xs
xsm
sm
md
lg

ก.ล.ต. เผยร่างเกณฑ์ “Thailand Taxonomy” คืบหน้าระยะ 2 ส่วนร่างระดับอาเซียน (ATB) ล่าสุดเวอร์ชัน 3

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ก.ล.ต. เข้าร่วมเป็นสมาชิกของ ASEAN Taxonomy Board (ATB) เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2567ในการมีส่วนร่วมจัดทำมาตรฐานและเกณฑ์การจัดหมวดหมู่ด้านการเงินเพื่อความยั่งยืนอาเซียน (ASEAN Taxonomy) ที่สอดคล้องและเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งภูมิภาค ซึ่งจะตอบโจทย์ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ


นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ ก.ล.ต. เปิดเผยว่า “ก.ล.ต. ให้ความสำคัญการส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคเอกชนตระหนักและมีส่วนร่วมในด้านความยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งช่วยให้บรรลุเป้าหมายของประเทศในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและให้เหลือเป็นศูนย์ในที่สุด ในการนี้ ก.ล.ต. มีความยินดีที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมในฐานะสมาชิกของ ASEAN Taxonomy Board และเชื่อว่าด้วยประสบการณ์ที่เป็นหน่วยงานหนึ่งในการร่วมพัฒนา Thailand Taxonomy ก.ล.ต. หวังอย่างยิ่งว่า จะมีส่วนร่วมและสนับสนุนอย่างเต็มที่ในการกำหนดแนวทางและขับเคลื่อน ASEAN Taxonomy ที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และสอดรับกับบริบททางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศสมาชิกในภูมิภาคอาเซียน นอกจากนี้ ยังเชื่อว่า Taxonomy จะมีส่วนช่วยในการบรรลุแผนงานอื่นด้าน Sustainable Capital Market เพื่อผลักดันให้ตลาดทุนไทยเป็นกลไกสำคัญในการนำพาให้ประเทศไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน”

ATB มีบทบาทในการจัดทำมาตรฐานและเกณฑ์การจัดหมวดหมู่ด้านการเงินเพื่อความยั่งยืนอาเซียน (ASEAN Taxonomy) ที่สอดคล้องและเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งภูมิภาค โดยประเทศสมาชิกในภูมิภาคอาเซียนสามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการส่งเสริมการจัดสรรเงินทุนระหว่างประเทศ การบริหารจัดการความเสี่ยงและการลงทุนของภาคเอกชน รวมถึงการกำหนดนโยบายและมาตรการสนับสนุนของภาครัฐ เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ในการแบ่งกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ASEAN Taxonomy ใช้ระบบ Traffic Light System คล้ายระบบสัญญาณไฟจราจร เหมือนกับ Thailand Taxonomy โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ กลุ่มสีเขียว กิจกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) เป็นศูนย์หรือใกล้เคียงศูนย์แล้ว กลุ่มสีเหลือง กิจกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับสูงแต่จะลดการปล่อยลงเรื่อย ๆ ตามเกณฑ์กำหนดไว้ใน Taxonomy และกลุ่มสีแดง กิจกรรมที่ไม่เข้าข่ายตามกลุ่มเขียวและกลุ่มเหลือง


ก่อนหน้านี้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้รับเชิญให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของ ASEAN Taxonomy Board (ATB) และเข้าร่วมการประชุมในฐานะสมาชิกตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2567 ทั้งนี้ ATB จัดตั้งขึ้นโดยได้รับการรับรองในการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน (ASEAN Finance Ministers’ and Central Bank Governors’ Meeting: AFMGM) ครั้งที่ 7 เมื่อเดือนมีนาคม 2564 ซึ่ง ก.ล.ต. มีส่วนร่วมในการจัดทำ ASEAN Taxonomy ในฐานะสมาชิกคณะทำงานที่จัดตั้งขึ้นภายใต้ ATB ตั้งแต่การจัดทำ ASEAN Taxonomy เวอร์ชัน 1 ที่เผยแพร่ในปี 2564 จนถึงล่าสุดเวอร์ชัน 3 เผยแพร่ในเดือนเมษายน 2567*

หมายเหตุ


* ASEAN Taxonomy version 3 เผยแพร่ในเดือนเมษายน 2567 ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมทำ Public Consultation โดยมีเนื้อหาครอบคลุมรายละเอียดการประเมินและการจัดกลุ่มกิจกรรมของภาคธุรกิจอีก 2 กลุ่ม คือ กลุ่มการขนส่ง และกลุ่มก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์
https://asean.org/asean-taxonomy-board-releases-asean-taxonomy-for-sustainable-finance-version-3-for-transportation-and-construction-sectors/

** อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ แถลงข่าวร่วม “การประชุมคณะทำงานขับเคลื่อนการกำหนดนิยามและจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Thailand Taxonomy) ระยะที่ 2 ครั้งที่ 1/2567” เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567
https://www.sec.or.th/TH/Pages/News_Detail.aspx?SECID=10563


คืบหน้า “Thailand Taxonomy ระยะที่ 2”

เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยอยู่ระหว่างการจัดทำ “Thailand Taxonomy ระยะที่ 2” โดยคณะทำงานขับเคลื่อนการกำหนดนิยามและจัดหมวดหมู่โครงการหรือกิจกรรมในภาคเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ภายใต้ความร่วมมือระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนรวม 26 หน่วยงาน**

ทั้งนี้ Taxonomy เป็นเครื่องมือหนึ่งที่สามารถนำมาใช้ประกอบในกิจกรรมการจัดหาเงินทุนของกิจการได้ เนื่องจาก
มีการกำหนดเกณฑ์ในการประเมินความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของกิจกรรม (สีเขียว เหลือง แดง) เอาไว้อย่างชัดเจน
ซึ่งช่วยให้เกิดความโปร่งใส และเสริมสร้างความน่าเชื่อถือของกิจกรรมดังกล่าวได้ อีกทั้งมีส่วนช่วยให้ ก.ล.ต. บรรลุแผนงานด้าน Sustainable Capital Market ของ ก.ล.ต. เพื่อผลักดันให้ตลาดทุนเป็นกลไกสำคัญในการนำพาให้ประเทศไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เช่น

1) การระดมทุนเพื่อการเปลี่ยนผ่านของกิจการที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ยาก ให้สามารถทยอยลดการปล่อยก๊าซเรือนระจกลงจนเป็นศูนย์หรือใกล้เคียงศูนย์ในอนาคต (Transition Finance) โดยกิจการสามารถนำ Taxonomy มาใช้ประกอบในการจัดทำแผนการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้ โดย ก.ล.ต. มีโครงการริเริ่มในการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการเรื่อง Transition & Taxonomy บนเว็ปไซต์ เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับ Transition

2) การออกเสนอขายตราสารหนี้กลุ่มความยั่งยืน (ESG Bond) บริษัทผู้ออกสามารถนำ Taxonomy มาใช้อ้างอิงในการคัดเลือกโครงการที่จะลงทุนได้ เพื่อเสริมสร้างความน่าเชื่อถือของตราสาร ซึ่ง ก.ล.ต. ดำเนินโครงการส่งเสริมการออกตราสารดังกล่าวโดยเน้นการสร้างขีดความสามารถให้กับธุรกิจที่มีศักยภาพในอุตสาหกรรมต่าง ๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น