การแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก ในปี 2550 ที่ผ่านมา ทำให้กัมพูชาได้รับความเสียหายอย่างใหญ่หลวงที่สุดในรอบเกือบ 10 ปี โดยมีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 407 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กๆ
โรคอันเกิดจากไวรัสนี้ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง ปวดข้อต่อและกล้ามเนื้ออย่างทรมาน นับตั้งแต่การแพร่ระบาดเริ่มขึ้นในเดือน พ.ค.มีผู้ติดเชื้อเกือบ 40,000 ราย ทั้งนี้เป็นการเปิดเผยของ นายงาน จันทา (Ngan Chantha) หัวหน้าโครงการต่อต้านไข้เลือดออก กระทรวงสาธารณสุข
“เป็นจำนวนผู้ติดเชื้อที่สูงที่สุดตั้งแต่เคยเกิดขึ้นในกัมพูชา” นายจันทา กล่าว พร้อมเปิดเผยตัวเลขอีกว่าการแพร่ระบาดเมื่อปี 2541 มีผู้ป่วย 16,000 ราย และเสียชีวิต 424 คน
หลายหน่วยงานและองค์การระหว่างประเทศ รวมทั้งกระทรวงสาธารณสุขของไทยได้ให้ความร่วมมือช่วยเหลือแก่ทางการกัมพูชาในการป้องกันโรคและรักษาผู้ป่วย ขณะที่พ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กๆ หลายพันคนได้ไปขอใช้บริการรักษาพยาบาลฟรีจากโรงพยาบาลที่รัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ให้ทุนอุดหนุน
อย่างไรก็ตาม แพทย์ในกัมพูชา กล่าวว่า เมื่อรวมทุกสารทุกอย่างเข้าด้วยกันแล้ว ก็ยังไม่พอที่จะให้บริการผู้ป่วยได้ทุกราย
ธนาคารโลก องค์การอนามัยโลก คณะกรรมการกาชาดสากล ได้ให้การช่วยเหลือเป็นสารสำหรับฆ่ายุงลายอันเป็นพาหะนำโรค ธนาคารพัฒนาเอเชียช่วยเป็นเงิน 300,000 ดอลลาร์ให้แก่โครงการต่อต้านไข้เลือดออก
ในต้นเดือน มิ.ย.ขณะที่การแพร่ระบาดขึ้นสู่จุดสูงสุด กระทรวงสาธารณสุขของไทย ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ และสถานทูตไทยในกรุงพนมเปญ ได้ร่วมกันนำความช่วยเหลือเร่งด่วนให้แก่ทางการกัมพูชา
ความช่วยเหลือจากไทย รวมทั้งทรายอะเบตน้ำหนักราว 20 ตัน เครื่องฉีดพ่นยากำจัดยุงรายที่ทันสมัย น้ำเกลือและตัวยาสำหรับรักษาผู้ป่วยในรายที่มีอาการเฉียบพลันราว 2,000 ชุด ตลอดจนเสนอฝึกฝนบุคลากรด้านนี้ให้แก่กัมพูชา
นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รมว.สาธารณสุข ได้นำคณะเดินทางไปมอบอุปกรณ์และความช่วยเหลือต่างๆ แก่กระทรวงสาธารณสุขในกรุงพนมเปญ