xs
xsm
sm
md
lg

ข้าวพม่าผงาดชิงดำข้าวไทยในบังกลาเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



ผู้จัดการรายวัน—เชื่อกันว่าปี 2551 นี้ข้าวจากพม่ากำลังจะเป็นคู่แข่งสำคัญของข้าวไทยในตลาดบังกลาเทศ โดยทางการได้อนุญาตให้บริษัทเอกชนจำนวน 22 ราย ส่งออกข้าวรวมกันได้ 400,000 ตัน และทั้งหมดกำลังกว้านซื้อข้าวจากชาวนาและโรงสีในทั่วประเทศ

ขณะเดียวกันหน่วยงานรับผิดชอบกำลังเร่งสำรวจปริมาณข้าวทั้งหมด โดยเชื่อว่าข้าวเหลือใช้จากการบริโภคในประเทศและสามารถส่งออกได้จะมีสูงกว่านั้น

นักวิเคราะห์ในอุตสาหกรรมนี้เชื่อว่า พม่ากำลังจะส่งออกข้าวจำนวนมากไปยังตลาดใหญ่ที่อยู่ใกล้ที่สุดคือบังกลาเทศ ซึ่งประชาชนกว่า 100 ล้านคนกำลังต้องการข้าว หลังจากอินเดียที่เคยเป็นแหล่งนำเข้ารายใหญ่สต๊อกข้าวเพื่อใช้บริโภคในประเทศมากขึ้นในปีนี้

เมื่อต้นเดือนที่แล้ว อันเป็นช่วงที่กำลังมีการสำรวจปริมาณข้าวสำหรับส่งออกในพม่า ทางการบังกลาเทศประกาศว่า กำลังจะนำเข้าข้าว 100,000 ตัน จากประเทศไทย

ตามรายงานของนิตยสารข่าวรายสัปดาห์เมียนมาร์ไทมส์ (Myanmar Times) สภาการค้าแห่งพม่า ได้กำหนดปริมาณข้าวส่งออกในเบื้องต้นเมื่อเร็วๆ นี้ ทำให้ผู้ค้าแข่งกันออกซื้อข้าวจาก 3 เขตอู่ข้าวอู้น้ำของประเทศซึ่งได้แก่ สะกาย (Sagaing) พะโค (Bago) และ อิรวดี (Ayeyarwady)

รัฐบาลพม่าควบคุมการส่งออกข้าวกับการค้าค้าข้าวในประเทศอย่างรัดกุม เพื่อให้มีหลักประกันว่าราคาสำหรับผู้บริโภคจะไม่สูงจนเกินไปและประชากร 45 ล้านคนจะไม่ขาดแคลนข้าวบริโภคตลอดปี

ในพม่ายังมีอู่ข้าวอู่น้ำสำคัญอีกแห่งหนึ่งคือ เขตมัณฑะเลย์ (Mandalay) ในภาคเหนือ แต่ส่วนใหญ่จะสงวนเอาไว้สำหรับการบริโภคในพื้นที่กับในเขตที่อยู่ใกล้เคียงซึ่งผลิตข้าวได้น้อย

นักวิเคราะห์ในอุตสาหกรรมนี้เชื่อว่าพม่าผลิตข้าวได้มากขึ้นในทั่วประเทศ ในฤดูการผลิตที่ผ่านมา
ซึ่งไม่เกิดอุทกภัยและไม่มีรายงานว่าเกี่ยวกับแมลงศัตรูพืชรบกวนเช่นปีที่แล้ว

อย่างไรก็ตามสภาการค้าซึ่งเป็นหน่วยงานกึ่งทางการ ไม่อนุญาตให้ผู้ส่ออกกว้านซื้อข้าวในเขตย่างกุ้ง ซึ่งรวมถึงเขตรอบๆ เมืองหลวงเก่าที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นมากที่สุดในประเทศเพื่อให้แน่ใจว่าตลาดจะมีเสถียรภาพ เมียนมาร์ไทมส์อ้างคำกล่าวของเจ้าหน้าที่สภาการค้า

ผู้เชี่ยวชาญด้านข้าวคนหนึ่งในกรุงย่างกุ้งกล่าวว่า ขณะที่มีข้าวปริมาณมากมายเหลือสำหรับบริโภคในเขตเมืองที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ และข้าวฤดูใหม่กำลังจะออกมา เชื่อว่าในปีนี้จะเหลือข้าวส่งออกมากกว่า 400,000 ตันอย่างแน่นอน

บังกลาเทศถูกพายุเฮอริเคนสิทธ์ (Sidr) ทำลายล้างอย่างหนักในเดือน พ.ย.ปีที่แล้ว ซึ่งอาจจะทำให้นาข้าวเสียหายถึง 500,000 เฮกตาร์ (3.125 ล้านไร่) ซึ่งจะต้องนำเข้าอย่างน้อย 1 ล้านตันจึงจะพอกับความต้องการบริโภคในระยะสั้นๆ นี้

ทางการอินเดียประกาศในสิ้นเดือน ธ.ค. ตั้งราคาข้าวเอาไว้ตันละ 500 ดอลลาร์ เนื่องจากข้าวสาลีราคาแพงขึ้นชาวอินเดียกว่า 1,000 ล้านคนหันมาบริโภคข้าวมากขึ้น รัฐบาลเกรงว่าจะไม่เพียงพอสำหรับบริโภคในประเทศ

นายตาปัน ชาวดูรี (Tapan Chowdury) ที่ปรึกษาด้านอาหารของรัฐบาลบังกลาเทศ กล่าวระหว่างแถลงข่าวในกรุงทาก้า (Dhaka) เมื่อวันที่ 1 ม.ค.ระบุว่า มาตรการลดการส่งออกของอินเดีย ทำให้บังกลาเทศจะนำเข้าข้าวจากพม่า ไทยกับปากีสถาน

เจ้าหน้าที่ผู้นี้กล่าวด้วยว่า บังกลาเทศได้ตัดสินใจจะซื้อข้าว 100,000 ตันจากไทย และกำลังพิจารณานำเข้าอีกราว 75,000 ตันจากประเทศเพื่อนบ้านแห่งหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นปากีสถานหรือพม่า

ทางการพม่ามีนโยบายอย่างชัดเจนที่จะพลิกฟื้นการเกษตรในประเทศให้สามารถกลับไปเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อีกครั้งหนึ่ง เช่นเดียวกับเมื่อหลายทศวรรษก่อน ที่เคยเป็นผู้ส่งออกข้าวเบอร์หนึ่งของโลก

เมื่อปีที่แล้วสถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศหรือ IRRI (International Rice Research Institute) ได้ชี้แนะให้ทางการพม่าขยายพื้นที่ชลประทานออกไปอย่างกว้างขวาง ขณะเดียวกันก็แก้ปัญหาการขาดแคลนปุ๋ยโดยขายข้าวแบบแลกเปลี่ยนกับปุ๋ยจากต่างประเทศ

ผู้อำนวยการของ IRRI นายโรเบิร์ต ซีเกลอร์ (Robert Zeigler) กล่าวว่า หากแก้ไขข้อจำกัดเรื่องปุ๋ยได้จะทำให้สามารถผลิตข้าวได้มากขึ้นถึง 2 ตันต่อเฮกตาร์ (6.25 ไร่)

ตามข้อมูลของ IRRI ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ที่เมืองลอสบานญอส (Los Banos) ประเทศฟิลิปปินส์ ปัจจุบันในพม่ามีเนื้อที่นา 7.6 ล้านเฮกตาร์ (43 ล้านไร่) แต่ระบบชลประทานครอบคลุมพื้นที่เพียงประมาณ 25% เท่านั้น ทั้งๆ ที่ในประเทศนี้มีน้ำธรรมชาติมากมายจนล้นเหลือ

ผู้เชี่ยวชาญของ IRRI ยังให้คำมั่นจะช่วยทางการพม่าพัฒนาสายพันธุ์ข้าว เพื่อให้ชาวนามีเมล็ดพันธุ์อย่างเพียงพอและมีข้าวคุณภาพดีเพื่อบริโภคและเพื่อส่งออกอีกด้วย.
กำลังโหลดความคิดเห็น