xs
xsm
sm
md
lg

วันตรุษเวียดนามเศร้าเงินเฟ้อ ม.ค.พุ่ง 14%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



ผู้จัดการรายวัน-- เงินเฟ้อในเวียดนามพุ่งสูงถึง 14.1% ในเดือน ม.ค.นี้ เทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้วทำให้ชาวเวียดนาม 85 ล้านคนโดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้ต่ำหาเช้ากินค่ำ กำลังเดือดร้อนไปทั่ว ขณะที่ทั้งประเทศกำลังจะฉลองเทศกาลขึ้นปีใหม่ประเพณี


ตามรายงานของสำนักงานใหญ่สถิติ (General Statistics Office) ดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index) ซึ่งใช้ชี้วัดอัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้น 2.4% จากเดือน ธ.ค.2550 โดยมีค่าวัสดุก่อสร้างกับค่าอาหารเป็นตัวผลักดันสำคัญ

หากคำนวณเปรียบเทียบปีต่อปี ราคาอาหารเพิ่มขึ้นถึง 22% ในเดือน ม.ค.นี้ ขณะที่ค่าก่อสร้างและราคาบ้านเพิ่ม 16.9% แต่ยังมีข้อดีที่ค่าโทรคมนาคมขนส่งลดลง 0.03% ทั้งนี้เป็นรายงานของหนังสือพิมพ์เหงือยลาวด่ง (Nguoi Lao Dong) หรือ "คนงาน"

แต่อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงไม่หยุด กำลังทำให้ชาวเวียดนามนับล้านๆ คนเดือดร้อนอย่างหนัก ขณะที่ทุกคนกำลังจับจ่ายซื้อข้าวของเตรียมฉลองเทศกาลตรุษ (Tet)

ในเดือน ธ.ค.2550 สำนักงานใหญ่สถิติประกาศว่า อัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นเป็น 12.6% ทำให้อัตราเฟ้อทั้งปีเฉลี่ยเป็นกว่า 16% สูงที่สุดในรอบ 10 ปี และสูงกว่าอัตราเฉลี่ยทั่วไปของเศรษฐกิจต่างๆ ทั่วภูมิภาคเอเชีย

"ราคาสินค้าพุ่งขึ้นตลอดเวลา แต่ค่าจ้างขึ้นเพียงปีละครั้ง" นางฮา (Ha) ชาวนครโฮจิมินห์วัย 32 ปีกล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์

สตรีผู้นี้มีรายได้ไม่ถึง 200 ดอลลาร์ต่อเดือน แต่ซี่โครงหมูในซูเปอร์มาร์เก็ตติดราคาขายกิโลกรัมละ 70,000 ด่ง (ประมาณ 125 บาท) สูงขึ้น 40% จาก กก.ละ 50,000 ด่ง (ประมาณ 89 บาท) เมื่อ 3 เดือนก่อน

สื่อของทางการรายงานก่อนหน้านี้ว่าในช่วงเดือนแรกของปี 2551 คนงานนับแสนๆ ตามโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าของนักลงทุนจากเกาหลีและไต้หวัน พากันหยุดงานกว่า 30 ครั้ง เรียกร้องให้ขึ้นค่าแรง และจ่ายเงินโบนัสสิ้นปี

การขึ้นค่าแรงของรัฐบาลเมื่อต้นปีนี้แทบจะไม่ได้ช่วยอะไรสำหรับคนงานที่มีรายได้ต่ำเหล่านี้

นักลงทุนจำนวนมากได้หันไปลงทุนด้วยการกว้านซื้อทองคำแท่ง ทองสำเร็จรูป ตลอดจนซื้อเฟอร์นิเจอร์ สิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นต่างๆ เข้าเก็บ ก่อนที่ราคาจะพุ่งขึ้นสูงกว่านี้

นายโจนาธาน พินคุส (Jonathan Pincus) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสแห่งโครงการพัฒนาสหประชาชาติ หรือ UNDP (United Nation Development Program) กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญก็คือ รัฐบาลจะต้องทำให้ประชาชนมีความแน่ใจว่าพวกเขาได้รับประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งสูงกว่า 8.4% เมื่อปีที่แล้ว

เวียดนามตั้งเป้าหมายให้เศรษฐกิจขยายตัวระหว่าง 8.5-9% ในปีนี้

นักเศรษฐศาสตร์อีกหลายคนรวมทั้งเจ้าหน้าที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศเห็นพ้องกันว่าธนาคารแห่งรัฐเวียดนามหรือ SBV ควรจะหาทางลดการปล่อยกู้ในระบบลง หลังจากยอดปล่อยกู้ของสภาบันการเงินต่างๆ ขยายตัว 37% เมื่อปีที่แล้ว ธนาคารแห่งรัฐยังไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ย

นักเศรษฐศาสตร์ค่ายรัฐบาลกล่าวว่า เงินดอลลาร์ที่ชาวเวียดนามโพ้นทะเลส่งกลับประเทศซึ่งสูงประมาณ 6,000 ล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว กับเงินลงทุนจากต่างประเทศที่นำออกลงทุนจริงอีกราว 4,000 ล้านดอลลาร์ เป็นตัวการสำคัญฉุดอัตราเงินเฟ้อให้พุ่งสูง

เจ้าหน้าที่ SBV กล่าวว่า SBV นำเงินด่งออกกว้านซื้อเงินดอลลาร์ออกจากระบบ เพื่อรักษาเสถียรภาพของเงินสกุลท้องถิ่น นักเศรษฐศาสตร์ค่ายอื่นๆ เห็นด้วยกับมาตรการนี้ แต่ก็กล่าวว่า SBV ล้มเหลวในการดึงเงินด่งกลับออกจากการหมุนเวียนในตลาด อันเป็นสาเหตุสุดท้ายที่ฉุดเงินเฟ้อให้พุ่งสูง

เงินเฟ้อรุนแรงทำให้เวียดนามต้องเปลี่ยนตัวผู้ว่าการธนาคารแห่งรัฐเมื่อปีที่แล้ว

"เราจำเป็นต้องมีนโยบายที่ดีในการนำเงินด่งออกจากการหมุนเวียนในตลาด" นายเจิ่นสือหลิก (Tran Du Lich) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสแห่งสถาบันวิจัยเศรษฐกิจนครโฮจิมินห์กล่าว

นายหลิกซึ่งเป็นสมาชิกรัฐสภาเวียดนาม (National Assembly) ด้วยกล่าวอีกว่า รัฐบาลต่างทราบดีถึงสาเหตุและวิธีแก้ไขเงินเฟ้อ ซึ่งจำเป็นจะต้องใช้หลายมาตรการคละเคล้ากัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการทางการเงินที่เหมาะสม

วันที่ 16 ม.ค.ที่ผ่านมา SBCV ได้สั่งให้ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งเพิ่มการเก็บเงินสำรองสกุลด่งจาก 10 ขึ้นเป็น 11%

เวียดนามยังใช้นโยบายรักษาค่าเงินท้องถิ่นให้แข็งค่า ปีที่แล้วรัฐบาลได้อนุมัติให้เงินด่งปรับตัวแข็งค่าขึ้นอีกเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนักวิเคราะห์เศรษฐกิจธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้คาดว่าปี 2550 เงินด่งได้แข็งค่าขึ้นราว 1% และ เชื่อว่าปีนี้จะแข็งขึ้นประมาณ 2%

นายประกฤติ โซฟัต (Prakriti Sofat) นักวิเคราะห์ของ HSBC กล่าวอีกว่า เงินด่งที่แข็งค่าขึ้นทุก 1% จะช่วยลดผ่อนอัตราเงินเฟ้อลงได้ 1-10.5% ในรอบ 12 เดือน ซึ่งในทางทฤษฎีจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนลงได้บ้าง

คนงานจำนวนมากตามโรงงานต่างๆ ในสวนอุตสาหกรรมประมาณ 14 แห่งรอบๆ นครโฮจิมินห์กับใน จ.ด่งนาย (Dong Nai) มีรายได้เพียงเดือนละ 1.5 ล้านด่ง (ประมาณ 2,700 บาท) เท่านั้น รอยเตอร์กล่าว

นางกว่างหมียวุ๋ง (Quang My Dung) เป็นเจ้าของแผงอาหารริมทางเท้าในย่านหนึ่งของนครโฮจิมินห์ที่มีคนงานเช่าห้องพักจำนวนมาก ทั้งหมดทำงานในโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า โรงงานทำรองเท้าหรือ เป็นกรรมกรที่ท่าเรือไซ่ง่อน

นางยวุ๋งกล่าวว่าปีที่แล้วเธอขายข้าวจานละ 8,000 ด่ง (ประมาณ 14 บาท) แต่เดือนนี้ต้องขึ้นราคาเป็นจานละ 13,000 ด่ง (ราว 23 บาท)

โดยทั่วไปแล้วนางยวุ๋งจะมีรายได้เฉลี่ยวันละประมาณ 160,000 ด่ง (ราว 285 บาท) เพราะต้นทุนพวกข้าวสารและอาหารสดต่างๆ ได้พุ่งขึ้นสูงลิ่ว เช่นราคาข้าวสารเมื่อปีที่แล้ว 5,000 ด่ง (ราว 9 บาท) ต่อ กก. แต่เดือน ม.ค.ปีนี้ได้เพิ่มขึ้นเป็น 7,000 ด่ง (ราว 12 บาท)

"คนทั่วไปพยายามเก็บออมรอมริบกัน แต่แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่จ่ายมากขึ้น" แม่ค้าข้าวริมทางเท้าคนนี้กล่าวกับรอยเตอร์.
กำลังโหลดความคิดเห็น