“ความหลากหลายทางชีวภาพ” อีกประเด็นร้อนของธุรกิจยุคโลกเดือดที่นานาชาติเร่งขับเคลื่อน เมื่อเร็ว ๆนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ร่วมกันขับเคลื่อนเป็นครั้งแรกให้กับบริษัทจดทะเบียน (บจ.)
“ความหลากหลายทางชีวภาพ” (Biodiversity) เสมือน "บริการจากระบบนิเวศ" ให้ประชาคมได้เช็กแนวทางการประเมินและการเปิดเผยข้อมูล ด้านความหลากหลายทางชีวภาพของภาคธุรกิจ
ปัจจุบันภาคธุรกิจระดับโลกหลายภาคส่วนต่างเห็นพ้องกันว่าปัญหาเรื่องการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Loss) กับภาวะโลกรวน (Climate Change) เป็นภาวะวิกฤตของโลกที่ควบคู่กัน สังเกตได้จากการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP) ซึ่งโดยปกติจะเป็นการประชุมที่เน้นในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ในการประชุม COP 27 เมื่อปี 2565 ได้มีการเน้นย้ำความสำคัญของการปกป้องและอนุรักษ์ธรรมชาติและระบบนิเวศ
ยิ่งกว่านั้น ในการประชุม COP 28 เมื่อปี 2566 มีการประชุมเจรจาเกี่ยวกับเครื่องมือทางการเงินสำหรับธรรมชาติ (Finance for Nature) และการเรียกร้องให้ภาคเอกชนลงทุนในแนวทางการแก้ปัญหาที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (Nature-based Solution หรือ NbS) มากขึ้นด้วย
เราจึงได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของทัศนคติต่อธรรมชาติขององค์กรต่าง ๆ และผู้มีส่วนได้เสียอื่น ๆ รวมถึงโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เพิ่มขึ้น ยกตัวอย่างเช่น กรณีที่ผู้ลงทุนสถาบันระดับโลกหลายแห่งซึ่งบริหารจัดการสินทรัพย์ต่าง ๆ กว่า 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ได้เข้าร่วม Nature Action 100 (NA100) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะสร้างการสนับสนุนจากภาคเอกชนในการจัดการกับปัญหาเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพที่ลดลง
ความหลากหลายทางชีวภาพได้รับความสนใจและถูกยกระดับให้มีความสำคัญมากขึ้น โดยถูกรวมไว้ในเป้าหมายที่ 14 (SDG 14 Life Below Water) และเป้าหมายที่ 15 (SDG 15 Life on Land) ของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UN SDGs)
นอกจากนี้ ในกรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออล ว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลก (Kunming-Montreal Global Biodiversity Framework) ก็ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับบทบาทของ “ตลาดเครดิตด้านความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Markets)” และ “การให้เงินทุนด้านธรรมชาติ (Nature Finance)” เพื่อระงับยับยั้งการเสื่อมถอยของระบบนิเวศ ป้องกันและฟื้นฟูธรรมชาติ และเกื้อหนุนการแก้ปัญหาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ก.ล.ต.-สผ.- UNDP ร่วมสร้างความตระหนักรู้
แหล่งทุนและธุรกิจอาจกำลังรักษาหรือทำลายสิ่งแวดล้อม อยู่ที่เราลงทุนและทำธุรกิจอย่างยึดโยงกับธรรมชาติอย่างไร? การจัดสัมมนา “เสริมสร้างความตระหนักและความรู้เกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพ” (เมื่อ 13 ส.ค.ที่ผ่านมา) ก้าวแรกของทั้ง 3 หน่วยงานที่ร่วมกันส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนตระหนักถึงความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ และสนับสนุนให้ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทมีความมุ่งมั่นในเชิงนโยบาย สามารถนำไปต่อยอดและประยุกต์ใช้ตลอดห่วงโซ่คุณค่า (value chain) ได้อย่างเหมาะสม ในครั้งนี้มีตัวแทนกว่า 100 คนจากบริษัทจดทะเบียนเข้าร่วมทำความเข้าใจและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การลงทุนที่ช่วยรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ การทำธุรกิจที่เข้าใจและยึดโยงกับธรรมชาติตลอดกระบวนการ จนถึงการรายงานผลกลับมาที่ก.ล.ต.
นางพรอนงค์ บุศราตระกูล เลขาธิการ ก.ล.ต. ยืนยันความมุ่งมั่นของคณะกรรมการ ก.ล.ต. ในการส่งเสริมปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล และการบูรณาการ SDGs เข้ากับการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนไทย
"ความหลากหลายทางชีวภาพเป็นประเด็นสำคัญใน SDGs และโลกกำลังสำรวจมาตรการเพื่อปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งอาจนำไปสู่กฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้น การทำความเข้าใจและบูรณาการความหลากหลายทางชีวภาพเข้ากับแนวทางปฏิบัติทางธุรกิจที่ยั่งยืนจะช่วยลดความเสี่ยง สร้างโอกาสทางการตลาดใหม่ๆ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ”
“ความร่วมมือครั้งนี้ต้องการให้ภาคธุรกิจตระหนักรู้ มีความพยายามร่วมกันในการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและผลกระทบต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศไทย เนื่องจากความสนใจทั่วโลกเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพเพิ่มมากขึ้น ธุรกิจไทยจำเป็นต้องได้รับการกระตุ้นให้เตรียมพร้อมสำหรับกฎระเบียบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตและข้อกำหนดในการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบด้านความหลากหลายทางชีวภาพ” เลขาธิการ ก.ล.ต.กล่าว
ด้านนางอิริน่า กอร์ยูโนวา รองผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประเทศไทย (UNDP) ย้ำถึงผลกระทบที่เพิ่มขึ้นของวิกฤตสภาพภูมิอากาศต่อการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพทั่วโลก
“ผลกระทบของวิกฤตการณ์เหล่านี้มีมากกว่าปัญหาสิ่งแวดล้อม และส่งผลกระทบต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเกือบทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านสุขภาพ ความมั่นคงทางอาหาร และการเข้าถึงน้ำ”
เธอกล่าวอีกว่าความจำเป็นในการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนมากขึ้น โดยสังเกตว่า "การมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในวาระนี้ยังคงมีจำกัด ซึ่งสะท้อนถึงความจำเป็นในการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพสำหรับภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะธุรกิจ"
นายประเสริฐ สิรินภาพร เลขาธิการ สผ. กล่าวถึงความสำคัญของนโยบายและกฎหมายระดับชาติในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ว่า
"นโยบายและกฎหมายระดับชาติเป็นเครื่องมือของประเทศที่มุ่งเน้นไปที่การอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ยังเสนอโอกาสในการร่วมมือและความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายระดับโลกและระดับประเทศโดยสอดคล้องกับความหลากหลายทางชีวภาพระดับโลก คุนหมิง-มอนทรีออล โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับการลดช่องว่างด้านการเงินเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งส่งเสริมบทบาทของภาคธุรกิจในการดำเนินงานด้วยความตระหนักและรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ”
แนวทางประเมินธุรกิจและเปิดเผยข้อมูล ความหลากหลายทางชีวภาพ
นอกจากการดำเนินธุรกิจให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อการรักษาและคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพแล้ว การเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องก็เป็นอีกด้านหนึ่งที่ บจ.ต้องให้ความสำคัญ
ปัจจุบันแนวทางเรื่อง “การจัดทำรายงานเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพ” ในต่างประเทศเริ่มมีปรากฏให้เห็นแล้ว เช่น แนวทางหรือคำแนะนำของ Taskforce on Nature-related Financial Disclosures (TNFD) หรือก็คือกรอบการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ
คาดว่าในอนาคตอันใกล้ ภาคเอกชนไทยน่าจะต้องมีหน้าที่ในการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพมากขึ้น เนื่องจากหากเทียบเคียงกับกรอบการเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศที่จัดทำโดย Taskforce on Climate-related Financial Disclosures (TCFD) ที่ต่อมา International Sustainability Standards Board (ISSB) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้ International Financial Reporting Standards Foundation ได้นำหลักการของ TCFD มาปรับใช้ในการกำหนดมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวกับความยั่งยืนขององค์กร ได้แก่ IFRS S1 และ IFRS S2 ก็เชื่อว่าหลักการของ TNFD จะถูกนำมากำหนดเป็นมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวกับความยั่งยืนขององค์กรเช่นเดียวกัน
ตามคำแนะนำและแนวทางของ TNFD นั้น องค์กรจะต้องระบุ ประเมิน วัดผล และเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการพึ่งพิง ผลกระทบ ความเสี่ยง และโอกาสที่เกี่ยวข้องกับองคาพยพหลักของธรรมชาติ ได้แก่ ผืนดิน มหาสมุทร แหล่งน้ำดี และชั้นบรรยากาศ โดยคำแนะนำของ TNFD นั้นยึดโยงอยู่กับหลักการสี่ประการ คือ ธรรมาภิบาล (Governance) กลยุทธ์ (Strategy) การประเมินความเสี่ยงและโอกาส (Risk and Impact Assessment) และตัวชี้วัดและเป้าหมาย (Metrics and Targets) ซึ่งสอดคล้องกันกับหลักการของ TCFD และ ISSB
ทั้งนี้ อียู มุ่งเป็นผู้นำด้านการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและด้านการสร้างห่วงโซ่อาหารที่ยั่งยืนบนเวทีโลก หนึ่งในเสาหลักของนโยบาย European Green Deal ควบคู่กับยุทธศาสตร์ “Farm to Fork Strategy” เพื่อบูรณการเกษตรกร ธรรมชาติ ภาคธุรกิจ และผู้บริโภคให้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียวและพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน