วานนี้ (16 กุมภาพันธ์ 2567) การจัดทำ Thailand Taxonomy หรือมาตรฐานกลางที่ใช้อ้างอิงในการจำแนกและจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของไทย ซึ่งจะเป็นกติกาด้านการเงินและภาษี เพื่อเปลี่ยนผ่านภาคธุรกิจสู่สังคมคาร์บอนต่ำ มีความคืบหน้าอีกขั้นแล้ว
คณะทำงานขับเคลื่อนการกำหนดนิยามและจัดหมวดหมู่โครงการหรือกิจกรรมในภาคเศรษฐกิจที่ยั่งยืน (คณะทำงานฯ) ภายใต้ความร่วมมือระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนรวม 26 หน่วยงาน* ได้จัดการประชุมคณะทำงานฯ ครั้งที่ 1/2567 ณ โรงแรมพูลแมน คิงพาวเวอร์ รางน้ำ กรุงเทพฯ เพื่อร่วมขับเคลื่อนการจัดทำมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Thailand Taxonomy) ระยะที่ 2
การจัดทำ Thailand Taxonomy มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้ภาคธุรกิจและภาครัฐมีมาตรฐานเดียวกันที่สามารถเป็นแนวทางอ้างอิงในการจำแนกกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องกับสากลและเหมาะสมกับบริบทของไทย อีกทั้งสามารถใช้เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมการจัดสรรเงินทุน การบริหารจัดการความเสี่ยงและการลงทุนของภาคเอกชน รวมถึงการกำหนดนโยบายและมาตรการสนับสนุนของภาครัฐ เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
โดยการจัดทำ Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 มุ่งเน้นวัตถุประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อมเฉพาะมิติด้านการลดก๊าซเรือนกระจก (Climate change mitigation) ในภาคพลังงานและภาคการขนส่งที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดก่อน และได้เผยแพร่ต่อสาธารณชนเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2566
สำหรับการจัดทำ Thailand Taxonomy ระยะที่ 2 นี้ เป็นการขยายขอบเขตเพิ่มเติมให้ครอบคลุมภาคเศรษฐกิจอื่นที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงและมีกระบวนการที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในมิติอื่น ๆ ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรมการผลิต ภาคการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ ภาคการจัดการของเสีย และภาคการเกษตร ซึ่งเป็นการดำเนินการร่วมกันระหว่างคณะทำงานฯ และที่ปรึกษาจาก Climate Bonds Initiative (CBI) DNV และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) โดยได้รับการสนับสนุนจากบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (International Finance Corporation: IFC) ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย
ทั้งนี้ ในการจัดทำ Thailand Taxonomy ระยะที่ 2 คณะทำงานฯ จะมีการหารือและเปิดรับฟังความเห็นจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม นักวิชาการ ภาคการเงิน และองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะ นอกจากนี้ จะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง Thailand Taxonomy ระยะที่ 2 จากสาธารณชนประมาณช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2567
*หน่วยงานภาครัฐและเอกชน 26 หน่วยงาน ได้แก่
1. องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)
2. กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน
3. สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน
4. สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
5. กรมโรงงานอุตสาหกรรม
6. การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
7. สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
8. กรมวิชาการเกษตร
9. กรมการข้าว
10. กรมป่าไม้
11. กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
12. กรมปศุสัตว์
13. กรมประมง
14. กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
15. กรมโยธาธิการและผังเมือง
16. กรมควบคุมมลพิษ
17. กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
18. สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
19. กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมฯ
20. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
21. สมาคมบริษัทจัดการพลังงานไทย
22. สมาคมอาคารชุดไทย
23. สภาวิศวกร
24. สมาคมธนาคารไทย
25. สมาคมธนาคารนานาชาติ
26. สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ
Taxonomy เป็นชุดกิจกรรมอ้างอิง ไม่ใช่กฎหมาย ให้สมัครใจทำ
จากงานแถลงข่าวเมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2566 ทางแบงก์ชาติและกลต. ประกาศความร่วมมือกับองค์กรพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนเรื่อง Taxonomy ระยะที่ 1 โดยอธิบายว่าเป็นมาตรฐานกลางของชุดกิจกรรมในการอ้างอิงเพื่อทำความเข้าใจแต่ละประเภทธุรกิจว่ามีความพร้อมในการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำมากน้อยแค่ไหน เป็นการขอความร่วมมือโดยสมัครใจสำหรับองค์กรที่ต้องการสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้กับหน่วยธุรกิจของตัวเอง โดยเริ่มต้นจากอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้มข้นอย่างภาคการขนส่งและพลังงานก่อน
เรื่องนี้ ประชาชนบางส่วนเคยคิดว่าเป็นเรื่องของการเก็บภาษีเพิ่มเติมสำหรับกิจการที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้มข้น บางส่วนก็คิดว่าเป็นกฏหมายฉบับใหม่ที่มีผลบังคับใช้ ให้อำนาจแบงก์ชาติสั่งการธนาคารพาณิชย์ในการปล่อยกู้ให้กับภาคเอกชนในอัตราดอกเบี้ยที่แตกต่างกันออกไปตามความเป็นมิตรต่อสิงแวดล้อมของธุรกิจ
สรุปว่า Thailand Taxonomy คือ มาตรฐานกลางที่ใช้อ้างอิงในการจำแนกและจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของไทย
-ใช้หลักการที่อ้างอิงหลักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม และยึดมั่นเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050) ไม่ให้อุณหภูมิโลกให้สูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสตามที่สมาชิกภายใต้ความตกลงปารีส (Paris Agreement) ตกลงร่วมกัน
-แบ่งการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมของกิจกรรมต่าง ๆ ออกเป็น 3 ระดับ (ระบบ Traffic-Light System) ได้แก่ สีเขียว สีเหลือง และสีแดง และต้องเป็นกิจกรรมที่ไม่สร้างผลกระทบเชิงลบอย่างมีนัยสำคัญ (Do No Significant Harm) ต่อการให้บรรลุวัตถุประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ และคำนึงถึงผลกระทบด้านสังคมไปพร้อมกัน (Minimum Social Safeguards)
-เป็นมาตรฐานกลางสำหรับภาคส่วนต่าง ๆ ใช้อ้างอิง โดยการนำ Thailand Taxonomy ไปใช้ยังเป็นไปตามความสมัครใจ
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Thailand Taxonomy
👉https://www.bot.or.th/th/financial-innovation/sustainable-finance/green/Thailand-Taxonomy.html
👉กติกาหนุนรักษ์โลกไปอีกขััน จัดเกรดธุรกิจสกัด
“ฟอกเขียว” / ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9660000013450
.