xs
xsm
sm
md
lg

TBCSD ร่วมกับ TEI และ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ จัดงาน TBCSD : Business for Biodiversity การสร้างเครือข่ายภาคธุรกิจเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) ร่วมกับ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) และ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) ได้จัดงาน TBCSD : Business for Biodiversity การสร้างเครือข่ายภาคธุรกิจเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน ณ โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการ และคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนให้กับองค์กรภาคธุรกิจไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญของการดำเนินงานที่ส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึง บทบาทขององค์กรภาคธุรกิจไทยในการร่วมขับเคลื่อนประเด็นธุรกิจเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ (Business for Biodiversity)

โดยภายในงานได้รับเกียรติจาก ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) และเลขาธิการองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) เป็นประธานกล่าวเปิดงาน กล่าวว่า “ปัจจุบันองค์กรภาคธุรกิจได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนา อย่างยั่งยืนในมิติต่าง ๆ และสนับสนุนภาครัฐในการขับเคลื่อนนโยบายด้านต่าง ๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ได้แก่ วาระแห่งชาติ BCG Economy Model และการมุ่งไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนหรือ Carbon Neutrality และ Net Zero GHG Emission ในอนาคต ซึ่งหลายโครงการได้เกิดผลการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมและสามารถผลักดันจนเกิดการขับเคลื่อนตอบสนองนโยบายของประเทศให้ก้าวไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำและการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้ง การมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญของประเทศ ได้แก่ PM 2.5 ขยะพลาสติก ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นต้น โดยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เป็นประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก ซึ่งปัจจุบันทั่วโลกกำลังได้รับผลกระทบหลากหลายรูปแบบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยประเด็นปัญหาสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นตามมา คือ วิกฤตการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Loss) นับเป็น 1 ใน 3 วิกฤตฉุกเฉินด้านสิ่งแวดล้อมของโลกควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและปัญหามลภาวะ ซึ่ง “ความหลากหลายทางชีวภาพ” (Biodiversity) นับว่าเป็น “ต้นทุนทางเศรษฐกิจ” ที่มีความสำคัญอย่างมากและต้องได้รับการดูแล ฟื้นฟู อนุรักษ์และ ใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน แต่เมื่อเราทราบว่าในอนาคตจะเกิดวิกฤตการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพขึ้นนั้น องค์กรภาคธุรกิจไทยควรที่จะต้องเริ่มนำแนวคิดเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพเข้าไปผนวกอยู่ในแผนการดำเนินธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรมอันเป็นกุญแจสำคัญสู่ระบบนิเวศที่ยั่งยืน เพื่อเป็นการสร้างโอกาสในการแข่งขันในอนาคต ทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการรูปแบบใหม่ ๆ รวมถึง การเข้าถึงกลไกการเงินเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ อีกด้วย”

และช่วงการบรรยายพิเศษ เรื่อง “ความหลากหลายทางชีวภาพกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน” ได้รับเกียรติจาก คุณสุวีร์ งานดี รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) มาร่วมนำเสนอข้อมูลสาระสำคัญของบทบาทขององค์กรภาคธุรกิจไทยในการร่วมขับเคลื่อนประเด็นธุรกิจเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ กล่าวว่า “ความหลากหลายทางชีวภาพเป็นปัจจัยสำคัญ นอกจากจะเป็นองค์ประกอบพื้นฐานในการดำรงชีวิตของมนุษย์แล้วนั้น ยังช่วยในเรื่องของการพักผ่อนหย่อนใจ การควบคุมสภาพภูมิอากาศ อีกทั้งยังเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ ปัจจุบัน ผลกระทบจากการดำเนินกิจกรรมของมนุษย์ถือเป็นสาเหตุหลักของการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ทั่วโลกจึงมีความมุ่งมั่น ที่จะขับเคลื่อนการดำเนินงานตาม Kunming-Montreal Global Biodiversity Framework และมุ่งมั่นที่จะลดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ โดยตั้งเป้าหมายให้เป็น Net Positive ภายในปี 2030 และตั้งเป้าหมายที่จะ Full Recovery ภายในปี 2050 ซึ่งแนวทางที่จะก่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อ ความหลากหลายทางชีวภาพ และนำไปสู่ Nature Positive ตามเป้าหมายที่กำหนด ได้แก่ 1. Assess 2. Commit 3. Transform และ 4. Disclose หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า ACT-D”

พร้อมทั้ง ช่วงเสวนา หัวข้อ “กลไกการเงินเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ (Finance for Biodiversity) ในประเทศไทย” ได้มีผู้แทนจากหน่วยงานระหว่างประเทศมาร่วมให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการสร้างเครือข่ายภาคธุรกิจเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน

คุณนิรันดร์ นิรันดร์นุต ผู้จัดการโครงการ BIOFIN, UNDP ประเทศไทย กล่าวว่า “BIOFIN ดำเนินงานตาม “แผนการเงินเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ” แก้ไขปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรและเงินทุนเพื่อให้ประเทศไทยบรรลุตาม National Biodiversity Strategic and Action Plan (NBSAP) ซึ่งพบว่า กว่า 60 หน่วยงานในไทยที่มีภารกิจในการดูแลความหลากหลายทางชีวภาพประสบปัญหาขาดงบประมาณ ที่ต่อเนื่อง เกิด Finance gap คิดเป็น 35,000 ล้านบาท ผลลัพธ์ทางการเงินของ BIOFIN จะช่วยให้ไทยสามารถสร้างรายได้จากการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพอย่างถูกต้อง วางกรอบงบประมาณอย่างเหมาะสม หลีกเลี่ยงค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ฟื้นฟูในอนาคต และทำให้เกิดการลงทุนที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล”

คุณพรฤทัย โชติวิจิตร Biodiversity and Business Engagement officer, IUCN ประเทศไทย กล่าวว่า “เครื่องมือการวิเคราะห์การดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพ แบ่งได้เป็นหลายประเภทและหลายเครื่องมือซึ่งอาจสร้างความสับสนให้แก่บริษัทเอกชน ในฐานะผู้ใช้งาน ดังนั้น ผู้ใช้ต้องทำความเข้าใจเป็นพื้นฐานก่อนว่า เครื่องมือต่าง ๆ มีไว้เพื่อจัดการผลกระทบและความเสี่ยงจากสินค้าและบริการของบริษัทที่มีต่อความหลากหลายทางชีวภาพและบริการระบบนิเวศตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของการดำเนินธุรกิจ ซึ่งแต่ละธุรกิจต้องเลือกเครื่องมือที่เหมาะสมกับกิจการของตน ในการลงมือวิเคราะห์ บริษัทเอกชนพึงพิจารณาลักษณะและกิจกรรมทางธุรกิจ เพื่อเลือกใช้เครื่องมือ และจัดการความเสี่ยงหรือผลกระทบอย่างเป็นลำดับขั้น ได้แก่ การหลีกเลี่ยง (Avoid) ผลกระทบเป็นอันดับแรก แล้วจึงพิจารณา การลด (Minimize) เมื่อไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ไปจนถึง การฟื้นฟู (Restoration & Rehabilitation)

เมื่อได้ใช้ทรัพยากรนั้นไปแล้ว และ การชดเชย (Offset) ผลกระทบเชิงลบคงเหลือจากการที่ได้ใช้เครื่องมือในการจัดการแล้ว ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเลือกใช้เครื่องมือไหน สำคัญว่าจะต้องเป็นเครื่องมือที่นำไปสู่การลงมือทำโดยมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับ มีข้อมูลฐาน พิสูจน์ได้ ประเมินผลได้ต่อเนื่อง”
และได้มีการจัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ Workshop ให้กับกลุ่มองค์กรสมาชิก TBCSD โดยได้รับความร่วมมือจากสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) เพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุจากการดำเนินงานของบริษัทที่ทำให้เกิดภัยคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนให้กับองค์กรภาคธุรกิจไทย

ท้ายนี้ องค์กรภาคธุรกิจไทยควรที่จะต้องเริ่มนำแนวคิดเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพเข้าไปผนวกอยู่ในแผนการดำเนินธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรมอันเป็นกุญแจสำคัญสู่ระบบนิเวศที่ยั่งยืน












กำลังโหลดความคิดเห็น