดือน" เจ้าหน้าที่บริษัทแห่งนั้นกล่าว ทั้งยังได้ย้ำว่าสถานการณ์เงินฝืดได้เกิดขึ้นแล้วในเวียดนาม

นักเศรษฐศาสตร์กับนายธนาคารต่างชาติกล่าวว่า 4 เดือนก่อนหน้านี้ แบงก์ชาติเวียดนามได้ทุ่มเงินด่งออกกวาดเงินดอลลาร์จากตลาด เพื่อช่วยพยุงให้เงินด่งทรงค่าอยู่ที่ระดับ 16,000 ด่งต่อดอลลาร์ อันเป็นระดับที่ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า เหมาะสมที่สุดสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ

การดูซับเงินด่งเข้าเก็บทำให้เกิดการขาดแคลนขึ้นในระบบ และเคยทำให้อัตราดอกเบี้ยกู้ยืมระหว่างธนาคารพุ่งขึ้นสูงถึง 40% เมื่อไม่นานมานี้ ก่อนที่ SBV จะใช้มาตรการเพิ่มเติมอัดฉีดเงินเข้าหมุนเวียน จึงทำให้ดอกเบี้ยอินเตอร์แบงก์ลดลงเหลือ 25% และเป็น 9-10% ในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม SBV กำลังจะออกพันธบัตรอีกชุดหนึ่งรวมมูลค่า 1,270 ล้านดอลลาร์ โดยธนาคารและสถาบันการเงินจำนวน 41 แห่งจะร่วมกันซื้อ มีระยะเวลาซื้อคืน 1 ปี อัตราดอกเบี้ย 7.8% ซึ่งต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ

นายหวูฮวีตวาน (Vu Huy Toan) รองผู้อำนวยการธนาคารแห่งรัฐสาขานครโฮจิมินห์ได้กล่าวโทษว่าการขาดสภาพคล่องในขณะนี้ไม่ได้เกิดจากมาตรการช้อกตลาดของแบงก์ชาติแต่เพียงอย่างเดียว หากยังเกิดจากบรรดาแบงก์พาณิชย์เองอีกด้วย

นายตวานกล่าวว่าธนาคารพาณิชย์พากันปล่อยกู้อย่างไม่ยั้งมือ ขณะที่ธุรกิจต่างๆ ต้องการเงินสกุลท้องถิ่นมากขึ้น ขณะเดียวกันก็แข่งกันขึ้นดอกเบี้ยเพื่อแย่งชิงลูกค้าระดมเงินออมทรัพย์เพื่อนำออกปล่อยกู้ เอากำไรจากส่วนต่างของดอกเบี้ย

บางแห่งยังได้ปล่อยกู้ล้ำเส้น โดยนำเงินที่กันเอาไว้ค้ำประกันเงินกู้ออกปล่อยกู้ ซึ่งผิดต่อระเบียบของแบงก์ชาติอีกด้วย นายตวานกล่าว

เมื่อเงินออมเริ่มอิ่มตัวอย่างรวดเร็ว ธนาคารพาณิชย์แห่งต่างๆ ได้หันไปกู้ยืมระหว่างกัน ดันให้อัตราดอกเบี้ยอินเตอร์แบงก์สูงขึ้น และเมื่อไม่สามารถหยิบยืมกันได้อีก ก็ต้องหันกลับไปแข่งขันด้วยดอกเบี้ยเพื่อดูดเงินจากสาธารณชนอีกอย่างไม่สิ้นสุด

แบงก์แห่งรัฐเวียดนามจะเริ่มออกกวดขันและตรวจตราสภาพคล่องของธนาคารแห่งต่างๆ ตั้งแต่วันพฤหัสบดีเป็นต้นไป และหากพบว่าธนาคารพาณิชย์แห่งใดฝ่าฝืนกระทำผิดกฎระเบียบก็จะต้องถูกลงโทษ สำนักข่าวเวียดนามเน็ตกล่าว

เวียดนามซึ่งตั้งเป้าการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างทะเยอทะยาน 8.5%-9% ในปีนี้กำลังเผชิญหน้ากับวิกฤติเงินเฟ้ออย่างหนัก นายกรัฐมนตรีนายเหวียนเติ๋นยวุ๋ง (Nguyen Tan Dung) ได้ยื่นคำขาดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งทำการแก้ไข เนื่องจากประชาชนหลายล้านคนกินอยู่อย่างยากลำบาก

เงินเฟ้อยังคงพุ่งทะยานต่อเนื่อง เพราะราคาสินค้าจำเป็นหลายรายการพุ่งไม่หยุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าอาหารทะยานขึ้น 25.2% ค่าที่พักอาศัยและวัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้น 16.4% อันเนื่องมาจากธุรกิจก่อสร้างที่ขยายตัวสูง หนังสือพิมพ์เวียดนามนิวส์กล่าว

มูลค่าสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ ขยายตัวรวดเร็วอย่างเป็นประวัติการณ์ทั้งในช่วงก่อนและหลังเทศกาลวันตรุษต้นเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งได้ทำให้คนงานหลายหมื่นคนนัดหยุดงานเรียกร้องการขึ้นค่าจ้างและเงินโบนัส

นักเศรษฐศาสตร์กล่าวว่าเงินเฟ้อซึ่งขยายตัว 14.1% ในเดือน ม.ค.และ 15.6% ในเดือนนี้ได้เป็นปัจจัยท้าทายที่สำคัญสำหรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเวียดนาม ในขณะที่เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมียอดสูงถึง 14,000 ล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว

มาตรการทางการเงินของธนาคารกลาง ยังได้ทำให้เงินด่งแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ ส่งผลกระทบต่อการลงทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งภาคส่งออกที่เป็นแรงขับดันสำคัญการขยายตัวของผลผลิตมวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพี ที่เป็นดัชนีบ่งชี้การเติบโต

เมื่อวันพุธ (27 ก.พ.) เวียดนามได้ประกาศตัวเลขส่งออกและนำเข้าในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นการขาดดุลที่เพิ่มขึ้นกว่า 60% เทียบกับระยะเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว

เงินเฟ้อ เงินฝืดและการขาดดุลการค้าในอัตราสูง ล้วนเป็นปัจจัยลบในการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของประเทศ ในขณะที่เงินลงทุนจากต่างชาติปริมาณมหาศาลไหลเข้าเวียดนามในแต่ละปี เพิ่มอัตราเสี่ยงที่จะทำให้อัตราเฟ้อรุนแรงยิ่งขึ้น นักเศรษฐศาสตร์กล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น