ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้าน STEM (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์) เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก ในประเทศไทยความต้องการบุคลากรด้านนี้มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยนโยบายของภาครัฐที่มุ่งส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนเทคโนโลยีและการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล และต้องการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางชีวภาพของอาเซียน โดยให้สิทธิประโยชน์ต่อผู้ลงทุนด้านชีวภาพในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor – EEC)
แม้ผลการศึกษาโดยองค์กรเศรษฐกิจโลก (WEF) จะชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของสาขา STEM ว่าเป็นสาขาสำคัญสำหรับการพัฒนาชาติ แต่ผลการศึกษาล่าสุดโดย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) พบว่าจำนวนนักศึกษาใหม่ด้าน STEM ในประเทศไทยลดลง จาก 115,000 คน ในปี 2017 เหลือเพียง 100,000 คน ในปี 2021 โดยสาขาที่มีจำนวนนักเรียนลดลงมากที่สุด ได้แก่ สาขาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สาขาวิทยาศาสตร์เกษตรและวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ในขณะที่ประเทศไทยมีบุคลากรด้าน STEM จำนวน 1.4 ล้านคน กว่า 400,000 คนไม่ได้จบการศึกษาด้าน STEM และ 3.3 ล้านคนที่สำเร็จการศึกษาด้าน STEM กลับทำงานในสายงานที่ไม่ใช่ STEM แม้ว่าค่าตอบแทนในสายงาน STEM จะสูงกว่าก็ตามปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากความไม่สอดคล้องกันระหว่างหลักสูตรการศึกษาและความต้องการของตลาดแรงงาน
นอกเหนือจากความท้าทายทางด้านการศึกษา รายงานจากบริษัท 3M State of Science Index (SOSI) ประจำปี 2023 ซึ่งสำรวจใน 17 ประเทศ รวมถึงประเทศไทย ได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของความเท่าเทียมทางเพศในการแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้าน STEM ของประเทศไทย คนไทยส่วนใหญ่เชื่อว่าบุคลากรด้าน STEM มีความสำคัญต่อการแก้ปัญหาในอนาคต อย่างไรก็ตาม ความเท่าเทียม โดยเฉพาะสำหรับผู้หญิง ในสายงานเหล่านี้ยังคงเป็นปัญหาอยู่ในระดับโลก ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้าน STEM ก็เป็นปัญหาที่ต้องการการแก้ไขอย่างเร่งด่วนเช่นกัน
รายงานจาก องค์การเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ประมาณการว่า จะเกิดการขาดแคลนแรงงานที่มีความชำนาญสูงกว่า 85 ล้านคนทั่วโลก โดยเฉพาะในสาขาที่เกี่ยวข้องกับ STEM ภายในปี 2025 ในส่วนความหลากหลาย ประเทศอย่างสหราชอาณาจักรเองก็ยังมี ผู้หญิงเพียงเพียง 29% เท่านั้นที่ทำงานในสายงานด้าน STEM ปัญหาการขาดแคลนนี้เกิดจากหลายปัจจัย เช่น ความไม่สนใจและการลงทะเบียนของนักเรียน ความท้าทายในระบบการศึกษา และความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในเทคโนโลยีที่ต้องการทักษะและความเชี่ยวชาญใหม่ๆ
Premnath Mandalapu ผู้จัดการทั่วไป ภูมิภาคอาเซียน บริษัท Cytiva บริษัทชั้นนำในวงการ Life Science และมีวิสัยทัศน์ในการสนับสนุนผู้หญิงให้มีบทบาในวงการ STEM และสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ กล่าวว่า ทั่วโลกและประเทศไทยมีการดำเนินนโยบายและแนวทางต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้าน STEM โดยในประเทศไทย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้ออกคำแนะนำเชิงนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาทางการศึกษาที่ครอบคลุมทั้งระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา ความพยายามเหล่านี้ยังรวมถึงการปรับปรุงหลักสูตร โครงการฝึกอบรมครู และการเสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างมหาวิทยาลัยกับอุตสาหกรรม ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยและช่วยให้ประเทศบรรลุสถานะรายได้สูง
นอกจากนี้ เรายังเห็นความพยายามในการส่งเสริมความหลากหลายและการมีส่วนร่วมในสาขา STEM โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมของกลุ่มที่ถูกมองข้าม เช่น ผู้หญิงและชนกลุ่มน้อย การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาและพันธมิตรในอุตสาหกรรมจะช่วยปรับหลักสูตรให้ทันสมัย เข้ากับความต้องการของตลาด และช่วยให้นักเรียนได้รับประสบการณ์ในเชิงปฏิบัติและจำลองการทำงานในสภาพแวดล้อมจริง ในอุตสาหกรรมชีวเภสัชภัณฑ์ (Biopharma) บริษัทชั้นนำ อาทิ ไฟเซอร์ (Pfizer), จอห์นสัน & จอห์นสัน (Johnson & Johnson), และ โนวาร์ตีส(Novartis) ได้แสดงความมุ่งมั่นต่อการสนับสนุนการศึกษาด้าน STEM ความหลากหลาย และการมีส่วนร่วมด้วยโครงการทุนการศึกษา โอกาสฝึกงานและโครงการแนะแนว ผ่านความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาต่างๆ
บริษัท Cytiva มีความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนความหลากหลาย และพร้อมที่จะส่งเสริมให้นักเรียนด้าน STEM ให้มาร่วมงานกับเราเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า เราพยายามสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานที่สนับสนุนและเอื้ออำนวยให้กับวิศวกรผู้หญิงในสายงานนี้ ที่ผ่านมา Cytiva ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนวันสตรีวิศวกรรมนานาชาติ (International Women in Engineering Day) เพื่อแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของเราในการสนับสนุนผู้หญิงในสายงานวิศวกรรม
“เราจัดกิจกรรมหลากหลายโครงการที่ให้วิศวกรผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมเป็นประจำทุกปี เช่น เว็บแคสต์ แคมเปญบนสื่อโซเชียลมีเดีย และบทความบล็อกโดยกิจกรรมเหล่านี้เป็นแพลตฟอร์มที่ให้โอกาสวิศวกรผู้หญิงให้ได้ส่งเสียงของตนเอง เชื่อมต่อกับเพื่อนร่วมวิชาชีพคนอื่นๆ และแบ่งปันเรื่องราวที่เป็นแรงบันดาลใจ”
“เป้าหมายของเราคือการกระตุ้นและสนับสนุนผู้หญิงให้เข้ามาทำงานในสาย STEM มากขึ้น เพื่อสร้างอนาคตที่ผู้หญิงมีโอกาสประสบความสำเร็จในบทบาทเหล่านี้ได้มากขึ้น ด้วยโครงการต่างๆ เหล่านี้ Cytiva มุ่งมั่นที่จะสนับสนุนความหลากหลายในอุตสาหกรรมนี้ และสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ให้ทุกคนสามารถประสบความสำเร็จได้ไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ตาม”
การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากรในสายงาน STEM นั้นจำเป็นเป็นอย่างยิ่งด้วยเหตุผลหลายประการ อันดับแรก บุคลากรด้าน STEM เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนนวัตกรรม การวิจัยและพัฒนา ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและคงความสามารถในการแข่งขัน ในขณะที่ตลาดโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ถ้าองค์กรใด มีบุคลากร STEM ที่เข้มแข็ง องค์กรนั้นก็จะสามารถเป็นผู้นำในด้านเทคโนโลยีและผลักดันความก้าวหน้าในอุตสาหกรรมของตนเองได้
ประการที่สอง การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากรในสายงาน STEM จะช่วยสร้างอาชีพและโอกาสทางเศรษฐกิจได้ความต้องการของบุคลากรในสายงานนี้มีมากขึ้นเรื่อยๆ ในอุตสาหกรรมต่างๆ ดังนั้น องค์กรควรจ้างงานผู้มีความรู้ความสามารถในสายงานนี้ นอกเหนือจากประโยชน์ที่องค์กรจะได้รับจากผู้ที่มีความรู้ในสายงานนี้แล้ว จะยังช่วยส่งเสริมความแข็งแกร่งให้เศรษฐกิจโดยรวมอีกด้วย
ในอุตสาหกรรมด้านชีวเภสัชภัณฑ์ (Biopharma) การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มีคุณภาพและส่งเสริมความหลากหลายเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะอุตสาหกรรมนี้ต้องพึ่งพาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะทาง และต้องการความหลากหลายเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไปข้างหน้าด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ ให้ทันกับความต้องการที่ปรับเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วตามความก้าวหน้าทางการแพทย์
จากรายงานดัชนีความยืดหยุ่นที่บริษัท Cytiva ได้จัดทำขึ้น สะท้อนให้เห็นความยืดหยุ่นของอุตสาหกรรมชีวเภสัชภัณฑ์ใน 5 ด้าน ได้แก่ ห่วงโซ่อุปทาน บุคลากร การวิจัยและพัฒนา ความยืดหยุ่นในการผลิต และกฎหมาย ข้อกำหนด และนโยบายจากภาครัฐ จากผลการสำรวจพบว่า ด้านบุคลากรเป็นหนึ่งในด้านที่มีความยืดหยุ่น หรือ resilience ต่ำที่สุดเหตุผลเป็นเพราะการสรรหาพนักงานและรักษาพนักงานให้อยู่กับองค์กรนานๆ นั้นเป็นเรื่องท้าทาย อีกทั้งยังไม่มีการอบรมเพื่อพัฒนาทักษะที่มากเพียงพอ และติดข้อกฎหมายด้านการจ้างงานบางประการ
ดัชนีภาพรวมของโลกในด้านบุคลากรลดลงจาก 6.27 ในปี 2021 เหลือ 5.60 ในปี 2023 และของประเทศไทยเอง ก็ลดลงจาก 5.90 เหลือเพียง 4.60 เท่านั้น ดังนั้น การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากรและส่งเสริมความหลากหลายในสภาพแวดล้อมการทำงานของวงการ STEM จะช่วยให้องค์กรมีความยืดหยุ่นและอยู่รอด รวมถึงสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ และส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ และความร่วมมือกันในภาคอุตสาหกรรมของตนเองด้วย
ศุภาวรรณ วงศ์เชวงทรัพย์ Field Service Engineer บริษัท Cytiva กล่าวเนื่องในโอกาส International Women in Engineering Day ซึ่งตรงกับวันที่ 23 มิถุนายนของทุกปีว่า จุดเริ่มต้นของความสนใจในงานวงการ STEM ตั้งแต่เด็ก เป็นคนที่ชอบแกะของเล่นแยกออกจากกันเพื่อเอามาประกอบใหม่และทุกครั้งที่สามารถต่อสิ่งของกลับเป็นสภาพเดิมได้ก็จะรู้สึกภูมิใจมากๆ ความรู้สึกนี้ยังคงต่อเนื่องมาจนถึงการทำงานเพราะต้องทำงานกับเครื่องจักรขนาดใหญ่ วันหนึ่งในขณะที่กำลังทำงานอยู่ เครื่องจักรเกิดเสียขึ้นมาทำให้ระบบการผลิตต้องหยุดชะงักลง ตอนนั้นก็คิดในใจว่าเราอยากเป็นคนที่ซ่อมเครื่องจักรนี้ได้จัง จึงเริ่มสนใจในงานสายนี้ และตั้งใจเอาไว้ว่าจะเรียนรู้และเก็บเกี่ยวประสบการณ์และทักษะที่จำเป็นให้ได้มากที่สุด
อีกหนึ่งแรงบันดาลใจในการทำงานสายนี้คือหัวหน้างานในปัจจุบัน ซึ่งเป็นวิศวกรที่เก่งและมีความรู้มาก ก่อนหน้านี้เราเคยร่วมงานกันตอนที่เขาเป็นวิศวกรฝ่ายเทคนิคจากฝั่งของซัพพลายเออร์ (supplier) ประทับใจในความสามารถของเขาที่สามารถแก้ปัญหายากๆ ได้อย่างรวดเร็ว มั่นใจ และสร้างสรรค์ การที่สามารถซ่อมแซมอุปกรณ์ต่างๆ ได้และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้กระบวนการผลิตมีความต่อเนื่องจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานในสายนี้
ประสบการณ์และความท้าทายในการทำงานวงการ STEM โดยส่วนตัวมองว่าสิ่งที่ท้าทายในการทำงานสายนี้มากที่สุด ไม่ใช่เรื่องของเพศ แต่เป็นเรื่องของการทำงานในพื้นที่ปลอดเชื้อมากกว่า เพราะต้องใส่ชุดป้องกันตามมาตรฐานหลายชั้น อาจจะรู้สึกอึดอัดหรือไม่สบายตัวในขณะทำงาน และเวลาจะออกไปข้างนอกหรือไปเข้าห้องน้ำ ใช้เวลาในการเปลี่ยนชุดนานเป็นพิเศษ
แต่เรื่องการแบ่งแยกเพศในงานวงการ STEM ก็เคยเจอมาอยู่บ้าง เคยได้ยินหลายๆ คนพูดว่างานสายนี้เหมาะกับผู้ชายมากกว่า ตอนแรกๆ ที่ได้ยินอย่างนั้นก็รู้สึกกังวลอยู่พอสมควร แต่ก็นำความกังวลนั้นมาเป็นแรงผลักดันในการพัฒนาตัวเอง เพื่อพิสูจน์ว่าจริงๆ แล้วผู้หญิงก็สามารถทำงานในสายงานวิศวกรรมได้ ปัจจุบันงานที่ทำอยู่ เราก็ทำงานร่วมกันเป็นทีม
"งานสายวิศวกรรมไม่ใช่ว่าจะใช้แค่ความแข็งแกร่งทางร่างกายเพียงอย่างเดียว แต่ต้องอาศัยความรู้ความสามารถเฉพาะทางด้วย ตั้งแต่ทำงานในสายงานนี้มา ดิฉันรู้สึกภูมิใจกับทุกๆ โปรเจคที่ได้ทำ แต่ถ้าให้พูดถึงผลงานเด่นๆ คงเป็นตอนที่ได้ทำงานในโครงการการบำรุงรักษาเชิงป้องกันให้กับบริษัทยาแห่งหนึ่ง ซึ่งดิฉันเป็นคนเตรียมการทุกอย่างตั้งแต่ต้นจนจบเพื่อให้การผลิตเป็นไปอย่างราบรื่นและแล้วเสร็จตามกำหนด โปรเจคนั้นลูกค้าพอใจมากๆ เพราะช่วยให้ลูกค้าสามารถวางแผนการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพได้ ดังนั้น จากงานที่เคยได้ทำมาพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ผู้หญิงและผู้ชายสามารถทำงานได้เหมือนๆ กันในสายวิศวกรรม"
สิ่งสำคัญสำหรับงานสายนี้ คือความหลากหลายของเทคโนโลยีและความสามารถให้การแก้ปัญหา การที่ได้ทำงานที่ท้าทายและทำงานร่วมกับทีมที่หลากหลาย ทำให้เชื่อว่าใครๆ ก็สามารถทำงานในสายงานนี้ได้ ถ้ามีทักษะและประสบการณ์สภาพแวดล้อมและสังคมการทำงานที่ Cytiva วัฒนธรรมการทำงานของที่นี่ซัพพอร์ตดีมากส่งเสริมความหลากหลายและมีนโยบายที่ช่วยให้พนักงานผู้หญิงได้รับโอกาสการทำงานที่เท่าเทียม มีโอกาสเติบโตและพัฒนาเหมือนๆ กัน
ทุกๆ คนที่ทำงานที่นี่รู้สึกได้รับความเคารพและเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร ที่นี่ช่วงวันเฉลิมฉลองวันแห่งวิศวกรหญิงนานาชาติ (International Women in Engineering Day) เป็นประสบการณ์ที่ดีมากเพราะบริษัทมีโครงการสนับสนุนพนักงานผู้หญิงที่ทำงานในสายวิศวกรรมอย่างต่อเนื่องและหลากหลาย รวมถึงมีการประชาสัมพันธ์หรือจัดทำแคมเปญสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียอีกด้วย
“ด้วยนโยบายต่างๆ เหล่านี้ทำให้รู้สึกมั่นใจและภูมิใจในงานที่ทำอยู่ เพราะรู้สึกว่าที่นี่ให้ความสำคัญของความหลากหลายและการไม่แบ่งแยกเพศในสายงานนี้ ขอให้กำลังใจผู้หญิงที่สนใจจะทำงานในสายงาน STEM ให้มั่นใจว่าเราทำได้ และไม่ควรมีอะไรมาหยุดยั้งความฝันของเรา อย่าเพิ่งยอมแพ้ถ้ายังไม่ได้ลอง อะไรๆ ก็เป็นไปได้ ถ้าเรามีความมุ่งมั่นและความพยายามมากพอ”