สหรัฐฯ และบรรดาพันธมิตรยุโรปออกมาแถลงจุดยืนชัดเจนว่าไม่มีแผนส่งทหารราบเข้าไปช่วยยูเครน หลังผู้นำฝรั่งเศสออกมาแย้มถึงความเป็นไปได้ในการส่งทหารตะวันตกช่วยเคียฟทำศึกรัสเซีย ขณะที่ทำเนียบเครมลินส่งเสียงเตือนทันควันว่าการกระทำดังกล่าวจะทำให้องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) กลายเป็นคู่สงครามกับรัสเซียโดยตรง
ความเคลื่อนไหวของผู้นำฝรั่งเศสมีขึ้นในขณะที่ “ท่อน้ำเลี้ยง” ซึ่งตะวันตกมอบให้ยูเครนตลอด 2 ปีที่ผ่านมาเริ่มจะขาดช่วง ส่งผลให้กองทัพรัสเซียกลายเป็นฝ่ายรุกคืบชิงดินแดนในภาคตะวันออกยูเครนได้มากขึ้นเรื่อยๆ ท่ามกลางภาวะสงครามที่ยืดเยื้อเข้าสู่ปีที่ 3
ประธานาธิบดี เอมมานูเอล มาครง กล่าวภายหลังการประชุมผู้นำยุโรปที่กรุงปารีสเมื่อวันจันทร์ (26 ก.พ.) ว่า พันธมิตรตะวันตกไม่ควรที่จะตัดทางเลือกใดๆ ในการหยิบยื่นความพ่ายแพ้ให้รัสเซีย แต่ก็ย้ำว่าเรื่องนี้ “ยังไม่มีข้อสรุปที่เป็นเอกฉันท์”
อย่างไรก็ดี แนวคิดของ มาครง ถูกชาติพันธมิตรอย่างอังกฤษ เยอรมนี สเปน อิตาลี โปแลนด์ และสาธารณรัฐเช็กออกมาปฏิเสธทันควัน
“จะไม่มีการส่งทหารราบ และไม่มีทหารจากยุโรปหรือนาโตเข้าไปบนแผ่นดินยูเครนอย่างแน่นอน” นายกรัฐมนตรี โอลาฟ ชอลซ์ แห่งเยอรมนี แถลงเมื่อวันอังคาร (27)
ด้าน บอริส พิสโตริอุส รัฐมนตรีกลาโหมเมืองเบียร์ ก็ออกมาประกาศรับลูกขึงขังไม่แพ้กัน
“การส่งทหารราบเข้าไปในสมรภูมิไม่ใช่ตัวเลือกสำหรับเยอรมนี” เขาบอกกับสื่อมวลชนที่กรุงเวียนนาของออสเตรีย
ต่อมาทำเนียบขาวได้ออกมายืนยันเช่นกันว่า ไม่มีแผนส่งทหารอเมริกันเข้าไปปฏิบัติภารกิจในสงครามยูเครน ทว่ายังคงเรียกร้องให้สภาคองเกรสอนุมัติแพกเกจช่วยเหลือเคียฟรอบใหม่ เพื่อให้มั่นใจว่ากองทัพยูเครนจะมีอาวุธและเครื่องกระสุนที่จำเป็นสำหรับการทำสงครามขับไล่รัสเซีย
นักวิคราะห์มองว่า มาครง อาจมีเจตนาสร้าง “ความกำกวมในทางยุทธศาสตร์” ด้วยการหยิบยกเรื่องการส่งทหารตะวันตกเข้ายูเครนขึ้นมาพูดอย่างโจ่งแจ้ง ทว่าคำพูดของ มาครง นั้นออกจะกำกวมเกินไปจนสร้างความสับสนและความไม่สบายใจแก่พันธมิตรนาโต
สเตฟาน เซฌูร์น รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส ออกมาอธิบายเพิ่มเติมในวันอังคาร (27) ว่า สิ่งที่ มาครง คิดนั้นเป็นแค่การส่งทหารตะวันตกเข้าไปปฏิบัติ “ภารกิจพิเศษ” บางอย่างในยูเครน เช่น ช่วยทำลายกับระเบิด ช่วยผลิตอาวุธ หรือสนับสนุนการป้องกันทางไซเบอร์ เป็นต้น
“ภารกิจเหล่านี้อาจจำเป็นต้องมีการส่งทหารเข้าไปในดินแดนยูเครน ทว่าไม่ถึงขั้นมีส่วนร่วมในการสู้รบ” เซฌูร์น ชี้แจงต่อสมาชิกรัฐสภาฝรั่งเศส
ด้านนายกฯ เยอรมนีเผยว่า ผลการประชุมเมื่อวันจันทร์ (26) พบว่าผู้นำยุโรปค่อนข้างจะเห็นด้วยกับแผนจัดซื้ออาวุธจากนอกภูมิภาค เพื่อให้ยูเครนได้รับความช่วยเหลือเร็วยิ่งขึ้น
แม้เยอรมนีจะถือเป็นชาติผู้สนับสนุนอาวุธรายใหญ่อันดับ 2 ให้ยูเครนหลังจากที่รัสเซียเปิดฉากรุกรานเมื่อวันที่ 24 ก.พ. ปี 2022 แต่ก็ระมัดระวังไม่ผลีผลามใช้มาตรการใดๆ ที่อาจเป็นการดึงนาโตเข้าสู่ความขัดแย้งโดยตรงกับแดนหมีขาว
หลังจากที่ได้ทราบคำพูดของผู้นำฝรั่งเศส ทำเนียบเครมลินก็ออกมาย้ำเตือนทันทีให้นาโตตระหนักถึงความเสี่ยงที่จะตามมา
“การเอ่ยถึงความเป็นไปได้ที่จะส่งกองกำลังจากรัฐนาโตเข้าไปในยูเครน ถือเป็นองค์ประกอบใหม่ที่มีนัยสำคัญอย่างมาก” ดมิตรี เปสคอฟ โฆษกรัฐบาลรัสเซีย ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน และเมื่อถูกตั้งคำถามถึงผลกระทบต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นหากรัฐนาโตส่งทหารเข้าไปร่วมสู้รบในยูเครน เปสคอฟ ก็ตอบว่า “ถ้าเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นขึ้นจริง เราก็ไม่เพียงจำเป็นต้องพูดถึงความเป็นไปได้ แต่รวมถึง (ความขัดแย้งโดยตรง) ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงด้วย”
รัสเซียและสหรัฐฯ ซึ่งเป็นมหาอำนาจรายใหญ่ที่สุดที่ค้ำจุนนาโต ต่างก็มีคลังอาวุธนิวเคลียร์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และด้วยเหตุนี้ประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ จึงเคยเตือนว่า ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและนาโตอาจเป็นชนวนไปสู่ “สงครามโลกครั้งที่ 3”
แนวคิดในการส่งทหารเยอรมนีเข้ายูเครนซึ่งเป็นอดีตรัฐในสหภาพโซเวียตยังถือเป็นเรื่อง “เซนซิทีฟ” ไม่น้อย เนื่องจากมอสโกถือว่าสงครามต่อต้านกองทัพนาซีของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์และเกียรติภูมิของชาติ อีกทั้งประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ก็พยายามสร้างความชอบธรรมในการบุกยูเครน โดยอ้างว่าต้องการโค่นรัฐบาลเคียฟที่เป็นพวก “นาซีใหม่” ซึ่งยูเครนและตะวันตกชี้ว่าเป็นข้ออ้างที่ไร้สาระ
แม้วิสัยทัศน์ของผู้นำฝรั่งเศสจะถูกพันธมิตรนาโตออกมาเบรกทันควัน ทว่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงของยูเครนกลับมีท่าทีพอใจที่ มาครง ไม่ปฏิเสธความเป็นไปได้ในการส่งทหารช่วยยูเครน
“ประการแรกเลย มันชี้ให้เห็นว่ายุโรปเองก็ตระหนักถึงภัยคุกคามที่เกิดจากการใช้อิทธิพลทางทหารอย่างก้าวร้าวของรัสเซีย” มีไคโล โปโดลยัก ที่ปรึกษาของประธานาธิบดี โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ระบุในคำแถลง
เจ้าหน้าที่ตะวันตกคนหนึ่งให้ความเห็นว่า คำพูดของ มาครง สร้างความสับสนงุนงงต่อสมาชิกนาโตหลายประเทศ และอาจก่อความยุ่งยากให้สหรัฐฯ ซึ่งกำลังพยายามบีบให้สภาคองเกรสยอมผ่านงบประมาณช่วยเคียฟล็อตใหม่อีก 60,000 ล้านดอลลาร์ เนื่องจากไปกระพือความกังวลว่าสงครามจะถูกยกระดับ
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวด้านการทูตฝรั่งเศสชี้ว่า หากตะวันตกยังไม่เปลี่ยนวิธีคิดใหม่ และยืนกรานที่จะส่งแค่อาวุธหรือประกาศสนับสนุนยูเครนต่อไปเรื่อยๆ “เท่ากับเรากำลังทำให้ประธานาธิบดี ปูติน คิดว่าพวกเราอ่อนแอ”
เจ้าหน้าที่บางคนโดยเฉพาะในโซนยุโรปตะวันออกมองว่า คำพูดของ มาครง ซึ่งทำให้ ปูติน คำนวณขีดจำกัดของตะวันตกได้ยากขึ้นถือเป็นเรื่องที่ดี
“ในเวลาเช่นนี้ เราต้องการผู้นำทางการเมืองที่มีความมุ่งมั่นและกล้าหาญพอที่จะคิดนอกกรอบ ความคิดริเริ่มในการประชุมที่ปารีสถือเป็นสิ่งที่น่าพิจารณา” กาเบรียเลียส ลันด์สเบอร์กิส รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศลิทัวเนีย ให้ความเห็น